xs
xsm
sm
md
lg

ไทยทุ่ม 3.2 พันล.เตรียมความพร้อมประชุมเอเปก65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน 3,283.10 ล้านบาท ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกของไทยในปี 2565 พร้อมรับทราบผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมครม. เห็นชอบกรอบวงเงินในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกของไทยในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 3,283.10 ล้านบาท โดยมาจากงบรายจ่ายปี 65 จำนวน 2,342.28 ล้านบาท และงบรายจ่ายปี 66 จำนวน 940.82 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกฯ และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในช่วงเดือนธ.ค.64–พ.ย.65 ทั้งสิ้นถึง 15 การประชุม ประกอบด้วยการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส 5 ครั้ง การประชุมระดับรัฐมนตรี 9 ครั้ง และการประชุมระดับผู้นำ 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการประชุมและ/หรือกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม

โอกาสสำคัญที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในปี 2565 จะเป็น “ยุคปกติใหม่”ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้ไทยสามารถส่งเสริมประเด็นที่ไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึง ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร ในบทบาทที่ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารให้แก่โลก รวมทั้งการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม. รับทราบผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่าง วันที่ 16-20 พ.ย.63 ได้มีการหารือประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปชิฟิก อาทิ การร่วมมือกันต่อสู้ บรรเทา และฟื้นฟูภูมิภาคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเร่งรัดการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้า เวชภัณฑ์ บริการด้านการแพทย์และบุคลากรที่จำเป็น อนาคตของเอเปคภายหลังการสิ้นสุดของเป้าหมายโบกอร์ เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้างมีพลวัตพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและมีสันติภาพ ภายใน ค.ศ. 2040 โดยครม. ยังมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย

ทั้งนี้ ไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือของเอเปก ในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่น การช่วยเหลือนักธุรกิจและ MSMEs การสนับสนุนการเพิ่มการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์และสินค้าที่จำเป็นของประชาชน รวมทั้งผลประโยชน์อื่นๆ จากนโยบายที่เอเปกผลักดัน อาทิการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตและเข้าถึงตลาดโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในระบบเศรษฐกิจ อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น