xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 12) เปิดตำนานกลุ่มธนาคารสาย “พนมยงค์”หายไปไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ก่อนที่คณะราษฎรได้เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในเวลานั้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตกต่ำอย่างหนัก อีกทั้งระบบเศรษฐกิจก็ได้ถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนายทุนตะวันตกและนายทุนเชื้อสายจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของนายทุนจีนนั้นได้มีอิทธิพลต่อธุรกิจที่มีความสำคัญเหนือกว่าชนชาติอื่น ได้แก่ ธุรกิจโรงสีข้าว ธุรกิจพ่อค้าคนกลางในนามสมาคมพ่อค้าข้าว เรือลำเลียงลากจูง การส่งออกข้าว ซึ่งธุรกิจที่ต่อเนื่องจากกลุ่มนี้ก็คือการประกันภัย ธนาคาร ธุรกิจการเดินเรือ และธุรกิจแลกเงินใต้ดินหรือโพยก๊วน [1]

สำหรับนายทุนจีนแล้วได้พึ่งพานายทุนตะวันตกด้วยการช่วยขยายทุนนิยมภายในประเทศสยาม กลุ่มทุนจีนนี้ได้พึ่งพาเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งหรือมากกว่าในระบบราชการภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีระบบราชการที่เข้มแข็ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวชนชั้นนายทุนสัญชาติจีนจึงได้ยอมรับเอาอุดมการณ์ของเครือข่ายศักดินาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยเพราะพึ่งพาอาศัยกัน การเจริญเติบโตขึ้นของชนชั้นนายทุนกลุ่มนี้จึงไม่เป็นปรปักษ์กับระบบเดิม แต่ก็ไม่อาจเป็นชนชั้นนำในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้ [2]  

อย่างไรก็ตามในเค้าโครงเศรษฐกิจในสมุดปกเหลืองของ นายปรีดี พนมยงค์ นั้น ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับ “เอกราชในทางเศรษฐกิจ” ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเราจัดทำสิ่งที่จะอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการที่จะดำรงชีวิตได้เอง และรัฐบาลควบคุมการกดราคาหรือขึ้นราคา โดยที่เอกชนได้ทำเล่นตามชอบใจในเวลานี้ได้แล้ว เราก็ย่อมเป็นเอกราช ไม่ต้องถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ทางเศรษฐกิจไม่ได้”[3]

ส่วน “หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งมีแนวคิดลัทธิชาตินิยม เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีแนวคิดการส่งเสริมกิจการของคนไทย ผ่านคำขวัญที่ว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" ซึ่งนอกจากจะพยายามส่งเสริมให้มีอาชีพสงวนสำหรับคนไทยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามยังได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำชักชวนให้ปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 5 เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย [4],[5]

โดยหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศชักชวนเอาไว้ในความคาดหวังชาตินิยมตามรัฐนิยมฉบับที่ 5 นี้ว่า

“ขอได้โปรดเข้าใจว่ารัฐนิยมฉะบับนี้แหละ เป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย พร้อมกันปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับที่ 5 นี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เราจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติและชาวไทยในไม่ช้า...”[5]

จึงเห็นได้ว่าแกนนำคนสำคัญในสายทหารอย่าง หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีแนวคิดใช้ลัทธิชาตินิยมนำชาติ กับ แนวคิดของสายพลเรือนอย่าง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) กับการปลดแอกทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนเอกชน (ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ) เป็นแนวคิดที่ไปด้วยกันได้ โดยใช้ภาครัฐเป็นผู้สถาปนา“กลุ่มทุนธุรกิจไทย” ฝ่าการครอบงำของกลุ่มทุนต่างชาติในเวลานั้น  

ทั้งนี้ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่ควบคุมกลุ่มทุนชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เอาเปรียบคนยากจนหรือเป็นผู้กำหนดชี้นำกลไกตลาด  

โดยในขั้นตอนแรกรัฐบาลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร ได้ดำเนินการในการตราพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อลดบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มทุนชาวจีน เช่น

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนโยบายภาษีในกิจการธนาคารและเครดิตฟองซีเอร์ ประธานคณะกรรมการราษฎร โดยด้านหนึ่งเป็นการหารายได้เข้ารัฐ ในขณะอีกด้านหนึ่งเป็นการลดบทบาทบรรดาธนาคารเล็กๆ ที่ไม่สามารถจะจ่ายภาษีตามที่รัฐบาลกำหนดได้ [6]


วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหามิให้เจ้าหนี้ยึดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพกสิกรรม ได้แก่ พืชผลที่ยังไม่เก็บเกี่ยว, เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ในปีการผลิตต่อไป, พืชผลในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และสัตว์และเครื่องมือสำหรับการประกอบอาชีพ [7]  

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหาการกู้หนี้ยืมสินในชนบทที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินสมควร หรือใช้นิติกรรมอำพรางปกปิดจำนวนเงินกู้ที่แท้จริงเพื่อคิดอัตราดอกเบี้ยและเงินต้นเกินสมควร หรือการได้มาของเจ้าหนี้ที่ได้เงินทองหรือทรัพย์สินเพื่อไถ่หนี้มากเกินสมควร ฯลฯ [8]  

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พ.ศ. 2477 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เพื่อสงวนการจับสัตว์น้ำให้กับคนไทยและนิติบุคคลไทย และควบคุมคนจีนที่ประมูลเขตน่านน้ำในการจับสัตว์น้ำ [9]

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการฉวยกำไรเกินควรจากผู้บริโภค [10]

และส่วนที่สำคัญของกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ ก็คือ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญหลายประการ เช่น การกำหนดทุนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท, หลักประกันของธนาคารที่ต้องมีไว้ให้กับรัฐบาลตามสัดส่วนของทุน, การกันกำไรของธนาคารมาเป็นทุนสำรองเพิ่มเติม ฯลฯ [11]

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 มีข้อกำหนดให้อำนาจแก่กระทรวงการคลังในการควบคุมธนาคารพาณิชย์ รวมถึงข้อห้ามตามมาตรา 8 อีกหลายประการ เช่น การห้ามปันผลแล้วมีผลทำให้เงินชำระทุนลดลง การห้ามมิให้มีอสังหาริมทรัพย์อันมิจำเป็นเพื่อใช้ในกิจการธนาคาร การห้ามจ่ายเงินให้กรรมการธนาคารกู้ยืมโดยทางตรงหรือทางอ้อม ฯลฯ [11]

โดยหลังจากการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 แล้ว ปรากฏว่าธนาคารที่ไม่เข้าข่ายและไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆของพระราชบัญญัตินี้ ต้องเลิกกิจการไป หรือบางแห่งก็โดนรัฐบาลยึดไป เนื่องจากขัดขืนคำสั่งห้ามส่งเงินไปต่างประเทศ

ส่งผลทำให้คงเหลือกลุ่มทุนธนาคารจีนที่สามารถดำเนินงานต่อไปได้เพียง 2 ธนาคารเท่านั้น คือ ธนาคารหวั่งหลี และธนาคารตันเปงชุน เท่านั้น[12]

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้กำเนิดขึ้นภายหลังได้ตรากฎหมายควบคุมธนาคารพาณิชย์แล้วนั้น ยังพบการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ก็ยังต้องอาศัยกลุ่มทุนชาวจีนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดกันมาเป็นแนวร่วมอยู่ดี

โดยเมื่อผนวกกับการสัมภาษณ์ของพลโทสรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัย จึงสามารถแบ่งเป็นกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ในช่วงเวลาที่หลวงพิบูลสงครามมาเป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งออกได้ เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้อาศัยทุนจากพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับ อีกธนาคารหนึ่งที่พลโทสรภฏ นิรันดร ระบุว่าเป็นเงินมาจากการเบียดบังพระราชทรัพย์มาลงทุนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งก็คือ “ธนาคารนครหลวงไทย” โดยมีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการและหุ้นส่วนธนาคารทั้งสองแห่ง โดยขุนนิรันดรชัยมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี [13],[14] ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความเชื่อเรื่องลัทธิชาตินิยมหรือฟาสซิสต์

กลุ่มที่สอง คือธนาคารที่กำเนิดขึ้นโดยทุนของรัฐบาล ได้แก่ “ธนาคารเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (ธนาคารเอเซีย)”ซึ่งก่อตั้งโดย “นายปรีดี พนมยงค์” โดยอาศัยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และอีกธนาคารหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยกระทรวงการคลัง

และกลุ่มที่สาม คือธนาคารที่จัดตั้งโดยเงินทุนของเอกชน ได้แก่ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” โดยครอบครัว “พนมยงค์”

สำหรับการก่อตั้งธนาคารที่มาจากเงินของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ทั้งที่เคยลงทุนมาก่อน หรือการเบียดบังโดยขุนนิรันดรชัยนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ขุนนิรันดรชัย ได้ดำเนินการเป็นราชเลขานุการในพระองค์ และนำเงินจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับหลวงพิบูลสงคราม[13],[14] อีกทั้ง ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินของพระมหากษัตริย์ไปร่วมตั้งธนาคารนครหลวงไทย[13],[14] และในอีกด้านหนึ่งก็สามารถเข้าควบคุมเป็นกรรมการในธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีเงินจากพระคลังข้างที่และกระทรวงการคลังอีกด้วย

สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เดิมนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่คือพระคลังข้างที่และราชวงศ์ แต่เมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้มาเป็นรัฐบาลแล้วจึงสามารถส่งตัวแทนเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง

ดังจะเห็นได้จากการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 มีมติเปลี่ยนชื่อ “ธนาคารสยามกัมมาจล” เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้นเข้าประชุมดังนี้

1.พระยาไชยยศสมบัติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (ประธานกรรมการอำนวยการ) ถือหุ้น 6,286 หุ้น
2.พระยาไชยศสมบัติ ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
3.พระยานวราชเสวี ถือหุ้น 27 หุ้น
4.พระยาปรีดานฤเบศร์ ถือหุ้น 100 หุ้น
5.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถือหุ้น 22 หุ้น
6.พันตรีขุนนิรันดรชัย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 18,022 หุ้น
7.พันตรีขุนนิรันดรชัย ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
8.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้แทนสำนักพระราชวัง ถือหุ้น 1,760 หุ้น
9.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ถือหุ้น (ส่วนตัว) 10 หุ้น
10.พระยาประดิพัทธภูบาล ถือหุ้น 601 หุ้น
11.นายดับเบิ้ลยู. เค. เลอคานต์ ถือหุ้น 120 หุ้น

รวม 26,997 หุ้น [15]

บุคคลสำคัญของคณะราษฎร ได้แก่ พันตรีขุนนิรันดรชัย ซึ่งอยู่ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์ กลับกลายเป็นผู้แทนกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด ในขณะที่เรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ เป็นตัวแทนสำนักพระราชวัง โดยทั้งสองคนนี้ยังได้มี “หุ้นส่วนตัว” ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย

โดยในเวลาต่อมากลุ่มคนที่เคยเป็นสมาชิกของคณะราษฎร ก็ได้เข้าไปเป็นกรรมการในธนาคารแห่งนี้แทนกรรมการชุดเดิม ได้แก่ นายวิลาศ โอสถานนท์ (พ.ศ. 2482) พันเอกประยูร ภมรมนตรี (พ.ศ. 2484) นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (พ.ศ. 2484) หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น ลีห์ละเมียร) เป็นต้น [16]

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามี “บางคน” ที่ได้เป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ต่อมาเหล่านี้ได้เคยถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ว่าได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปในราคาถูกๆด้วย ดังเช่น 

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ 3845 อำเภอบางรัก ราคา 6,000 บาท สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของ)

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) เป็นผู้ซื้อโฉนดเลขที่ 3473 อำเภอบางรัก ราคา 10,724 บาท จากสำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ)[17]

สำหรับอีกธนาคารหนึ่งซึ่ง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปลงทุนก่อตั้ง “ธนาคารนครหลวงไทย” นั้น[13],[14] ธนาคารดังกล่าวได้จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท  

โดยกรรมการชุดแรกของ “ธนาคารนครหลวงไทย” ได้แก่ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ประธานกรรมการ, ขุนนิรันดรชัย (สะเหวก นิรันดร), นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. , ขุนวิมลธรกิจ (วิมล เก่งเรียน), นายชุณห์ บิณฑนนท์, นายโล่ง เตี๊ยกชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, พระทำนุนิธิผล (เพ็ญ เศาภายน) และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล โดยธนาคารนี้ เป็นธนาคารที่มีสมาชิกของคณะราษฎรร่วมมือกับพ่อค้าชาวจีน และเชื้อพระวงศ์ [18],[19]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง “ขุนนิรันดรชัย” และ “นายเรือเอกวัน รุยาพร” เป็นทั้งกรรมการและหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคารนครหลวงไทย และเป็นกรรมการและหุ้นส่วนในธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย อันจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เพราะเท่ากับคนๆ เดียวกันเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง แต่สามารถเป็นกรรมการล่วงรู้ข้อมูลภายในคู่แข่งอีกองค์กรหนึ่ง

สำหรับ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” นั้น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482 ด้วยเงินทุน 1,000,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งปิดธนาคาร โอเวอร์ซีไชนีส (Chinese Oversea Banking) สาเหตุจากธนาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลโดยการส่งเงินกลับไปประเทศจีน [18]

นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้มอบหมายให้นายหลุย พนมยงค์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งนี้ โดยมี ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสรรเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยมาซื้อหุ้นใหญ่ของธนาคารเอาไว้ในชื่อ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ส่วนหุ้นที่เหลือของผู้ใกล้ชิดกับคณะราษฎร รวมทั้งพ่อค้าชาวจีนด้วย [18]

คณะกรรมการชุดแรกประกอบด้วย พระยาพิพัฒน์ธนากร (ฉิม โปษยานนท์) เป็นประธาน, พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ), นายยูมิน จูตระกูล (แห่งบริษัทยิบอินซอย), นายเดือน บุนนาค, นายโล่วเตี๊ยกชวน บูลสุข, หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก), หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์)[18],[20]

นอกจากนั้นยังมีบรรดาพ่อค้าจีนที่ให้การสนับสนุนจัดตั้งธนาคารนี้ แต่ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการด้วย ได้แก่ นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายตันซิวเม้ง หวั่งหลี, นายตันเคี๊ยกบุ้น, นายเต็ก โกเมศ เป็นต้น [18],[21]

ในปี พ.ศ. 2491 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในธนาคารเอเชียฯ เป็นจำนวน 6,210 หุ้น จากจำนวน 10,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นบุคคลของคณะราษฎร และพ่อค้าชาวจีน เช่น นายเดือน บุนนาค, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายจุลินทร์ ล่ำซำ และนายตันสิวติ่น หวั่งหลี เป็นต้น[22][23]

อย่างไรก็ตามการที่ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” เป็นกิจการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ย่อมส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้มีกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง เพื่อจะได้ช่วยลดภาระค่าเทอมให้กับนักศึกษาในการศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยโดยพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลน้อยลง

นอกจากนั้น “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้อันสำคัญทางด้านพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ทางการเงินและการธนาคารของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีข้อสำคัญคือเป็นกิจการธนาคารของรัฐไทยที่จะได้ช่วยส่งเสริมกิจการของคนไทยให้สามารถปลดแอกจากการเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่างชาติได้ 
 
ส่วนธนาคารของรัฐอีกแห่งหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” นั้น ได้จัดตั้งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ธนาคารมณฑลนี้ ก่อตั้งด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล

โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

โดย “ธนาคารมณฑล” แห่งนี้ ได้ใช้เป็นฐานการเงินสนับสนุนบริษัทข้าวไทยจำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [18],[24]

ส่วนอีกธนาคารหนึ่งที่ก่อตั้งในเวลาต่อมาด้วยทุนของเอกชนก็คือ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เป็นธนาคารที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าสำคัญของคณะราษฎรเป็นคนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ด้วยเงินทุน 1,000,000 ล้านบาท

พรรณี บัวเล็ก ผู้เขียนวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือ “วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516” ซึ่งจัดพิมพ์ในโครงการหนังสือเล่มสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2529 เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า


“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกใช้เป็นแหล่งหนุนช่วยทางการเงินของกลุ่มนายปรีดี คณะกรรมการบริหารธนาคารนี้ประกอบด้วยบุคคลใกล้ชิดกับนายปรีดี โดยคณะกรรมการชุดแรกได้แก่ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายลออเดช ปิ่นสุวรรณ, นางสาวพงศ์จันท์ เก่งระดมยิง, นายอุดม จันทรสมบัติ, นายจรูญ กิจจาทร, นายสุภาพ เขมาภิรักษ์, และนายชำนาญ ลือประเสริฐ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2489 ในปีต่อมาได้ทำการเพิ่มทุนขึ้นเป็น 4,000,000 บาท ในการดำเนินงานบริหารธนาคารนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่อาศัยนายหลุย พนมยงค์ น้องชายเข้าควบคุมแทน

แต่อย่างไรก็ตามนายหลุย พนมยงค์ก็ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการเอง ถึงแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร แต่จะมีบทบาทในการประชุมธนาคารแต่ละครั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคือ นายชำนาญ ลือประเสริฐ ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลพนมยงค์ ถือหุ้น 6,640 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.4 (โดยมีนายหลุย พนมยงค์ ถือหุ้น 4,200 หุ้น) ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ” [25],[26]

ในอีกด้านหนึ่ง นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 อธิบายบทบาทของธนาคารเอเชียฯ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มาจากการก่อตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า

“กล่าวได้ว่า ธนาคารเอเซียฯ เป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของคณะราษฎร เพราะเหตุว่า ผู้บริหารงานของธนาคารส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดีทั้งสิ้น เช่น หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายหลุย พนมยงค์, นายสวัสดิ์โสตถิทัต, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายเดือน บุนนาค เป็นต้น

ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น คณะราษฎรใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่บริษัทผู้ก่อการฯ คือบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ (จะได้กล่าวถึงต่อไป) จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคณะราษฎรในขณะนั้น


คณะราษฎรได้ใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ไปก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด ปี พ.ศ. 2484 บริษัทนี้มีธนาคารเอเชียฯ เป็นผู้ทดรองจ่ายเงินล่วงหน้าในการดำเนินการจัดตั้งทั้งหมด และมีบุคคลใกล้ชิดกับสมาชิกของคณะราษฎรเป็นผู้บริหารงานคือ นายหลุย พนมยงค์, นายเดือน บุนนาค, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภชน์ อัศวนนท์) นายโล่วเต๊ะชวน บูลสุข, และนายตันจินเก่ง หวั่งหลี” [27],[28]

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้เขียนวิเคราะห์ในเรื่องความสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์กับนายทุนชาวจีนและกลุ่มการเมือง โดยการสัมภาษณ์ นายเสวต เปี่ยมพงศานต์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และอ้างอิงการอภิปรายของ สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ความว่า


“คณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่จะดึงพ่อค้าชาวจีนชั้นสูงที่จำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินทุนของตนให้มาอยู่ภายใต้ร่มธงของคณะราษฎร เช่น นายโล่วเตี๊กชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายมา บูลกุล เป็นต้น และคณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องมือหาความสนับสนุนทางการเมืองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน”[27],[29]


ในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นระยะที่เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นระยะที่ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรใกล้จะถึงจุดแตกหักแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำปีกซ้ายของคณะราษฎร ที่มีพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระสนับสนุน กับนายควง อภัยวงศ์ อดีตผู้ก่อการฯของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างจริงจัง เพราะว่ามีแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง

23)



ในการเลือกตั้งคราวนั้นฝ่ายอนุรักษ์มีนายควง อภัยวงศ์ และพระยาศรีวิศาลวาจา เป็นแกนกลางโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มปีกซ้ายของคณะราษฎรและฟื้นฟูอิทธิพลของระบบเดิมบางส่วนให้กลับคืนมา[27],[30]

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักถึงความเข้มแข็งของพลังปฏิกิริยาเป็นอย่างดี และเกรงว่าสังคมจะถูกชุดรั้งให้เสื่อมทรามลงไปอีกวาระหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้ธนาคารเอเชียฯสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ของฝ่ายตน โดยให้กู้ยืมคนละ 2,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันแต่ประการใด[27],[30]

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์, และคณะนายทหารร่วมกันทำตัวรัฐประหารสำเร็จ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว จึงได้มอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอยู่จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2491

ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะรัฐประหาร ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีชุดต่อมา [27],[31]

โดยในระหว่างที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยยันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลได้มีคำสั่งปิดธนาคารเอเชียฯ และธนาคารศรีอยุธยา อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าธนาคารทั้งสองแห่งเป็นฐานอำนาจของกลุ่มนายปรีดี มาก่อน [27],[32]

และเพื่อที่จะบั่นทอนฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปให้ถึงที่สุด เผ่า ศรียานนท์ จึงได้จับ นายหลุย พนมยงค์ และนายเดือน บุนนาค ในข้อหาทางการเมือง

หลังจากที่นำตัวไปทรมานอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เผ่า ศรียานนท์ จึงบังคับให้นายหลุย พนมยงค์ โอนหุ้นใน ธนาคารศรีอยุธยาให้แก่ตนและตระกูลชุณหะวัณ[27],[33] และบังคับให้นายเดือน บุนนาคให้โอนหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในธนาคารเอเชียฯ ให้แก่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก[27],[34]

หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ประสบความล้มเหลวจากการก่อกบฏวังหลวง ในปี พ.ศ. 2492 แล้ว บุคคลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในฐานะผู้นำในการปราบกบฏก็คือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในระยะเวลาต่อมา สฤษดิ์ได้โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในธนาคารเอเชียเป็นของตน [27],[35] โดยถือในนามส่วนตัว และในนามของบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ [27],[36] ซึ่งเป็นบริษัทที่สฤษดิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ในขณะนั้น[27],[37]

ฉะนั้นภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 แล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารศรีอยุธยาจึงกลายเป็นกลุ่มซอยราชครู(จอมพลผิน ชุณหะวัณ-พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) และธนาคารเอเชียฯ เป็นของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) [27]


หลังสิ้นสุดอำนาจการปกครองของคณะราษฎรแล้ว ธุรกิจต่างๆ เกือบทั้งหมดที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้นก็ถูกแปรเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 และปี พ.ศ. 2494 [27] ภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังจากนั้นคณะรัฐประหารได้แตกเป็น 2 กลุ่ม อย่างเด่นชัด ในเวลาต่อมา คือกลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ-พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (กลุ่มซอยราชครู) และกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (กลุ่มสี่เสาเทเวศร์) นายทหารทั้งสองกลุ่มต่างเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศในขณะนั้นเอาไว้ กล่าวคือ

“ขณะที่กลุ่มซอยราชครูเข้าควบคุมธนาคารศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็มีธนาคารเอเซียฯ สหธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารแหลมทองฯ เป็นฐานของกำลังตนเช่นกัน ทหารทั้งสองกลุ่มต่างแข่งขันกันสร้างธุรกิจส่วนตัวของตนขึ้น” [38]

ส่วนกลุ่มทุนของ “ขุนนิรันดรชัย” ซึ่งเป็นนายทุนที่ได้แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจ “ธนาคารนครหลวงไทย” ต่อไปได้ เพราะยังคงมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงส่งผลประโยชน์ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ด้วย [14]

โดย “ขุนนิรันดรชัย” เป็นนักธุรกิจที่สามารถนำทุนตั้งต้นจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปต่อยอดธุรกิจอีกจำนวนมาก โดยเป็นทั้งผู้ถือหุ้น ประธานกรรมการ และกรรมการในหลายบริษัท เช่น บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด, บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด, บริษัท สหประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด, บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท สหศินิมา จำกัด, บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด,บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ศรีกรุง จำกัด, บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ) ฯลฯ [39]

ตำนานธนาคารพาณิชย์สาย “พนมยงค์ ”จึงได้ปิดฉากลง ไปตามการหมดอำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 32-40

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 74-75

[3] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์), เค้าโครงเศรษฐกิจ, จัดพิมพ์โดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส สำหรับเด็กและเยาวชน, และร่วมจัดพิมพ์โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2542 จำนวน 2,000 เล่ม, ISBN 974-7833-11-5, หน้า 39
http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 5, เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย, เล่มที่ 56, วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482, หน้า 2359-2482
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/213651/SOP-DIP_P_810241_0001.pdf?sequence=1

[5] ราชกิจจานุเบกษา, คำชักชวนของรัฐบาล ขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมใจ พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ 5 ด้วยดี, เล่มที่ 56, วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482, หน้า 5434-5436
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/3434.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2475, เล่มที่ 49, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 239-252
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13702/SOP-DIP_P_400881_0001.pdf?sequence=1

[7] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475, หน้า 396-398
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15035/SOP-DIP_P_400893_0001.pdf?sequence=1

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475, หน้า 461-465
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15924/SOP-DIP_P_400901_0001.pdf?sequence=1

[9] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พุทธศักราช 2477, เล่ม 51, วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477, หน้า 795-802
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14525/SOP-DIP_P_401081_0001.pdf?sequence=1

[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พุทธศักราช 2480, เล่ม 54, วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480, หน้า 1230-1240
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17124/SOP-DIP_P_401347_0001.pdf?sequence=1

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480, เล่มที่ 54, วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480, หน้า 1203-1210
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17122/SOP-DIP_P_401346_0001.pdf?sequence=1

[12] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42

[13] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมวิสามัญของธนาคารไทยพาณิชย์ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

[16] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 51-52

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 302
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[18] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทยจำกัด เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2482

[21] เรื่องเดียวกัน, รายงานการประชุมจัดตั้งธนาคารเอเชียฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482

[22] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 128-131

[23] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[25] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 50-51

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

[27] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 129-133

[28] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด, 8 กันยายน พ.ศ. 2488 ณ ธนาคารเอเชีย

[29] เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์, 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และสุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522

[30] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดียวกัน

[31] สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพ:สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515), หน้า 2, ; ประชัน รักพงษ์, “การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย (พ.ศ. 2481-2500)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 240-255

[32] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475

[33] เรื่องเดียวกัน, เผ่า ศรียานนท์ เข้าเป็นกรรมการของธนาคารศรีอยุธยาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2491 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือรับรองรายนามกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 13 ตุลาคม พ.ศ. 2491 กรรมการส่วนหนึ่งของธนาคารศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2499 ได้แก่ พล.ต.หลวงชำนาญศิลป์, พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ, พ.ท.ประกอบ ประยูรโภคลาภ, พ.ต.ต.ชลิต ปราณีประชาชน ฯลฯ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือขอเลื่อนการจดทะเบียนกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 18 กันยายน พ.ศ. 2499

[34] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดิม; ดูเอกสารอ้างอิงลำดับที่ [36] ประกอบด้วย

[35] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ; เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์ 19 กันยายน พ.ศ.2522

[36] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522
“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าถือหุ้นธนาคารเอเชียฯ เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2494 จนกระทั่งถึงปี 2508 ในขั้นแรก (29 มีนาคม 2494) ถือหุ้นจำนวน 50 หุ้น หมายเลข 5961-6010 และตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2508 ถือหุ้นจำนวน 3,435 หมายเลข 1-3435

หุ้นหมายเลข 5961-6010 จำนวน 50 หุ้นนั้น เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นผู้ถือหุ้น (ก่อนมาเป็นของจอมพลสฤษดิ์) ต่อมาปรากฏชื่อขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือ

หุ้นหมายเลข 1-3435 จำนวน 3435 หุ้นนั้น เดิมองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ (ตอนที่จอมพลสฤษดิ์เร่ิมเข้าเป็นผู้ถือหุ้น) ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2495 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2503 (หลักฐานระหว่าง 23 มีนาคม 2503 จนถึงก่อน 3 มิถุนายน 2507 ไม่ปรากฏ) แล้วจึงปรากฏว่าเป็นชื่อของจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2509”. กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, จดหมายรยงานเรื่องการอายัดหุ้นของธนาคารเอเชียฯ ของนายสมจิตต์ จรณี หัวหน้ากองหุ้นส่วนและบริษัท ทูลท่านอธิบดี 22 มกราคม 2508

จากหลักฐาน “จดหมายรายงานเรื่องอายัดหุ้น...” ระบุว่าในปี 2494 สฤษดิ์ ถือหุ้นอยู่ในธนาคารเอเชียฯ ในนามส่วนตัวจำนวน 50 หุ้น ปี 2495 สฤษดิ์โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำนวน 3,435 หุ้น มาเป็นของตนโดยถือเอาไว้ในนามบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ ปี 2496 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเอเชียฯ โดยถือหุ้นจำนวน 6,110 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ 22 ธันวาคม 2496

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, เอกสารการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด 3 มกราคม 2492

[38] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 282-283

[39] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)-(


กำลังโหลดความคิดเห็น