ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
หลังเกิดเหตุการณ์ตั้งกระทู้ถามโดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีเรื่องการที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการ แห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และรวมถึงเข้าชื่อเพื่อการอภิปรายทั่วไปกรณีเดียวกันของ นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ได้เป็นมลทินอีกครั้งหนึ่งของคณะราษฎรที่ไม่อาจมองข้ามในบันทึกประวัติศาสตร์ไปได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 [1]
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรีว่า
“...ในตอนต้น พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) เกิดเรื่องไม่งามขึ้นในวงการเมือง เกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการฯ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คือ ที่ดินอันเคยเป็นของพระคลังข้างที่ บัดนั้น นับว่าเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้จะมีสำนักงานดูแลก็จริง แต่ความรับผิดชอบในการควบคุมยังอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการฯ
ขณะนั้นมีข่าวปรากฏออกมาว่า สมาชิกคณะผู้ก่อการเดิมที่เรียกกันว่า “ดีหนึ่ง” 34 คน สามารถซื้อที่ดินของทรัพย์สินฯ นี้ได้โดยราคาอันต่ำที่สุด ทั้งยังได้โอกาสผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินอย่างสะดวกง่ายดายยิ่ง จนการซื้อครั้งนั้นเกือบจะเท่ากับได้เปล่าๆ
เมื่อเป็นที่ทราบกันทั่วไปก็เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นเรื่องครึกโครม นายปรีดีนั้นปรากฏว่าไม่มีส่วนเสียหาย เพราะไม่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อ มีข่าวลือว่าหลวงพิบูลฯ ได้ซื้อไว้บ้าง แต่พอมีท่าทางว่าผู้คนไม่พอใจ หลวงพิบูลฯ ก็บอกคืนเสียโดยเร็ว
เมื่อเห็นว่าประชาชนไม่พอใจในการซื้อขายที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สมาชิกประเภท 1 ซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ก็ถือโอกาสโจมตีคณะผู้สำเร็จราชการและรัฐบาลในสภา ใช้ถ้อยคำอันรุนแรง จนทำให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ กับนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลฯ) ต้องขอลาออกจากตำแหน่ง..”[2]
โดยการอภิปรายในครั้งนั้นได้พาดพิงไปถึงพฤติการณ์ในการขายที่ดินส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (โรงเรียนการเรือน)ให้กับสำนักพระคลังข้างที่ในราคาที่แพงกว่าที่ดินใกล้เคียงด้วย ดังปรากฏในการตั้งกระทู้ถามของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ความตอนหนึ่งว่า
“ผู้มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของตน 9 หมื่นบาท คิดเฉลี่ยตารางวา 35 บาท ขณะเดียวกันที่ดินข้างเคียงราคาตารางวาละ 15 บาท นี่หมายความว่าอย่างไรกัน แล้วจะไม่ให้ผู้เยาว์ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องหรือ นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคา 9 หมื่นบาท ราคาตารางวาละ 35 คือโรงเรียนการเรือน”[3]
สอดคล้องกับคำอภิปรายของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้อภิปรายความตอนหนึ่งถึงการขายที่ดินโรงเรียนการเรือนให้กับพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆว่าเป็นที่ดินของผู้สำเร็จราชการ ความตอนหนึ่งว่า
“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ 3 ท่าน ใน 3 ท่านนั้นได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมาแล้วว่าที่โรงเรียนการเรือนนั้นได้โอนขายให้แก่พระคลังข้างที่เป็นเงิน 9 หมื่นบาท ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นตารางวาละ 35 บาท ซึ่งขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนอย่างกะเรี่ยกราด ไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายสามที่สมาชิกได้อ่าน”[4]
การอภิปรายดังกล่าวได้ยุติลงในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อมากำหนดการอภิปรายต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอลาออกจากตำแหน่ง และเรื่องที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง
โดยเนื้อความหนังสือขอลาออกของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ มีเนื้อความว่า
“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480
เรียน พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจากได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อชายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายพาดพิงมาถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือตัวข้าพเจ้าอันมีถ้อยคำรุนแรง เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการ
ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามั่นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ยึดถือเสียงของประชาชนคือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา”[5]
หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้อ่านหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เรื่อง การลาออกของนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ความว่า
“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480
ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับหนังสือนายกรัฐมนตรีว่า โดยที่ควรจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินบางราย ซึ่งสำนักพระราชวังได้กระทำไปปรากฏเป็นที่ข้องใจสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในราชการสำนักพระราชวัง เห็นสมควรจะได้มีโอกาสสอบสวนเพื่อความชอบธรรมด้วยกันทุกฝ่าย จึ่งขอพระราชทานลาออกจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย
ฉะนั้น จึงขอแจ้งมาทางสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [6]
และภายในวันเดียวกันนั้นเองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเหลืออีก 2 ท่านก็ได้ลาออกด้วยเหตุผลซึ่งมีเนื้อหาเดียวกันกับประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านหนังสือดังกล่าวในช่วงบ่ายของวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ความว่า
“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480
ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แสดงพระประสงค์มาว่า โดยที่ได้อภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายด้วยถ้อยคำแรงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการเป็นไปถึงเช่นนี้ พระองค์ท่านจึงเห็นว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ก็ใคร่ขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า เมื่อประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงขอลาออกจากตำแหน่ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ขอลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชาเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”[7]
โดยในการประชุมครั้งนี้ มีข้อถกเถียงกันในสภาว่าหนังสือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการตีความว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นหมายถึงได้ลาออกหรือยังกันแน่
โดยในระหว่างการหาข้อยุติดังกล่าว พันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้ขอให้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระหัตถเลขาคำชี้แจงอีกฉบับหนึ่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาด้วย โดยพันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้กล่าวในสภาผู้แทนราษฎรความตอนหนึ่งว่า
“คือข้าพเจ้าได้ทราบว่าลายพระหัตถเลขาที่ส่งมาได้มีคำชี้แจงของท่านด้วย บอกว่าถ้าสภาฯมีความข้องใจและถ้าสภาฯจะทำให้หายไม่ได้จริงๆ แล้วก็ใคร่จะลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่อยากจะฟอกความบริสุทธิ์ของท่าน ท่านจึงได้มีพระหัตถเลขามาฉบับหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าคุณประธานฯควรอ่านให้ที่ประชุมฟัง เมื่อเป็นข้อแก้ของพระองค์ท่าน และจะทำให้พระองค์ท่านและคณะผู้สำเร็จราชการหายมลทินได้”[8]
หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อธิบายเนื้อความในคำชี้แจงความว่า
“...หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้า บอกว่าลับ ไม่ใช่เปิดเผย ในวันนั้นเราประชุมโดยเปิดเผย แต่วันนี้เราประชุมกันเป็นการภายใน ข้าพเจ้าพูดได้ ท่านชี้แจงว่าเหตุที่ท่านขายวังของท่านคือวังกรมหลวงชุมพรนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการใช้จ่ายรับรองอะไรต่างๆมาก เพราะฉะนั้นก็ใคร่จะขายเสีย”[8]
อย่างไรก็ตามผลการประชุมผ่านไปอีก 1 วันก็ยังไม่มีข้อยุติอยู่ดี สถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ทำให้รัฐบาลได้ลาออกทั้งหมด ในขณะเดียวกันคณะผู้สำเร็จราชการก็ลาออกอีก จึงไม่มีผู้กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ในการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐบาล และก็ไม่มีรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
แต่ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าการกระทำของคณะผู้สำเร็จราชการที่นำเอาที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์มาตัดแบ่งขายให้กับนักการเมืองในราคาถูกๆ นั้น เป็นเรื่องที่มีความอื้อฉาวและเป็นมลทินครั้งสำคัญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำถามมีอยู่ว่าคนที่พร้อมที่จะเข้ามาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง จะต้องเป็นคนลักษณะแบบใด
ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการจึง “เปลี่ยนใจ” ทำหนังสือ“ถอน”หนังสือลาออก โดยอ้างว่าหนังสือเดิมที่เขียนว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นดัดแปลงเนื้อความอธิบายเป็นว่า ใคร่“จะ”ขอลาออก โดยพ่วงเงื่อนไขว่าถ้าสภาเห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน
ทั้งนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2480 ถึงหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งลาออกไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจมีเนื้อความว่า
“พระที่นั่งบรมพิมาน
วันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480
ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ด้วยตามที่ข้าพเจ้าทั้งสาม ได้แสดงความประสงค์ว่าถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน ในเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ข้าพเจ้าคอยมติของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับตอบในเรื่องนี้อยู่จนบัดนี้ก็ยังหาได้รับตอบเป็นการเด็ดขาดประการใดไม่
บัดนี้ ทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 และบรรดาข้าราชการทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก ต่างได้มาร้องขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะนี้ได้คงดำรงตำแหน่งนี้สืบต่อไปอีก เพราะปรากฏว่าในขณะที่มีเหตุนี้ขึ้น การเงินและการค้าของประเทศระส่ำระสายและตกต่ำลงทันที โดยเหตุที่ประเทศนี้ไม่มีผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ และไม่มีรัฐบาลอันแน่นอนที่จะบริหารราชการต่อไป กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศต่างมีความวิตกในเหตุการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อสภาพการณ์เป็นดั่งนี้ หากมีการฉุกเฉินประการใดเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าทั้งสามก็ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นแน่แท้
ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขและความเรียบร้อยของประเทศชาติและประชาชนชาวสยาม ข้าพเจ้าทั้งสามจำต้องขอถอนหนังสือแสดงความประสงค์ที่จะลาออกนั้นเสียจนกว่าจะได้ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และเมื่อเหตุการณ์ได้สงบเรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยังมีความข้องใจในตัวข้าพเจ้าทั้งสาม และสมควรจะดำเนินการต่อไปประการใดอีกก็แล้วแต่จะเห็นควร
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน” [9]
ปรากฏว่าหลังจากการอ่านหนังสือดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกันในการตีความและวินิจฉัยในหนังสือการลาออกที่ผ่านมากันอย่างหนัก ระหว่างคำว่า “ใคร่”ขอลาออก ในหนังสือฉบับแรก และ “ใคร่จะขอลาออก” ในหนังสือครั้งหลัง จะมีผลทำให้การลาออกที่ผ่านมามีผลหรือไม่ โดยมีการเทียบเคียงกับการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ไม่ได้มีผู้สนองพระบรมราชโองการในการสละราชสมบัติเช่นกัน
ผลปรากฏว่าภายหลังมีการถกเถียงกันอยู่นาน ที่ประชุมสภาจึงได้มี “การประชุมภายในระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง (ไม่เปิดเผย) จนเลิกการประชุมเวลา 21.10 น.[10]
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบให้คณะผู้สำเร็จราชการออกได้ 47 คะแนน และฝ่ายที่เห็นว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการลาออกไม่ได้ 29 คะแนน [11]
ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอชื่อ “เจ้า” ผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ, หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ฯ
หลังจากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (ตามการพูดคุยเป็นการภายใน) ตามลำดับ ดังนี้ พระองค์อาทิตย์ฯ ที่ 1 ได้ 40 คะแนน, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ ได้ 24 คะแนน, หม่อมเจ้าวิว้ฒน์ไชย 1 คะแนน, และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ 3 คะแนน ดังนั้นที่ประชุมได้เลือกพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง [12]
ส่วนคนที่สอง ที่จะต้องพิจารณาจากทหารนั้น ที่ประชุมเสนอชื่อ โดยตกลงกันว่าถ้าคะแนนคนที่หนึ่งไม่รับก็ให้ได้แก่คนที่ได้คะแนนเป็นที่สองตามลำดับ
ผลการลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 ซึ่งต้องเป็นทหาร ตามลำดับคือ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ได้คะแนนมากที่สุด 37 คะแนน, เจ้าพระยาพิชเยนทร 26 คะแนน และพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 คะแนน[13]
ส่วนคะแนนเลือกผู้สำเร็จราชการคนที่ 3 ซึ่งต้องมาจากผู้ที่เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงคะแนนเรียงลำดับจากมากที่สุด คือ เจ้าพระยามหิธร 26 คะแนน, เจ้าพระยายมราช 23 คะแนน และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ 20 คะแนน [14]
ภายหลังการลงมติแล้ว พลโทพระยาเทพหัสดิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครได้รับมอบหมายจากสภาผู้แทนราษฎรให้ไปทาบทามผู้ที่ถูกเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการให้มาดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯได้ปรึกษากับพวกแล้วว่าจะรับตำแหน่ง แต่อยากจะขอให้ได้คณะผู้สำเร็จราชการชุดเดิมเท่าที่จะเป็นได้ โดยที่จะขอมีเจ้าพระยาพิชเยนทรร่วมด้วยเป็นอย่างน้อย ในขณะที่เจ้าพระยามหิธรฯได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเพราะท่านแจ้งว่าอายุ 72 ปี ชราแล้ว [15]
ในค่ำวันนั้นเดียวกันภายหลังจากได้ทราบความประสงค์ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มาประชุมกันอีกครั้ง ผลปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังคงเปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการที่เหลือและลงมติกันอีกครั้ง
โดยคราวนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้คะแนน 42 คะแนน มากกว่าเจ้าพระยายมราช ซึ่งได้ 37 คะแนน [16] ในขณะที่ผู้สำเร็จราชการที่เป็นทหารนั้น เจ้าพระยาพิชเยนทรฯ ได้ 50 คะแนน มากกว่าหลวงพิบูลสงครามซึ่งได้ 16 คะแนน ในขณะที่พระยาพหลฯ ได้เพียง 2 คะแนน[17]
ต่อมาในวันรุ่งขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งว่า
“ตามที่ประชุมได้ตกลงให้เลือกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินเป็นผู้สำเร็จราชการคนหนึ่งนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้ทราบจากเจ้าคุณเทพหัสดิน ซึ่งไปทาบทามแล้ว ท่านก็รับ เพราะฉะนั้นข้อนี้ไม่เป็นการขัดข้อง”[18]
แต่ด้วยการสื่อสารในยุคนั้นยังล่าช้า เมื่อพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไม่ได้อยู่ที่พระนคร การทาบทามจึงใช้วิธีการสื่อสารด้วยโทรเลข โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมโทรเลขของพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ฉบับหนึ่งที่ตอบโทรเลขกลับมาความว่า
“ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขของท่านกับได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถอนใบลาแล้ว เรื่องคงสวนกัน อนึ่งหน้าที่สำคัญนี้ ข้าพเจ้าวิตกว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าขอขอบใจ”[18]
ปรากฏว่าที่ประชุมได้ตีความโทรเลขดังกล่าวไปในทิศทางต่างๆกัน บางคนก็ตีความว่าเป็นเพราะพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคงจะไม่ทราบความเป็นไปในสภาในสถานการณ์ล่าสุด บางคนก็ตีความว่าคงเป็นการปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง คราวนี้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติ 41 คะแนนว่าไม่ต้องโทรเลขไปสอบถามอีกหน ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 32 คะแนนว่าต้องโทรเลขสอบถามไปอีกครั้งเพื่อความชัดเจน [19]
แต่ในที่สุดภายหลังการถกเถียงกันอีกก็ได้ปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการเสนอชื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้เข้ามาเป็นตัวเลือกอีกจำนวน 36 คะแนน ในขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 28 คะแนน ทำให้ชื่อของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกลับมาถูกเสนอเป็นคู่แข่งกับเจ้าพระยายมราชอีกครั้งหนึ่ง [20]
และผลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้มีคะแนนมากกว่าเป็น 42 คะแนน มากกว่าแบบฉิวเฉียดเมื่อเทียบกับเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ 39 คะแนน คราวนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจะเป็นผู้เขียนโทรเลขไปสอบถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีด้วยตัวเอง [20]
2 ทุ่มของคืนเดียวกันนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้รับโทรเลขจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้วความว่า
“เมื่อบ้านเมืองเรียกใช้จริงๆ ข้าพเจ้าไม่มีหนทางปฏิเสธเลย และรับสนองคุณตามสติปัญญาและความสามารถ ข้าพเจ้าจะกลับพรุ่งนี้”[21]
หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจำเป็นต้องขอพบเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอีกครั้งหนึ่งก่อนเพื่อความชัดเจน (ทั้งๆที่ข้อความในโทรเลขดังกล่าวมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว) จนเป็นที่สงสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนและเห็นว่าควรจะยุติและประกาศได้แล้ว
ต่อมาเช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าได้พบกับ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แล้วเมื่อประมาณบ่ายสามของ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ว่า
“ท่านแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดๆ นี่ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง เมื่อสภาฯกรุณาเชิญท่านเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ยังไม่รับจะทำ ถ้าแม้ว่าบ้านเมืองต้องการท่านจริงๆ ท่านจึงจะทำ”[22]
พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ต่อหน้าคุณหลวงคหกรรมฯ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไปด้วยว่า คำว่าบ้านเมืองนั้นคือใคร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ตอบว่า
“บ้านเมืองคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอำนาจทุกฝ่าย คือคณะรัฐมนตรี อำนาจทางศาล และอำนาจทางสภาฯ”[22]
ซึ่งความหมายข้างต้นก็น่าจะแปลความได้ว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีต้องการจะส่งสัญญาณว่าการจะรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการจะต้องเป็นความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่มีการขัดแย้งกัน
จากนั้นพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้สรุปแปลความหมายของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงพระเยาว์ คณะรัฐมนตรีก็ลาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะหวังให้มีอำนาจอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านปฏิเสธไม่ยอมรับโดยโทรเลขฉบับนี้ ประกอบกับที่ข้าพเจ้าและหลวงคหกรรมไปพบกับท่าน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรแล้ว ขอให้เลือกกันใหม่ดีกว่า ใครจะเสนอใครก็เสนอมา”[22]
จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ไม่ต้องมีการโหวตอะไรแล้ว 25 คะแนน มากกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย 20 คะแนน โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมข้อที่ 2 ที่ว่าถ้ามีข้อเสนอเพียงคนเดียวก็ให้ได้รับเลือกโดยใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร [23]
จึงเป็นอันยุติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 8 วัน จบลงที่การเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “กลับมาเหมือนเดิมทุกประการ” คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ, โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพลเอก พระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)ร่วมเป็นผู้สำเร็จราชการ
แต่ “เบื้องหลัง” การกลับเข้าสู่อำนาจดังเดิมได้นั้น ปรากฏเป็นบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี ว่า
“ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปในขณะนั้น คณะผู้สำเร็จราชการฯและเจ้าคุณพหลฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากทหาร ฉะนั้น เมื่อลาออกพร้อมกันเช่นนี้ ฝ่ายพลเรือนในรัฐบาลคงจะคิดว่าจะได้อิทธิพลมากขึ้น จึงขอให้รีบรับใบลาออกโดยเร็ว โดยหวังว่าจะเสนอผู้อื่นเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ และนายกรัฐมนตรีแทน
แต่หลวงพิบูลฯ ดำเนินการให้ฝ่ายทหารรีบให้กำลังสนับสนุนคณะผู้สำเร็จราชการฯ และพระยาพหลฯมากขึ้น ฉะนั้นทุกๆอย่างก็กลับไปเป็นอย่างเรียบร้อย” [24]
ถ้าเป็นจริงตามนี้ ประกอบกับข้อมูลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามต่อต้านของ “คณะราษฎรสายพลเรือน”ที่เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ที่จะพยายามจะเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการ แต่อาจไม่สามารถทัดทานอิทธิพลคณะราษฎรสายทหารในเวลานั้นได้
หลังจากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือถึงพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งการแต่งตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยสรุปเอาไว้ตอนท้ายว่า
“สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พอใจในความบริสุทธิ์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเมื่อหลักฐานเช่นนี้แล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็จะได้ดำเนินการจัดตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
จึ่งขอแจ้งมาให้ท่านทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการต่อไป
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [25]
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2480 สภาผู้แทนราษฎรเปิดวาระการลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งแม้ที่ประชุมจะยังคงติดใจในเรื่องการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ แต่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา โดยไม่ใช่คนของรัฐบาลแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมจึงลงมติเสียงข้างมากไว้วางใจรัฐบาลชุดใหม่นี้ [26]
ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมการ และพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) พระยาอัครราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์) และพระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) [27]
แต่ต่อมาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร ณ สงขลา) ได้ขอถอนตัวออกจากการเป็นประธานกรรมการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติแต่งตั้งพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) เป็นประธานกรรมการแทน และแต่งตั้งพระยาพลางกูรธรรมพิจัย (เผดิม พลางกูร) เป็นกรรมการเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง
ผ่านไปเกือบ 6 เดือนปรากฏว่าเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อติดตามผลการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ซึ่งรัฐบาลเคยแจ้งว่าจะแถลงให้สภาฯทราบ จึงขอให้รัฐบาลตอบเป็นการด่วน โดยถามทั้งสิ้น 4 ข้อ กล่าวคือ
“1.ผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ รัฐบาลจะแถลงให้สภาฯทราบโดยวิธีใด
2.คำวินิจฉัยของคณะกรรมการนั้น รัฐบาลนี้ได้ปฏิบัติตามหรือไม่ประการใด ขอให้แจ้งเป็นรายละเอียด
3.ทราบว่าบางส่วนคณะกรรมการไม่กล้าวินิจฉัย เช่นในเรื่องการกระทำของส่วนของท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บางอย่างคณะกรรมการอ้างว่า เกรงจะเป็นการหมิ่นประมาท สำนวนเช่นนี้ทำให้เห็นโน้มเอียงไปว่าพระองค์ท่านมัวหมองอยู่ในตัวซึ่งหน้าที่รัฐบาลจะหาทางให้วินิจฉัย ให้กระจ่างได้โดยวิธีหนึ่ง จึงจะควรเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ท่าน ขอทราบว่ารัฐบาลดำริหรือไม่ประการใด
4.รัฐบาลคิดว่าเป็นการชอบธรรมถูกต้องดีแล้วหรือยัง มีอะไรที่ควรวินิจฉัยอีกในเรื่องพระคลังข้างที่ตามที่รัฐบาลตอบกระทู้ และกล่าวในการเปิดอภิปรายเมื่อปีกลายเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอทราบโดยละเอียด เพราะข้าพเจ้าข้องใจอยู่เป็นอันมาก” [28]
พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบว่า
“ข้อ 1 และข้อ 2 ขอตอบรวมกันว่า รัฐบาลชุดเก่าได้มีหนังสือนำส่งสำเนารายงานของคณะกรรมการไปยังประสานสภาผู้แทนราษฎร และได้เรียนไปด้วยว่า ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว
ส่วนข้อ 3 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายว่า คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเสร็จแล้วเรื่องก็เป็นอันเสร็จสิ้นไป การที่คณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามเหตุผลที่คณะกรรมการให้ไว้ในรายงาน ซึ่งรัฐบาลได้โฆษณาแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่าพระองค์ท่านมีความมัวหมองแต่อย่างใด
ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยตามความชอบธรรมแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้จึงไม่เห็นมีอะไรต้องวินิจฉัยอีก”
แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่าคำตอบดังกล่าวนั้นยังไม่ชัดเจน จึงได้ขอให้ชี้แจงรายละเอียดว่าคณะกรรมการได้ระบุให้คืนที่ดินที่ใดและจำนวนเงินเท่าใด และได้ดำเนินการทำไปแล้วทุกกรณีหรือไม่อย่างไร และคณะกรรมการยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องการกระทำของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จริงหรือไม่อย่างไร
ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยไปนั้น รัฐบาลได้กระทำไป “เกือบหมดแล้ว”
แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่ายังไม่ชัดเจนอีกและเรียกร้องให้ชี้แจงรายละเอียด ว่ารายไหนที่ยังไม่ได้ทำ และรายไหนทำไปแล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจำไม่ได้ในเวลานี้
สำหรับประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมสภาว่าได้กระทำตามคณะกรรมการวินิจฉัยไป “เกือบหมดแล้ว” แต่กลับ “จำไม่ได้”นั้น มีความหมายว่าอย่างไรระหว่าง จำไม่ได้เพราะมีจำนวนที่ยังไม่ได้คืนหลายรายเกินกว่าที่จะจำได้ หรือ เป็นเพราะว่ามีจำนวนที่ดินที่ยังไม่คืนนั้นไม่มากแต่ไม่ต้องการจะแจ้งที่ประชุม?
นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเป็นครั้งที่สองว่า ให้ทำการโฆษณาเผยแพร่รายงานผลการสอบสวนจะทำได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ระบุว่า แล้วแต่สภาฯ
สุดท้ายคือ นายเลียง ไชยกาล เสนอให้เสนอกฎหมายสู่สภาฯ ให้อำนาจกรรมการวินิจฉัยในเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการชุดเดิมอ้างว่าไม่กล้าวินิจฉัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า รัฐบาลไม่เห็นเหตุผลที่จะทำไปเช่นนั้น
เมื่อถามกระทู้ครบสามหนแล้ว พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตัดบทและแจ้งว่าจะไม่แจกรายงานฉบับเต็มนี้ในที่ประชุม โดยอ้างว่าเป็นสภาคนละชุดกัน ให้อ่านตามที่รัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์แบบสรุปตามข้างต้น ความว่า
“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ ข้าพเจ้าได้รับรายงานก่อนใครๆหมด เมื่อกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว รัฐบาลชุดเก่าได้ส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้อ่านเสร็จแล้วก็เก็บใส่ตู้ลั่นกุญแจไว้ และคอยฟังว่าเขาจะเปิดเผยแค่ไหน
แต่เมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ รายงานของกรรมการนี้และได้เปิดเผยโดยทางหนังสือพิมพ์แล้ว มาถึงสภาฯชุดนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคนละชุดแล้ว ก็ท่านที่ตั้งกระทู้นี้ก็ทราบแล้วจากหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้แจก หรือไม่ได้พิมพ์รายงานของกรรมการแจก เพราะเป็นคนละชุดที่จะต้องรายงาน ถ้าสภาฯชุดเดิมยังอยู่ก็จำเป็นจะต้องชี้แจงให้สภาฯทราบ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนบุคคลจึงไม่ได้แจ้ง แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชี้แจงก็ถือว่าได้ทราบแล้ว” [28]
แต่เหตุการณ์ผ่านไป 83 ปี จึงได้คำชี้แจงของ พลโทสรภฏ นิรันดร ทายาทของขุนนิรันดรชัย อดีตราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินพระคลังข้างที่ตามความต้องการของหลวงพิบูลสงครามเฉลยว่า
ในความเป็นจริงไม่ได้มีการคืนที่ดิน เพราะแม้แต่ที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล ที่ขุนนิรันดรชัยได้มาจากที่ดินของพระมหากษัตริย์ก็ได้ใส่ไว้ในชื่อบุตรสาวคนหนึ่งตอนอายุ 6 ขวบ และเขียนบันทึกให้ส่งคืนขุนนิรันดรชัยเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยที่ดิน 2 แปลงนี้ยังคงเป็นมรดกของตระกูลนิรันดรจนถึงปัจจุบัน [29]
และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำไปว่าที่ดิน 90 แปลง ในกรุงเทพมหานคร ของตระกูลนิรันดรนี้[29] เป็นที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์กี่แปลง
ยังไม่รวมถึงคนอื่นๆอีกกี่คน ที่ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไป แต่ไม่ได้คืนทรัพย์สินจนถึงปัจจุบัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากผ่อนซื้อเป็นเช่า หรือได้ที่ดินไปโดยไม่ต้องซื้อ เพราะรายงานของคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จึงทำให้ยังคงเป็นรายงานซึ่งเป็นความลับอันมืดดำที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ มาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480 หน้า 301-347
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1
[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397
[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 316
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 319
[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2480 หน้า 349
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383978/13_24800728_wb.pdf?sequence=1
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 350
[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2480 หน้า 356
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383979/14_24800729_wb.pdf?sequence=1
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 361
[9] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 31 กรกฎาคม 2480 หน้า 366-367
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383980/15_24800731_wb.pdf?sequence=1
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 412
[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 435
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383981/16_24800801_wb.pdf?sequence=1
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 447
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 448
[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 450
[15] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 455
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383982/17_24800801_wb.pdf?sequence=1
[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 460
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 464
[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 466
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383983/18_24800802_wb.pdf?sequence=1
[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 469
[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 472-473
[21] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 474
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383984/19_24800802_wb.pdf?sequence=1
[22] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 4 สิงหาคม 2480 หน้า 479
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383986/20_24800804_wb.pdf?sequence=1
[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 480
[24] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397-398
[25] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี, วันที่ 8 สิงหาคม 2480 หน้า 484-485
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383987/21_24800808_wb.pdf?sequence=1
[26] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, วันที่ 11 สิงหาคม 2480 หน้า 500-501
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383988/22_24800811_wb.pdf?sequence=1
[27] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480
[28] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ โดยนายเลียง ไชยกาล, วันที่ 8 มีนาคม 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 1551-1556
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/384455/24_24800308_wb.pdf?sequence=1
[29] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139