xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงของรัฐซ้อนรัฐ คือความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


ทักษิณ ชินวัตร เพิ่งให้สัมภาษณ์สื่อว่า ก่อนนี้เขาไม่รู้ว่าไทยคือรัฐซ้อนรัฐ เพราะเติบโตที่เชียงใหม่ เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จากนั้นก็ไปต่างประเทศ และกลับมาทำธุรกิจ จึงเดียงสาและไม่เข้าใจสภาวะรัฐซ้อนรัฐของไทยมากนัก จนกระทั่งโดนขับไล่ ก็แทบจะไม่เชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้

“เราคือรัฐซ้อนรัฐที่มีบางอย่างอยู่ด้านหลัง เวลาที่คุณแข็งแกร่ง คุณจะไม่มีปัญหากับพันธมิตร พวกเขาจะซื่อสัตย์ตั้งใจทำงาน แต่พอรัฐซ้อนรัฐเริ่มทำงาน นั่นคือเวลาที่คุณต้องระมัดระวัง” ทักษิณ กล่าว

ทักษิณ ระบุว่า กว่าที่เขาจะรู้ว่ารัฐซ้อนรัฐเริ่มทำงานและเริ่มไม่ชอบเขา ก็เป็นช่วงปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรก เนื่องจากเวลานั้นเริ่มมีการประท้วงที่ผิดปกติเกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นเขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาใหม่โดยมีที่นั่ง ส.ส. ในสภา 377 ที่นั่ง แต่ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขากลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเอง

รัฐซ้อนรัฐที่ทักษิณพูดนั้นมีอยู่จริงแน่ เช่นเดียวกับคนและทุกสรรพสิ่งที่ต้องมีเงาของตัวเอง แต่คำถามว่าทักษิณถูกเล่นงานจากรัฐซ้อนรัฐในความหมายของเขาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยหรือ ทักษิณถูกเล่นงานจากรัฐซ้อนรัฐเพียงเพราะไม่ชอบเขาเท่านั้นหรือ ซึ่งถ้าใครไม่ลืมสิ่งที่ทักษิณทำในช่วงที่เขาเรืองอำนาจก็ต้องตอบว่าไม่ใช่หรอก แต่เขานั่นแหละที่สร้างรัฐซ้อนรัฐขึ้นมาเอง หรือพูดว่ารัฐซ้อนรัฐก็คือเงาของเอง 
 
เเอร์นสท์ แฟรนเคล นักรัฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Dual State: A Contribution to the Theory of Dictatorship ให้คำนิยามรัฐซ้อนรัฐว่าเป็น ระบบการทำงานของรัฐ 2 แบบที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไประหว่าง “รัฐอุดมการณ์” กับ “รัฐอำนาจพิเศษ” โดยรัฐอุดมการณ์หมายถึง รัฐที่ปกครอง รักษาระเบียบ สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย และรัฐอำนาจพิเศษ หมายถึง รัฐที่ใช้อำนาจฉ้อฉล ปิดบังซ่อนเร้น และไม่สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

จะเห็นได้ว่า ทักษิณใช้อำนาจทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันในช่วงที่เขามีอำนาจเขาใช้อำนาจฉ้อฉลอย่างเห็นได้ชัดในการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของเขา เขาแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง และดำเนินนโยบายอย่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่เรียกว่าทุจริตเชิงนโยบาย ดังนั้นเขานั่นแหละที่แอบใช้อำนาจที่ซ้อนอยู่เพื่อสร้างประโยชน์ที่มิชอบให้กับตัวเอง

น่าขบขันที่ทักษิณกล่าวว่าเขาถูกรัฐซ้อนรัฐขับไล่ ทั้งที่จริงแล้วอำนาจของมโนธรรมสำนึกต่างหากที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาขับไล่เขา ถ้าเขาบอกว่านี่เป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐ ก็อาจจะใช่ถ้าการกระทำของเขาซึ่งเป็นเงาของตัวเองที่ตามหลอกหลอนเขา

หรืออาจพูดได้ว่า การที่ทักษิณบอกว่า กลายเป็นเหยื่อของความสำเร็จของตัวเองนั่นก็เพราะการหลงในอำนาจของเขาเอง

อำนาจซ้อนรัฐที่ทักษิณพูดมีอยู่จริง แต่เกิดจากภาวะในจิตใจของผู้มีอำนาจนั่นแหละ ด้านหนึ่งแสดงตัวเหมือนกับการยึดกฎเกณฑ์ระเบียบของรัฐ อีกด้านก็ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเท่าที่มีโอกาส หรือพูดได้ว่า เขานั่นแหละคือรัฐซ้อนรัฐของตัวเอง

ที่พูดเช่นนี้มิใช่ว่าจะไม่เข้าใจ รัฐซ้อนรัฐ หรือรัฐพันลึก หรือ deep state อย่างที่นักวิชาการเช่น ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า “รัฐพันลึกเหมือนกับรัฐปกติ ที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว ภายในรัฐพันลึกก็มีมุ้งต่างๆ แก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ แต่มีข้อต่างคือ รัฐปกติมองเห็นด้วยตา แต่รัฐพันลึกแฝงหลบอยู่ลึกก้นบึ้ง และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ จึงเป็นกรอบโครงแบบไม่เป็นทางการ ในการรักษาหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ด้านสถาบันของกลุ่มบุคคล ที่มีเป้าประสงค์ร่วมกัน ทั้งผู้ที่อยู่ในรัฐปกติ และที่อยู่ในเครือข่ายนอกรัฐที่จะยึดโยงกันไว้ในการกระทำการ เพื่อเป้าประสงค์ในการรักษาผลประโยชน์ที่ว่านั้น

แนวคิดรัฐพันลึก มักถูกใช้อธิบายกลุ่มอำนาจที่ร่วมกันต่อต้านขบวนการประชาธิปไตย หรือการเมืองเปิดที่ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมสูง มักประกอบด้วยกลุ่มทหาร ตำรวจ ตุลาการ ที่มีตำแหน่งหน้าที่บริหารราชการในรัฐปกติอยู่แล้ว แต่ยังร่วมทำกิจกรรมแอบแฝงที่มีอำนาจเหนือรัฐปกติ โดยกระทำการแบบไม่เปิดเผย หรือทำแบบลับๆ รัฐพันลึกสามารถสร้างสถานการณ์ เพื่อสั่นคลอนรัฐปกติ หรือเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐปกติ”

เหมือนที่ทักษิณเชื่อว่าการชุมนุมชองพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาขับไล่เขานั้นก็คือ อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐพันลึก ซึ่งถ้าพูดกันไม่อ้อมค้อมพวกเขาก็มีความเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั่นแหละที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งบางครั้งก็พูดเพื่ออำพรางข้อจำกัดทางกฎหมายว่าเป็นพวกศักดินา หรือมือที่มองไม่เห็น

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงเรื่องรัฐพันลึกไว้อย่างน่าสนใจว่า “เรื่องแรก แนวคิดนี้มีแหล่งกำเนิดมาจาก “กลุ่มจำเพาะ” ที่ต่อต้านอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่เรียกว่า “นักวิชาการเสื้อแดง” จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าจะมี “เป้าหมายจำเพาะ” อะไรหรือไม่

เรื่องต่อมา การมุ่งเป้าไปในสถาบันและองค์กรระดับสูง โดยแสดงนัยยะว่าสถาบันและองค์กรเหล่านี้อยู่เบื้องหลังของความวุ่นวายและนำมาสู่การทำรัฐประหาร น่าจะเป็น “เป้าหมายจำเพาะ” ดังกล่าว

และเรื่องสุดท้าย มีการใช้คำให้น่าสนใจ ดึงดูดคนรุ่นใหม่ และเร้าใจเพื่อสร้างกระแสอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะ “การรื้อล้างระบบ” อันเป็น “กระบวนทัศน์” ที่นักวิชาการเหล่านี้พยายามแสดงออกมาโดยตลอด

อาจารย์ทวีกล่าวว่า “ผู้เขียนไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ที่สนใจแนวคิด “โพสต์โมเดิร์น” อะไรมากนัก แต่การที่มีนักวิชาการบางกลุ่มออกมาสร้างวาทกรรมในแนวที่ “ไม่ส่งเสริม” แถมยังเป็นการ “ทำลายล้าง” ระบบที่เป็นแกนหลักต่างๆ ของบ้านเมือง โดยนำเสนอในทำนองว่าเป็น “สิ่งลึกลับ” และชอบ “แอบซ่อน” อยู่ที่ก้นบึ้งของอำนาจรัฐ ที่คอยหาโอกาสแสดงอิทธิพลต่อความเป็นไปของบ้านเมือง ด้วยเล่ห์เพทุบายและผลประโยชน์ชั่วร้ายต่างๆ ดังที่เรียกอำนาจลึกลับเหล่านี้ว่า “รัฐพันลึก” แต่ในแนวทางที่คนกลุ่มนี้ได้อธิบายเชื่อมโยง อาจจะทำให้คนที่มีความรู้ในคำไทยพื้นๆ อย่างผู้เขียน คิดไปไกลๆ ได้ว่าคนกลุ่มนี้อาจจะตั้งใจให้เรียกว่า “รัฐพิลึก” นั้นมากกว่า

หรือว่าเขาต้องการให้สิ่งที่เราเทิดทูนกลายเป็น “ตัวตลก” เพื่อ “ทำลายล้าง” ต่อไป”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทวี เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 แล้วเราก็เห็นปรากฏการณ์นี้เป็นจริงในปี 2563 เมื่อเราเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เพราะพวกเขาถูกปลูกฝังความเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในวิทยานิพนธ์กุเรื่องของ ณัฐพล ใจจริง ซึ่งเป็นเรื่องในอดีต จนมาถึงเชื่อว่า อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ทำให้พวกเขาปิดบังพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ไป

ต้องยอมรับว่า การพยายามระดมนักวิชาการและสร้างสำนักคิดอย่างฟ้าเดียวกันของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อคนรุ่นใหม่ และสร้างตัวเองให้ก้าวขึ้นเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่จะมานำพาพวกเขาออกจากสิ่งที่สำนักคิดฟ้าเดียวกันมอมเมาให้คนรุ่นใหม่เชื่อ

เราเห็นคนรุ่นใหม่กล้าที่จะหมิ่นแคลนพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำมาตลอด 70 ปีในการขึ้นครองราชย์ เพราะเชื่อสิ่งที่พวกเขาถูกมอมเมาปลูกฝังและปลุกปั่นเอาไว้ ทั้งที่คนรุ่นใหม่ศรัทธาและเชื่อมั่นนั้นไม่เคยทำประโยชน์อะไรที่เป็นรูปธรรมให้ปรากฏมาก่อนนอกจากวาจาและโวหารที่ราวกับเสกมนต์คาถากล่อมเหล่าสาวกที่งมงายเท่านั้นเอง

ดังนั้นรัฐพันลึกหรือรัฐซ้อนรัฐ มันอาจจะเกิดจากระบบหรือกระทั่งเกิดจากคนๆเดียวกันที่ใช้อำนาจทั้งสองทางแล้วแต่ถูกปลุกปั่นให้เชื่อ ลองคิดและหันไปทบทวนสิว่า สิ่งที่ทำให้ทักษิณล่มสลายและประชาชนออกมาขับไล่นั้นเป็นเพราะรัฐซ้อนรัฐที่คอยบงการอยู่ข้างหลัง หรือเพราะจริงแล้วเกิดจากรัฐซ้อนรัฐในตัวของทักษิณเองที่ด้านหนึ่งเหมือนกับเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่อีกด้านก็ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเสียเอง

แน่นอนในยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราก็เห็นรัฐซ้อนรัฐที่เกิดจากเงาของพล.อ.ประยุทธ์เอง ไม่เช่นนั้นบ่อนเถื่อน แรงงานผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมืองคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนกลายเป็นปัญหาของบ้านเมืองในตอนนี้ ซึ่งจะโทษใครไม่ได้นอกจากต้องโทษตัวของพล.อ.ประยุทธ์ที่ปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากอำนาจที่อาจเชื่อมโยงไปถึงคนใกล้ตัวหรือไม่ก็แกล้งหรี่ตาบอดใบ้เสียเอง

ดังนั้นรัฐซ้อนรัฐที่น่ากลัวก็คือ ด้านมืดที่ซ่อนอยู่ใต้ก้นบึ้งจิตใจของผู้มีอำนาจ การผูกขาดอำนาจเอาไว้แก่วงศ์วานพรรคพวกของตัวเอง การใช้อำนาจรัฐแสวงหาประโยชน์มิชอบและฉ้อฉล เพียงแต่วันนี้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นชาญวิทย์ เกษตรศิริ ธงชัย วินิจจะกูล เกษียร เตชะพีระ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ ร่วมกับธนาธร ทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่า รัฐพันลึกที่น่ากลัวกว่าก็คือ อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงแทรกแซงอยู่เบื้องหลังการเมือง และประสบความสำเร็จในการทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย

น่าแปลกคนรุ่นใหม่สามารถบูชาหรือคลั่งไคล้ใครก็ได้ที่ปรากฏตัวเปรี้ยงปร้างขึ้นมาในโซเชียลมีเดียในชั่วข้ามคืน และเชื่อในประวัติศาสตร์เพียงแค่ที่เขาเขียนตัดตอนให้เชื่อและเล่าให้ฟัง หมิ่นแคลนเหยียดหยามสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง โดยไม่ได้ศึกษาว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นมันจริงแท้แค่ไหน และมองความจริงในสิ่งที่บรรพบุรุษของตัวเองรับรู้มาว่าเป็นความคิดของไดโนเสาร์


โดยไม่ได้ใส่ใจว่า สิ่งที่น่ากลัวที่เป็นรัฐซ้อนรัฐที่อันตรายกว่าก็คือ จิตใจด้านมืดที่พร้อมจะใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลตอนที่ผู้นั้นมีอำนาจนั่นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น