xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตกคนละครึ่ง9นาทีเกลี้ยง-คลังแย้มมีสิทธิลุยต่อเฟส3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ประชาชนแห่ลงทะเบียนรับสิทธิ "คนละครึ่ง" รอบเก็บตก 1.34 ล้านสิทธิ เต็มภายใน 9 นาทีแรก "อาคม" ยืนยันลงทะเบียนราบรื่น เตรียมพิจารณาเฟส 3 หากการใช้จ่ายประชาชนยังไม่โตเท่าที่ควร ส่วนมาตรการลดภาษีที่ดิน-ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน เข็นเข้าครม.สัปดาห์หน้า แจงปมไม่แจก "เราชนะ" เป็นเงินสด เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนการสังคมไร้เงินสด

วานนี้ (20 ม.ค.) น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง ผลการเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตก จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ เป็นวันแรก ว่า จากการเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ปรากฎประชาชนเข้ามาลงทะเบียนเต็มจำนวนภายใน 9 นาทีแรก นับตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 06.00 น.

ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จและได้รับข้อความ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิแล้วจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” รวมทั้งยืนยันตัวตนให้เรียบร้อยจึงจะสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งจะเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. - 31 มี.ค. 64

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 18 ม.ค. 64 เวลา 21.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้ว 13.65 ล้านคน ยอดเงินใช้จ่ายสะสม 66,967 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 34,260.9 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 32,760.1 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาขยายโครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 3 กระทรวงการคลังได้มีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเรื่องของเศรษฐกิจตลอดเวลา หากไตรมาส 2 ของปีนี้ การใช้จ่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะมีการพิจารณาออกมาอีกครั้ง เพราะการบริโภคและการใช้จ่ายคิดเป็น 50% ของจีดีพี หากทำให้ชาวบ้านมีรายจ่าย ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจด้วย

"โครงการคนละครึ่งเฟส 3 ต้องขอเวลาในการประเมินผลอีก 1-2 เดือน เพื่อติดตามประสิทธิภาพการใช้จ่ายของประชาชนในโครงการระยะที่ 1-2 ก่อน ถ้าผลออกมาดีอาจจะพิจารณาทำโครงการในระยะที่ 3"

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาหามาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชน ตลอดจนกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมการ โดยในสัปดาห์หน้า คลังจะเสนอมาตรการลดภาระให้ประชาชนในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเป็นการลดภาษีที่ดินฯลง 90% และยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเหลือเพียง 0.01%

“เรื่องนี้จะช่วยคนที่มีรายได้ มีทรัพย์สิน ได้เพิ่มสภาพคล่อง เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2563 ก็จะต่ออายุให้ในปีนี้ รอนำเสนอเข้า ครม.สัปดาห์หน้า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้คนที่มีรายได้สูงขึ้นมาอีกหน่อย”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดูประชาชน ทั้งโครงการ “เราชนะ” ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวานนี้ (19 ม.ค.64) จากนี้จะมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ออกมา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย สำหรับผู้มีกำลังซื้อด้วย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเปิดลงทะเบียน คนละครึ่ง 1.3 ล้านสิทธิ ในเช้าวันนี้ (20 ม.ค.64) จากการตรวจสอบระบบพบว่า มีประชาชนเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อรอลงทะเบียนกว่า 3 ล้านราย ซึ่งขั้นตอน OTP ก็สามารถดำเนินการได้ตามคิว แม้ประชาชนมีความสนใจจำนวนมาก แต่ยืนยันว่า ธนาคารกรุงไทยสามารถรับได้ทั้งหมด ส่วนที่ติดขัดก็อยู่ที่ผู้ให้บริการว่าสามารถบริการได้มากน้อยเท่าไหร่

“ยืนยันว่า ฝั่งขาเข้ากรุงไทยรับได้หมด ไม่มี Error (ข้อผิดพลาด) ที่เหลือขึ้นอยู่กับฝั่งผู้ให้บริการแล้วว่าบริการได้มากน้อยแค่ไหน” นายกฤษฎา กล่าว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการเยียวและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า โครงการเราชนะเป็นโครงการเพื่อออกมาเยียวยาพี่น้องประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ส่วนที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่ให้เป็นเงินสดนั้น เป็นเพราะโครงการเราชนะเป็นการเยียวยาที่ทำไปพร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในร้านค้าหาบเร่แผงลอย และตลาดสด

ส่วนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจที่ปิดในช่วงโควิด-19 ก็สามารถยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือได้จากสำนักงานประกันสังคม และก่อนหน้านี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้ออกมาตรการช่วยเหลือแล้ว เช่น การลดของนายจ้าง และลูกจ้าง

นายอนุชา กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนม.ค. นี้จะมีการประเมินสถานการณ์ หากดีขึ้นก็จะมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเข้ามาเพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู เช่นกระทรวงการคลังอาจจะทำโครงการคนละครึ่งเฟสที่สาม และทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้หารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้มีซอฟท์โลนระยะยาว และการค้ำประกันเงินกู้อื่นๆ ขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยได้มอบให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดูแลเศรษฐกิจประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

ปลดล็อกบัตรคนจนซื้อของร้านคนละครึ่ง

นายกฤษฎา เพิ่มเติมถึงการใช้สิทธิ "เราชนะ" ของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่า คลังได้ขยายสิทธิให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากร้านธงฟ้าแล้ว ยังซื้อของกับร้านค้าคนละครึ่งที่เข้าร่วมเราชนะได้ด้วย และไม่จำเป็นต้องนำเงินส่วนตัวไปร่วมจ่าย โดยปัจจุบันมีร้านค้าคนละครึ่ง 1.3 ล้านแห่ง ในจำนวนนี้เป็นหาบเร่แผงลอย 1.3 แสนแห่ง ซึ่งหากร้านเหล่านี้ยืนยันเข้าร่วมก็จะรับบัตรสวัสดิการได้ทันที เช่นเดียวกับการใช้จ่ายค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่ารถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว ร้านตัดผม ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯก็ใช้ได้ แต่ผู้ให้บริการต้องมาลงทะเบียนก่อน

นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลไม่แจกเงินสด 3,500 บาท เนื่องจากมีประสบการณ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ประชาชนต้องแออัดต่อคิวถอนเงินจำนวนมาก เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และทำให้ตู้เอทีเอ็มมีปัญหาได้ รัฐบาลจึงต้องการลดการสัมผัสเงินสดเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยเลือกวิธีโอนเงินเข้ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์แทน

"นอกจากความสะดวกปลอดภัยแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนสังคมไร้เงินสดด้วย เพราะวันนี้ภาคเอกชนใช้กันหมดแล้ว จ่ายค่าทางด่วน ค่ารถ ก็ไม่ใช้เงินสด ถ้าเราไม่ใช้เทคโนโลยีก็จะเชย" นายอาคม กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น