xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 13) ธุรกิจ“ผูกขาดค้าข้าว” เพื่อประโยชน์ใคร / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรงสีข้าวไทยในอดีต(ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงแรก ธุรกิจข้าวซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย ได้ถูกควบคุมอยู่ในมือชาวจีน รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้จัดตั้งบริษัทข้าวไทย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นผู้จดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุน 500,000 บาท

โดยในระยะแรกใช้ชื่อบริษัทข้าวสยาม แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท ข้าวไทย จำกัด” ถือหุ้นโดยรัฐบาลในนามกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการบริหารชุดแรกเป็นคนในคณะราษฎรเอง ได้แก่

1.พระยาดุลยธรรมธาดา (เลียง ดุลย์จินดา)
2.พระกิสการบัญชา (เล็ก บุรวาศ)
3.พระยาวิสุทธากร (แม้น ทรานนท์)
4.หลวงอัมพิลพิทักษเขตร์ (เยี่ยม บุรานนท์)
5.พ.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)
6.นายวณิช ปานะนนท์
7.นายอนุกูลกสิการ (เปลื้อง บุณยทรรศนีย์)
8.นายขวัญ จารุรัตน์
9.พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)
10.พระประมนต์ปัญญา (ประมนต์ เนตรศิริ)[1],[2]

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งที่สำคัญมี 4 ประการคือ

“1.ผดุงฐานะของชาวนาให้ดีขึ้น
2.ระวังรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคข้าว
3.เพื่อทำการค้าข้าวโดยตรงกับตลาดต่างประเทศ และเพื่อรักษาชื่อเสียงและควบคุมคุณภาพข้าวไทยไว้
4.ฝึกคนไทยให้มีความรู้ความสามารถในงานอุตสาหกรรมสีข้าวและการค้าข้าว” [1],[3]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยการสัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย) เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายประการความบางตอนดังนี้

รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ได้แถลงถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยไว้ว่า
“1.เนื่องจากบริษัทค้าข้าวในยุคนั้น ล้วนเป็นของชาวต่างด้าว อาทิเช่น ของชาวอังกฤษ จีน และอินเดีย ในการส่งข้าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ บริษัทเหล่านี้ได้ทำการปลอมแปลงข้าว ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นอันมาก[4],[5] ฉะนั้นบริษัทข้าวไทยจึงมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับตลาดฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย ให้เป็นตลาดข้าวที่สำคัญของไทย[4]
2.พ่อค้าข้าวกดราคารับซื้อข้าวของชาวนาไว้ในระดับที่ต่ำมาก จนเป็นเหตุให้ชาวนาเกิดความเดือดร้อนอยู่ทั่วไป ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตกเพียงเกวียนละ 18-20 บาทเท่านั้น (1 เกวียน = 1 ตัน) ในขณะที่ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 36-40 บาท[4],[6]
เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์เบื้องแรกอันหนึ่งของบริษัทข้าวไทยก็คือ จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกของชาวนา ให้เหมาะสมกับราคาที่จำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ [4],[7] และ

3.ช่วยฝึกฝนให้คนไทยมีความรู้ในเรื่องการซื้อขายข้าวเปลือก การโรงสี และค้าข้าว”[4]

เพื่อให้สามารถกิจการของบริษัทข้าวไทยเข้าควบคุมการค้าข้าวไว้ในมือได้ รัฐบาลเริ่มแรกด้วยการใช้มาตรการทางการเมืองและภาษีบีบให้โรงสีของพ่อค้าชาวจีนพากันหยุดกิจการ[8],[9] เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทข้าวไทยโดยตรง


ดังนั้นเจ้าของโรงสีจึงอยู่ในสภาพจึงต้องเอาโรงสีมาให้บริษัทข้าวไทยเช่าไปดำเนินการแทน[8],[10]

ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีของการดำเนินงาน บริษัทข้าวไทยก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงสีเกือบ 50 โรง ทว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทข้าวไทยนั้น เป็นการเติบโตที่ผิดลักษณะธรรมชาติทางการค้า

กล่าวคือ การที่บริษัทข้าวไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการค้าของตนได้นั้น มิได้เกิดจากสถานะที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจของบริษัทฯอย่างแท้จริง หากเกิดจากการใช้อิทธิพลทางการเมืองของบริษัทมากกว่า [11]

โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยจำนวนมากเป็นข้าราชการที่กำลังทรงอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น เพราะนอกจากจะมีสถานะเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็ยังมีฐานะเป็นรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วย โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยที่เป็น “รัฐมนตรี” ในระหว่าง พ.ศ. 2485-2490 ได้แก่ นายควง อภัยวงศ์, นายทวี บุณยเกตุ, พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, นายวณิช ปานะนนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น [11]

สำหรับช่วงเวลา “รัฐมนตรี” แล “นายกรัฐมนตรี” เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทข้าวไทยระหว่างปี พ.ศ.2485-2490 มีสถานภาพทางการเมืองที่ช่วยเอื้ออำนวยทำให้เกิดความได้เปรียบของบริษัทข้าวไทยเหนือเอกชน และนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด รวมถึงบางคนที่เริ่มต้นจากการเป็นกรรมการบริษัท ข้าวไทย จำกัดก่อน แล้วจึงได้มากเป็นรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ได้แก่

นายควง อภัยวงศ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485-8 กันยายน พ.ศ.2485, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ 2486, เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487-31 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี บุณยเกตุ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486, เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488, และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489
พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2485- 8 กันยายน พ.ศ. 2485 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
นายวณิช ปานะนนท์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีคลัง ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี ตะเวทิกุล เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489

นายดิเรก ชัยนาม เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489 [11]-[13]

นอกจากนั้นรัฐบาลก็ได้จ้าง นายมา บูลกุล พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการค้าข้าวเป็นอย่างดีและยังเป็นผู้ที่กว้างขวางในวงการค้าข้าวทั้งในและนอกประเทศมาเป็น “ผู้จัดการ” ของบริษัทฯ

ฉะนั้นภายใต้การบริหารงานของพ่อค้าที่มีความสามารถสูงและมีรัฐเป็นเกราะคุ้มครองให้และเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆโดยนโยบายของภาครัฐ ผลจึงปรากฏว่าในชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น กิจการบริษัทข้าวไทยก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอย่างเห็นได้ชัด [11]

บริษัท ข้าวไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรจากการดำเนินการงานอยู่ในขั้นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [11],[14] และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [11],[15]

อย่างไรก็ตามการจำหน่ายหุ้นของบริษัทข้าวไทยให้แก่เอกชนทั่วไปในคราวนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่า ได้ถูกทหาร[11],[16] และบุคคลใกล้ชิดของคณะราษฎร [11],[17] ซื้อเอาไปจนหมดสิ้น สำหรับเอกชนโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะซื้อหุ้นของบริษัทข้าวไทยได้เลย [11],[18]


โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 ได้เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก
“การขยายตัวของภาวะสงครามที่กำลังเพิ่มขึ้นตามภูมิภาคต่างๆของโลก โดยเฉพาะแถบเอเซีย ทำให้แหล่งผลิตอื่นๆไม่สามารถส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกได้ ไทยจึงเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่แต่ผู้เดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา” [11],[19]

ในระยะดังกล่าวนี้ บริษัทส่งข้าวออกต่างก็มีกำไรจากการส่งข้าวออกกันเป็นจำนวนมาก บริษัทข้าวไทยก็มีกำไรในอัตราที่สูงมากจากส่งข้าวไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกัน [11],[20] กล่าวคือ ในขณะที่ราคาภายในประเทศตันละ 30 บาท ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 200 กว่าบาท [11],[21]

และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น รัฐบาลก็มีคำสั่งให้ปิดกิจการโรงสีของเอกชนทั้งหมด คงเหลือไว้แต่เพียงบริษัทข้าวไทยเท่านั้น บริษัทข้าวไทยจึงได้เสนอต่อรัฐบาลขอเช่าโรงสีของเอกชนจำนวนมากมาดำเนินการเสียเอง อาทิเช่น โรงสีของบริษัทหวั่งหลี บริษัทอิ๊สเอเซียติ๊ก เป็นต้น [11],[22]

ผลของการประกอบการปรากฏตามหลักฐานของกรมทะเบียนการค้า (แม้จะไม่สมบูรณ์เพราะมีหลักฐานเพียงบางปี) ประกอบกับข้อมูลของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 จึงเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 -2492 บริษัท ข้าวไทย จำกัด “มีกำไรเป็นประจำทุกปี”...

“โดยผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ถูกนำไปแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล และบำเหน็จกรรมการ ซึ่งเป็นการตอบแทนให้แก่กรรมการอีกต่างหาก นอกเหนือจากเงินเดือนค่ารับรอง และอื่นๆที่ได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว”
[23] ดังตัวอย่างเช่น

พ.ศ. 2482 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 1,481,400 บาท, มีเงินปันผล 180,000 บาท และเงินบำเหน็จกรรมการ 32,570 บาท

พ.ศ. 2483 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 2,514,400 บาท, มีเงินปันผล 225,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 105,975 บาท

พ.ศ. 2486 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,567,055 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 278,353 บาท

พ.ศ. 2489 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 217,270 บาท

พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่ามีเงินปันผลและเงินบำเหน็จกรรมการเท่าไหร่

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้เขียนหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ได้ตั้งข้อเกตุในประเด็นนี้ว่า
“ในปี พ.ศ. 2482 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 500,000 บาท แต่ก็มีกำไรสุทธิประมาณ 1.5 ล้านบาท นั่นหมายความว่าเงินทุนทุกๆ 1 บาท บริษัท ข้าวไทย จำกัด สามารถจะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 บาท

และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท เงินทุน 1 บาท ก็ยังให้ผลตอบแทนสูงถึง 1.7 บาท, 3.7 บาท และ 5.1 บาท ในปี พ.ศ. 2483, 2489 และ 2490 ตามลำดับอีกด้วย”[23]

ที่น่าสนใจในธุรกิจที่เป็นการดำเนินการผูกขาดและกำไรมากเช่นนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้กิจการของสำนักทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีส่วนมาลงทุนร่วมด้วยแต่ประการใด คงเหลือแต่เอาไว้การลงทุนและได้หุ้นไป สำหรับพรรคพวกและข้าราชการที่ใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้น


อย่างไรก็ตามนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้วิเคราะห์ว่ารัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ยังได้ก่อตั้งกิจการเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนกิจการของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ให้มีความมั่นคงระยะยาวอีกด้วย ซึ่งได้แก่ กิจการขนส่งทางเรือ, กิจการธนาคาร และกิจการประกันภัย [23],[18] ภายใต้การเสนอแนะของนายมา บูลกุล[24]

พ.ศ. 2483 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเพียงรายเดียว [23],[25] คณะกรรมการชุดแรกของบริษัทมาจากคณะราษฎรทั้งสิ้น อาทิ เช่น นาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย, หลวงเสรีเริงฤทธิ์, พันเอกหลวงพรหมโยธี, และนายดิเรก ชัยนาม [23],[26]

พ.ศ. 2484 รัฐบาลก่อตั้ง ธนาคารมณฑล ด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

กิจการของ ธนาคารมณฑล นี้เป็นฐานการเงินสนับสนุน บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [27],[28]

พ.ศ. 2485 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด [23] ก่อตั้งด้วยเงินทุน 4,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 40,000 หุ้น มีบริษัทข้าวไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จำนวน 15,310 หุ้น หรือตกราวร้อยละ 38 ของหุ้นทั้งหมด[29],[30] กรรมการของบริษัททั้งหมดมาจากคณะผู้ก่อการฯ มีนายชุนห์ ปิณฑานนท์ เป็นกรรมการคนแรกของบริษัท [29],[31]

โดยหลังจากการก่อตั้งกิจการบริษัท ไทยเดินเดรือทะเล จำกัด กับธนาคารมณฑล ในช่วงแรกนั้น ได้เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่ทำให้กิจการของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ประสบความสำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2490 [22],[23] รวมถึงบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้สนับสนุนในการให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ก็ให้การสนับสนุนบริษัทข้าวไทย มาโดยตลอดด้วย

แต่ภายหลังจากการที่ “คณะทหารแห่งชาติ” นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พลตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ได้แต่งตั้งให้ทหารกลุ่มซอยราชครู เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท ไทยเดินเรือทะเลแทนกรรมการชุดเก่าที่หมดอำนาจไป เช่น พลตรี ศิริ สิริโยธิน, พันเอกประมาณ อดิเรกสาร และ พันเอก วรการบัญชา เป็นต้น [23]

สำหรับในเรื่องนี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งอธิบายในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 ว่า

“เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการของบริษัทชุดใหม่มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนการค้าของบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะอีกต่อไป การเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเลของกรรมการชุดใหม่จึงมีความเอนเอียงไปในทำนองที่ว่าจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัท เพื่อหมู่คณะของตนมากกว่าที่จะยึดถือเจตน์จำนงค์ดั้งเดิมของคณะราษฎรเอาไว้”[23]

สำหรับประเด็นนี้ ได้ปรากฏคำสัมภาษณ์ของ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ข้าวไทย จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ความตอนหนึ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า

“กิจการเดินเรือทะเลของรัฐบาล ไม่มีส่วนเกื้อหนุนกิจการของบริษัทข้าวไทยแต่อย่างใดเลย ดังนั้นบริษัทข้าวไทยจึงต้องเช่าเรือจากบริษัทโหงวฮกซึ่งเป็นเจ้าของ นายมา บูลกุลบ้าง บริษัทหวั่งหลีบ้าง ถ้าไปแถบยุโรปก็เช่าจากบริษัทเอเซียตี๊ก และบริษัทบอร์เนียว

การที่รัฐบาลจัดตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลขึ้นมา แทนที่จะเกื้อหนุนให้กิจการของบริษัทข้าวไทย ซึ่งก็เป็นของรัฐบาลเหมือนกัน กลับไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเลย” [22],[23]

ส่วนธนาคารมณฑล หลังการรัฐประหาร ก็ถูกแปรให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งสมาชิก และสมัครพรรพวกของตนที่มาจากกลุ่ม ผิน ชุณหะวัณ-เผ่า ศรียานนท์ (“กลุ่มซอยราชครู”) และกลุ่มสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (“กลุ่มสี่เสาเทเวศร์”) เข้าไปเป็นกรรมการบริหารงานในธนาคารมณฑล [23]

โดยกรรมการชุดใหม่ ได้แก่ พันตำรวจเอกลม้าย อุทยานานนท์, นายอดีศร โฆวินทะ, นายบุญวงศ์ อมาตยกุล [23],[32], พลตรีประภาส จารุสเถียร [31],[34], และพลตำรวจ ไสวไสวแสนยากร [33],[35]

เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทไทยเดินเรือทะเล ผู้บริหารงานชุดใหม่ของธนาคารมณฑลก็มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจของคนไทย และบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะ ดังปรากฏวัตถุประสงค์ที่แปรเปลี่ยนไปนี้อยู่ในบันทึกรายงานการประชุมของธนาคารมณฑล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ความว่า

นายมนู ยูประพันธ์ ถามว่า :

“ธนาคารนี้เป็นธนาคารไทยซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ นโยบายดั้งเดิมของการตั้งธนาคารนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือคนไทยโดยเฉพาะ เพื่อประคับประคองส่งเสริมพ่อค้าไทยให้มีรากฐานมั่นคง และให้ดึงการค้าเข้ามาอยู่ในมือคนไทย

แต่ในขณะนี้กลับมีเสียงเล่าลือในท้องตลาอดว่าธนาคารนี้ช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติมากกว่าพ่อค้าไทย ทั้งนี้มีความจริงเพียงใดหรือไม่?”

ประธานกรรมการ (พระยาโกมารกุลมนตรี) ตอบว่า :

“เสียงลือในเรื่องนี้ก็เห็นจะเหมือนเสียงลือในเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯเวลานี้ นโยบายของคณะกรรมการนี้มุ่งไปในทางที่จะจัดให้ธนาคารนี้เก็บเป็นธนาคารพาณิชย์ จะช่วยเหลือการพาณิชย์ของประเทศไทย ไม่เลือกว่าผู้ค้าจะเป็นชาติใด ภาษาใด

อนึ่ง จะลืมเสียมิได้ว่าเราจะต้องเลี้ยงตัวเอง และต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของธนาคาร เรายินดีช่วยพ่อค้าไทยที่ดี และตั้งใจค้าจริงๆทุกคน เราได้ช่วยและกำลังช่วยพ่อค้าไทยอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว

แต่การกู้ยืมโดยเสียดอกเบี้ยถูกเอาไปให้กู้เพื่อขูดดอกเบี้ยแพง การกู้ยืมเวลายาวอันมิใช่กิจที่ธนาคารพาณิชย์ควรกระทำ การกู้ยืมที่มีท่าทีว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวในบัญชีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เต็มใจช่วย แม้ผู้ขอกู้ยืมจะเป็นคนไทย”[33], [36]

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว คงเหลือแต่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัดยังคงสนับสนุนธุรกิจการค้าของบริษัทข้าวไทยต่อมา

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2491 บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้ให้บริษัทข้าวไทยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าท้องตลาด กล่าวคือ ในขณะที่ดอกเบี้ยท้องตลาดตกราวร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัทข้าวไทยเพียงร้อยละ 4.5 ต่อปีเท่านั้น[33],[37]

กล่าวโดยสรุปแล้ว การตกต่ำของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด เกิดขึ้นในช่วงหลังที่เกิดการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากองค์ประกอบทางการค้าของบริษัทข้าวไทย ซึ่งได้แก่ บริษัทไทยเดินเรือทะเล ธนาคารมณฑล และบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัยมิได้ทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทข้าวไทย ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในระยะแรก

ประกอบกับในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษได้บีบรัฐบาลไทยให้รื้อฟื้นบริษัทค้าข้าวของอังกฤษที่ถูกรัฐบาลไทยห้ามมิให้ดำเนินการกิจการในระหว่างสงครามโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[18],[33]

บริษัทค้าข้าวของอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบอร์เนียว บริษัทแองโกลหรือ บริษัทอิสเอเซียตี๊ค ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการค้าข้าวมาเป็นเวลานาน มีกิจการประกันภัย และบริษัทเดินเรือของตนเองทั้งยังมีธนาคารต่างประเทศที่คอยให้การสนับสนุนในการดำเนินงานอีกด้วย[33]

ฉะนั้นเมื่อกิจการค้าข้าวของบริษัทต่างประเทศกลับมาดำเนินงานอีกวาระหนึ่ง บริษัทข้าวไทยจึงต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถและทุนในการดำเนินงานสูงกว่ามาก ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่บริษัทข้าวไทยมิได้อยู่ในสถานะที่มีความเข้มแข็งเหมือนดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว[33]

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศอย่างเข้มงวด ที่เรียกกันว่า “นโยบายโควตาข้าว” นโยบายดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ทำให้ บริษัทข้าวไทยประสบภาวะตกต่ำทางการค้าอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ[33]

ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างก็ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตส่งข้าวออกแก่บุคคลต่างๆ ซึ่งมิใช่พ่อค้า หากแต่เป็นคนที่ “วิ่งเต้น” หาประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเพื่อเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า จนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย[33],[38]

บริษัทที่มิได้ทำการค้าข้าวหรือบริษัทที่มีอิทธิพลก็ยังได้รับโควตาส่งข้าวออก อาทิเช่น ร้านตัดผมจารุ ของตระกูลกรรณสูตร [33],[39] บริษัทบางกอกสากลการค้าของสฤษดิ์ [33],[40] บริษัทสหพาณิชย์สามัคคีของประภาส จารุเสถียร[33],[41] บริษัท พิทักษ์สามัคคีของกรมตำรวจ[33],[42] บริษัทเหล่านี้หากำไรจากการนำโควตาของคนไปขายให้แก่พ่อค้าส่งออกอีกทอดหนึ่ง

สำหรับพ่อค้าข้าวที่มิได้มีอิทธิพลทางการเมืองหนุนหลังอยู่เลย ก็จะหาโควตาข้าวได้จากการไปเสียการพนันให้แก่นายอดิศร โฆวินทะ ซึ่งจะเปิดให้มีการเล่นการพนันกันเป็นประจำปีที่สำนักงานจัดสรรโควตาข้าว[33],[43] โดยนายอดิศรจะเป็นผู้จัดใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พันเอก นายวรการบัญชา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่เพียงประการเดียวคือเซ็นอนุมัติ[18],[33]

ในทางตรงกันข้าม หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด ตกต่ำลงเรื่อยๆ กรรมการที่เข้ามาในบริษัทข้าวไทยนั้นมักจะเกิดจาการอุปถัมภ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงเข้ามาในบริษัทข้าวไทยเพียงเพื่อจะรับเบี้ยประชุมกรรมการซึ่งได้จากการประชุมในสมัยนั้นคราวละ 250-300 บาท และยังได้รับเงินโบนัสเป็นประจำทุกปีอีกด้วย[18],[33]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งให้ความเห็นในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 โดยสรุปบทเรียนจากการศึกษากรณีบริษัท ข้าวไทย จำกัดนี้ว่า

“ในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายของคณะราษฎรที่จะให้คนไทยเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวนั้น มิได้บรรลุวัตถุประสงค์แต่ประการใดเลย เพราะเหตุว่า การค้าข้าวยังตกอยู่ในมือพ่อค้าชาวจีน และนายทุนขุนนางต่างๆ ที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั่นเอง

สำหรับบริษัทข้าวไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในด้านธุรกิจค้าข้าวนั้น นับตั้งแต่คณะราษฎร จนกระทั่งถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของข้าราชการที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด

และยังเป็นแหล่งสนองผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการเหล่านั้นเสมอมา ที่สำคัญก็คือ บริษัทข้าวไทยไม่เคยแสดงบทบาทอย่างเด่นชัดที่จะตอบสนองหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนเลย

ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงนับตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยขึ้น รัฐบาลมิได้ประสงค์ให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ เป็นเครื่องมือที่จะใช้ลดช่องว่างทางด้านรายได้ของบุคคลกลุ่มต่างๆในสังคม รัฐวิสาหกิจแห่งนี้จึงมิใช่รัฐวิสาหกิจที่เป็นไปเพื่อประชาชนผู้ทำการผลิตและผู้บริโภคทั่วไป หากแต่เป็นไปเพื่อนายทุนขุนนางโดยตรง”[33]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42-43

[2] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

[3] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายมา บูลกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

[4]. สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 94-96

[5] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[7] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2523

[8] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[9] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 113

[10] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[11] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[12] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย พ.ศ. 2485-2490

[13] มนูญ บริสุทธิ์ “คณะรัฐมนตรี” ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของนายมนูญ บริสุทธิ์ (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2521), หน้า 117-133

[14] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[15] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[16] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 115

[17] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้าวไทย จำกัด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2593-30 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[18] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[19] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 114

[20] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 116

[21] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2523

[22] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 107-113

[24] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 118

[25] ในการดำริก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลนั้น เดิมบริษัทข้าวไทยต้องการให้บริษัทเดินเรือทะเลเป็นกิจการของบริษัทข้าวไทยโดยตรง แต่เนื่องจากมีนักการเมืองบางคนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากกิจการเดินเรือ ฉะนั้นบริษัทไทยเดินเรือทะเลจึงมีรัฐบาลถือหุ้นเพียงรายเดียว, สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522, ดังนั้นธุรกิจที่ประสานกับบริษัทข้าวเป็นอย่างดีคือ ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย ประธานกรรมการและผู้จัดการของบริษัทข้าวไทยคือ พระยาเฉลิมอากาศ และนายมา บูลกุล ได้เป็นกรรมการอยู่ในกิจการทั้งสองแห่งนี้ด้วย กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, นายนามกรรมการชุดแรกของธนาคารมณฑล จำกัด พ.ศ. 2484 รายนามกรรมการชุดแรกของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2485

[26] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[29] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 116

[30] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, ราบงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย จำกัด 9 มีนาคม พ.ศ. 2492

[31] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 376

[32] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500

[33] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 114-127

[34] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

[35] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501

[36] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ.2485

[38] ป๋วย อึ้งภากรณ์, เหลียวหลังแลหน้า (กรุงเทพฯ: สำนักศูนย์บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519) หน้า 9

“เรื่องสำนักงานข้าวเมื่อเป็นของรัฐบาลก็มีการทุจริตและใช้อำนาจแอบอ้างกันได้ง่าย นอกจากทุจริตธรรมดาแล้ว ทางธรรมเนียมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆยังได้ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตแก่คนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่ใช่พ่อค้า แต่เป็นคนที่วิ่งเต้นหาผลประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า”

[39] ยงยุทธ กุลนรรัตน์, ผู้จัดการบริษัทสหการข้าวไทย, สัมภาษณ์, 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

[40] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทบางกอกสากลการค้า จำกัด พ.ศ. 2497-2499

[41] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท สหพาณิชย์สามัคคี จำกัด วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2500

[42] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทพิทักษ์สามัคคี จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[43] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 19 ตุลาคม 2522


กำลังโหลดความคิดเห็น