xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! (ตอนที่ 10) ปรีดี ค้านหนักจอมพล ป.ทำตัวเทียมกษัตริย์ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


 ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2469 ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นได้มีการประชุมกันครั้งแรกของคณะราษฎรติดต่อกัน 5 วัน 4 คืน ที่ประเทศฝรั่งเศส

ร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม ได้เสนอว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วให้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (ยิงให้หมดเลย)ไม่เช่นนั้นจะเหมือนตีงูให้หลังหักจะแว้งกัดได้ในภายหลัง [1],[2]

ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนได้คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ[1] หากกระทำเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเหมือนการปฏิวัติรัสเซีย[2] และการปฏิวัติที่อังกฤษ

โดยช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ยังไม่ได้สละราชสมบัตินั้น ปรากฏว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้จัดทำหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต และตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 เพื่อใช้ไว้สอนแก่นิสิตและนิสิตาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหนังสือดังกล่าวนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ก็ได้เขียนคำนำเอาไว้ตอกย้ำแนวคิดและจุดยืนของตนเองเอาไว้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ฆ่ากษัตริย์และเปลี่ยนแบบการปกครอง ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับประเทศสยาม ความตอนท้ายว่า

“เมื่อจุดหมายแห่งการปฏิวัตร์ในประเทศฝรั่งเศสมีในเรื่องแบบ เมื่อเปลี่ยนแบบแล้ว ปัญหาบุคคลที่จะเป็นประมุขหรือหัวหน้าการปกครองก็ย่อมเกิดขึ้นไม่รู้จักจบ และนำความหายนะมาสู่ประเทศชาติได้ ตัวอย่างอันไม่ดีแห่งการปฏิวัตร์อย่างไม่สมบูรณ์ (Revolution imparfaite) เช่นนี้ ไม่ควรนำมาใช้สำหรับประเทศสยาม”[3]  แนวคิด ลัทธิชาตินิยมนำโดยทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม” กับ แนวคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” แม้จะมีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนกัน และเป็นเพื่อนเสี่ยงตายมาด้วยกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในแนวคิด โดย “หลวงพิบูลสงคราม” มีความเชื่อในลัทธิชาตินิยมที่อาจมีอิทธิพลอยู่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ก็ถูก “ระแวง” ความคิดในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ในท้ายที่สุดหรือไม่

อย่างไรก็ตามในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่สงบนิ่ง บทบาทโดยอาศัยกำลังทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม”มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของคณะราษฎรมากกว่าสายพลเรือนในช่วงแรก โดย “หลวงพิบูลสงคราม”นั้นได้ผ่านสมรภูมิทหารสำคัญหลายเหตุการณ์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้ “อัตตา” ของ “หลวงพิบูลสงคราม” เพิ่มมากขึ้น หรือมองอีกด้านหนึ่งต้องการเอกภาพในภาวะการนำสูงสุดให้มากขึ้น กล่าวคือ  
 
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม, และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) โดยระบุเหตุผลว่าเพราะรัฐบาลกระทำการเป็นเผด็จการ ทำลายระบอบใหม่ 
 
แต่เบื้องหลังที่มีการรัฐประหารในครั้งนั้น เพราะมีรายงานลับมาถึงพันโทหลวงพิบูลสงครามในขณะนั้น ว่าพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม เจ้ากรมยุทธการทหารบก เตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด จึงทำการชิงตัดหน้ารัฐประหารเสียก่อน ดังความปรากฏของในการเขียนคำไว้อาลัยและเบื้องหลังชีวิตการเมืองของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ โดย พลโทประยูร ภมรมนตรี ความตอนหนึ่งว่า 
 
“รุ่งขึ้นข้าฯ ไปพบท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามที่วังปารุสก์ ท่านกอดคอข้าฯ น้ำตานองบอกว่ายูรจำเป็นต้องทำ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงเพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อ หักหลังเตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้คุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนตัดมือและถูกฆ่า” [4]

วันที่ 12-25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ได้ยกทัพไปปราบ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือที่รู้จักในนาม “กบฏบวรเดช” เป็นผลสำเร็จ ทำให้ฐานะทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 
 
โดยภายหลังปราบ “กบฏบวรเดช” สำเร็จ ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาและพิพากษาคดีเกี่ยวกับกบฏและจลาจล โดยไม่มีอุทธรณ์และฎีกา และได้จับกุมคนกว่าหกร้อยคน พบว่ามีความผิดต้องโทษ 296 คน และมีโทษประหารชีวิต 6 คน และจำคุกตลอดชีวิต 244 คน[5] 
 
อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิเสธการลงพระนามให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตัดสินกันเอง จึงไม่สามารถนำตัวไปประหารได้ และเป็นชนวนสาเหตุหนึ่งในความขัดแย้งและระแวงกันอย่างรุนแรงตามมาอีกหลายประเด็น ระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช หลวงพิบูลสงครามได้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางการทหารในยุคนั้นอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ จนเวลาผ่านไป 5 เดือนหลังจากนั้น วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้เลื่อนยศจากนายพันโท[6] เป็นนายพันเอก[7] 
 
และในปีนั้นเอง วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง ในรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จากนั้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ก็ได้ยศทหารเรือเพิ่ม เป็นนายนาวาเอก[8] และได้ยศทหารอากาศเป็น นายนาวาอากาศเอก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2480 [9] 
   
สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจเกิดคำถามว่า เหตุใดจึงไม่เลื่อนชั้นยศของ “หลวงพิบูลสงคราม” และคณะให้สูงขึ้นไปมากกว่าพันเอก คงได้แต่เพียงยศพันเอกจากเหล่าทัพอื่นๆ ก็ได้คำตอบจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า 
 
“...เจตนารมณ์ของนายทหารผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนั้นต้องการให้กองทัพไทยดําเนินเยี่ยงกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองชายเป็นทหารรักษาท้องถิ่น คือ เป็นกองทัพของราษฎร ในการนั้นได้เริ่มทําไปเป็นเบื้องแรกแล้ว โดยกองทัพไทยในยามปกตินั้น นายทหารมียศสูงสุดเพียงนายพันเอก คงมีนายพลเพียงคนเดียวซึ่งเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และได้จัดระเบียบกองทัพตามเขตมณฑลและจังหวัด มิใช่ในรูปกองพล กองทัพน้อย กองทัพเหมือนสมัยระบอบสมบูรณาฯ...” [10]

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร 
 
หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ด้วยความระแวงต่อพันเอกพระยาทรงสุรเดช วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 จึงได้ทำการปลดพันเอกพระยาทรงสุรเดช (อดีตผู้ก่อการคนสำคัญในเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ และให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศที่ประเทศกัมพูชา 
 
ในขณะที่ หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวน 51 คน และ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เช่นเดียวกัน 
 
การพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษครั้งนั้น เป็นผลทำให้มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิต 25 คน มีโทษประหาร 21 คน แต่ให้คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คนเนื่องจากเคยประกอบคุณความดีให้แก่ประเทศชาติ (นายพันโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, นายพลโทพระยาเทพหัสดิน, และนายพันเอก หลวงชำนาญศิลป์) และได้ทำการประหารนักโทษ 18 คนทั้งหมด ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนได้เรียกว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ 18 ศพ” 
 
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศ เรื่องพระราชทานยศทหาร, ให้นายพล แด่ พันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี [11]
แต่ก็เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจึงได้มีเพื่อนร่วมเป็นนายพล 3 เหล่าทัพ อีก 2 คนได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วย ในขณะที่ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เป็นนายพลเรือตรี [11] 
 
ในช่วงเวลานี้ “หลวงพิบูลสงคราม” เริ่มแสดงตนเป็นผู้เลื่อมใสความเป็นผู้นำในลัทธิชาติอำนาจนิยม หรือรูปแบบฟาสซิสต์ ดังเช่น เบนิโต มุสโสลินี และฮิตเลอร์ โดย “หลวงวิจิตรวาทการ” รับหน้าที่เป็น โฆษกด้านอุดมการณ์ของรัฐบาล ได้มีส่วนสำคัญในการดำเนินการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของหลวงพิบูลสงครามอย่างต่อเนื่อง
โดยสำหรับประเด็นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้ข้อสังเกตนี้เอาไว้ผ่านบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า

“...ในระยะแรกที่พันเอก หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดําเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็น นายพลตรี” [10]
จากนั้นในบทความเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กล่าวถึงบรรดาผู้คนที่แวดล้อมของหลวงพิบูลสงคราม ที่ประจบประแจงเอาอกเอาใจจนทำให้หลวงพิบูลสงครามเคลิบเคลิ้มจนเสียคนและหลงในอำนาจ ความว่า

“ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาสสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส... 
 
ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจํากันได้ว่า 
 
หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นําละครมาแสดงและในบางฉาก ท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบํา - ฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบําฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้มาจุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย 

อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการ แสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้าแสดงอาการขวยเขิน แล้วได้หันไปประณมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ...”[10] 
 
ไม่เพียงแต่หลวงวิจิตรวาทการเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้กล่าวถึงคนอีก 4 คน ในบทความเดียวกันที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” ที่ช่วยกันประจบสอพลอ ความว่า 
 
“...ข้าพเจ้าเห็นว่า ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อย ๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่า จตุสดมภ์ ที่คอยยกยอปอปั้น ก็ทําให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้...”[10]

อย่างไรก็ตามแม้นายปรีดี พนมยงค์ จะไม่ได้กล่าวถึงว่าใครคือจตุสดมภ์ที่คอยยกยอปอปั้น “หลวงพิบูลสงคราม” แต่ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เรื่องรายชื่อผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ไว้เนื้อเชื่อใจ ความตอนหนึ่งว่า 
 
“ผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ฯไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เท่าที่ข้าฯได้สังเกตพบเห็นมี พล.ท.พระวิชัยยุทธเดชคนี พล.ท.พระประจนปัจนึก หลวงวิจิตรวาทการ หลวงสารนุประพันธ์ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นต้น” [12] 
 
แต่การยกยอ จอมพล ป.นั้นไม่ได้จบเพียงแค่ ”พลตรี” เท่านั้น แต่ได้ก้าวกระโดดจาก “พลตรี” กลายเป็น “จอมพล” โดยไม่ต้องผ่านจาก “พลโท” หรือ “พลเอก”เสียก่อนด้วย 
 
โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศสภายหลังมีการต่อสู้รบกัน ก็ได้มีลงนามในอนุสัญญาโตเกียว โดยประเทศญี่ปุ่นได้เป็นตัวกลางในการเจรจาในข้อพิพาทเรื่องดินแดนในอินโดจีนที่สยามถูกยึดไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 
 
อนุสัญญาโตเกียวนั้น ได้เป็นผลทำให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้แก่ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศส และได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง ยิ่งเป็นผลทำให้ชื่อเสียงและภาวะความเป็นผู้นำทางการทหารของหลวงพิบูลสงครามเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ (คณะผู้สำเร็จราชการ)โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามพร้อมด้วยคธาจอมพล และสายประคำทองคำอันคู่ควรแก่ตำแหน่งแม่ทัพสูงสุดเป็นเกียรติสืบไป [13] 
 
โดยความตอนหนึ่งในเรื่องนี้ได้ให้เหตุผลในพระบรมราชโองการคราวนั้นว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ออกหน้าแทนด้วยข้อความในราชกิจจานุเบกษาฉบับนั้นว่า 
 
“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ทราบอยู่แล้วว่า นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในกรณีที่ได้ปฏิบัติการไปในครั้งนี้จะไม่ยอมขอรับความชอบตอบแทน แต่ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า การพระราชทานความชอบครั้งนี้ หาใช่เป็นฉะเพาะตัวนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามไม่ แต่เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งได้ทำการมีชัย” [14] 
 
สำหรับการพระราชทานยศ “จอมพล” ครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตในบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความว่า 
 
“เมื่อได้มีการสงบศึกกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว มีผู้สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ขอพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้น หลวงพิบูลฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าและอีกหลายคนว่า จะคงมียศเพียงนายพลตรีเท่านั้น แต่คณะผู้สําเร็จราชการซึ่งเวลานั้นประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล โดยขอให้หลวงอดุลเดชจรัสช่วยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ 
 
เรื่องนี้หลวงพิบูลฯ มิได้รู้ตัวมาก่อน แต่เมื่อได้ทราบจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังไม่สมัครใจที่จะรับยศจอมพลนั้น และไม่ยอมไปรับคทาจอมพลจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน

ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้นําคทาจอมพลไปมอบให้จอมพล ป. ที่ทําเนียบวังสวนกุหลาบ ต่อมาคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดําเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นําประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

เราสังเกตได้ว่า ถ้าคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นจอมพลและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว หลวงพิบูลฯ จะมียศและมีตําแหน่งนั้นได้อย่างไร แม้จะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คณะผู้สําเร็จฯ ก็ปฏิเสธได้ เพราะร่างพระราชบัญญัติก็สามารถยับยั้งไม่ยอมลงนามได้ ปัญหาอยู่ที่คณะผู้สําเร็จฯ จะถือเอาประโยชน์ของชาติเหนือกว่าความเกรงใจหลวงพิบูลฯ หรือไม่” [10]

ข้อความข้างต้นคือเบื้องหน้าที่เห็นดูสวยงามและเต็มไปด้วยความเกรงใจที่ไม่กล้าจะรับยศอันสูงส่งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เบื้องหลังนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะอดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า

“ตอนที่ตั้งจอมพล ป.ฯ เป็นจอมพลนั้น นายประยูร ภมรมนตรี มาหาถามว่าเมื่อนายกมีความชอบมากมายเช่นนี้จะตั้งเป็นอะไร ข้าพเจ้าบอกว่าเมื่อเป็นพลตรีอยู่ก็ตั้งเป็นพลโท นายประยูรฯบอกว่าไม่ได้ ทางกองทัพไม่ยอม ต้องตั้งเป็นจอมพล และต้องให้สายสพายนพรัตน์ด้วย ข้าพเจ้าจึงว่าเมื่อกองทัพต้องการอย่างนั้นก็ตามใจ ผลสุดท้ายก็จึงแต่งตั้งให้เป็นจอมพล ป.ฯเป็นจอมพล ให้สายสพายนพรัตน์ตามที่กองทัพต้องการ การใช้อำนาจกองทัพมาขู่ข้าพเจ้านี้ใช้บ่อยเหลือเกิน” [15] 
 
ข้อความข้างต้นสอดคล้องกับ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ในทำนองเดียวเช่นกันว่าได้เคย พูดคุยกับ พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้นมีคณะผู้สำเร็จราชการเหลือเพียง 2 คน) ความว่า
“ท่านเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน ได้ปรารภกับข้าฯ สองต่อสองว่า รู้สึกเป็นห่วงแผ่นดินและราชบัลลังก์ ขอให้ข้าฯช่วยระมัดระวัง แล้วท่านกล่าวเสริมต่อไปว่า หลวงพิบูลสงครามยังไม่ควรจะได้รับยศถึงขั้นจอมพล ควรจะเป็นแต่เพียงพลเอกเป็นอย่างสูง เมื่อสงครามคราวนี้เสร็จแล้ว จะให้เป็นจอมพลก็เป็นการสมควร” [16] 
 
ต่อมาอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายคนชื่นชมรัฐบาลของจอมพล ป. ก็คือการที่จอมพล ป. เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีถวายบังคมในการลาออกจากบรรดาศักดิ์ทั้งหมด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [17] 
 
ทำให้นามสกุลของคนในคณะราษฎรหลายคนได้เปลี่ยนไป เช่น จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เลือกเปลี่ยนมาเป็น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “พิบูลสงคราม”, นายพลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) เลือกเปลี่ยนเป็นนายพลตำรวจตรีอดุล อดุลเดชจรัส และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “อดุลเดชจรัส”, นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เลือกเปลี่ยนเป็น นายนาวาเอกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “ธำรงนาวาสวัสดิ์” ฯลฯ [17] 
 
ส่วนผู้ที่เลือกจะไม่มีแม้แต่ราชทินนามแล้วกลับไปใช้ชื่อและนามสกุลเดิม ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็น นายปรีดี พนมยงค์, หลวงนฤเบศร์มานิต เป็น นายสงวน จูฑะเตรมีย์, หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็น นายอุทัย แสงมณี ฯลฯ [17] 
 
ทำให้หน้าฉากดูเหมือนว่า จอมพล ป.นั้นต้องการให้ยกเลิกความเหลื่อมล้ำในความเป็นศักดินาทั้งหลาย แต่ความจริงได้ปรากฏต่อมาว่า จอมพล ป.ยังต้องการบรรดาศักดิ์ให้เหลือ “สมเด็จเจ้าพระยา”ให้แก่จอมพล ป. เพียงคนเดียว และมีท่าทีจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ดังปรากฏคำให้การ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า
“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้ทีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมีจอมพล ป.ฯคนเดียวที่ได้สายสพายนั้น


เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้น เป็นลมหน้ามืดไป

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป.ฯนั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่ปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิธัยย่อ

และได้สร้างเก้าอี้โทรน(บัลลังก์)ขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น”[18] 
 
โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพล ป.นั้น เป็นรูป ไก่กางปีกคล้ายครุฑพ่าห์ แต่ตราไก่ดังกล่าวนี้ได้มีคธาหัวครุฑไว้อยู่เบื้องล่างของเท้าไก่ด้วย 
 
ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้การว่า จอมพลป. กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ในขณะที่พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่านหนึ่ง ก็ห่วงราชบัลลังก์ต่อท่าทีและการกระทำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม 
 
โดยวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดงาน และมีการชักชวนให้ประชาชน ชักธงชาติขึ้นเสาตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ [19] นอกจากนั้น ก่อนหรือหลังการฉายภาพยนตร์ทางโรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลงมหาฤกษ์มหาชัย และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเพื่อทำความเคารพรูปของท่านผู้นำ [20]

ซึ่งต่อมาภายหลังถึงกับมีการแต่งเพลงประจำตัวของท่านผู้นำขึ้นชื่อเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” โดยมีนายสง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า “เพลงสดุดีพิบูลสงคราม” นั้นได้แต่งเนื้อร้องยาวกว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี”ที่ให้ลดทอนตัดย่อลงเพื่อความกะทัดรัด ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 8 หรือไม่ ท่านผู้อ่านก็ลองเปรียบเทียบดูดังนี้ 
 
เพลงสรรเสริญพระบารมี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่อง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483 มีเนื้อร้องลดทอนย่อลงเหลือเพียงว่า

“ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย” [21]

ในขณะที่เพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” เมื่อปี พ.ศ. 2486 มีเนื้อร้องที่ยาวกว่าว่า

“ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัยที่ไทยมี
ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดีพยองไชย
ท่านผู้นำพิบูลสงคราม ขอเทอดนามให้เกริกไกร
ขอดำรงคงคู่ชาติไทย นำชาติให้ไพบูลย์เทอญ"[22]

โดยเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” นี้จะถูกเปิดทุกครั้งที่ท่านผู้นำปรากฏตัวต่อสาธารณชน หรือปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและตามโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ [23]

นอกจากนี้ยังปรากฏรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวอธิบายในที่ประชุมความตอนหนึ่งการให้ประชาชนยึดมั่นในนายกรัฐมนตรีเสียยิ่งกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งว่า 
 
“...ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินของเขา เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี...”[24] 
 
สำหรับเรื่องการทำตัวเทียมกษัตริย์ในทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกบันทึกเอาไว้ผ่านคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2521 ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นโจทก์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับอำนาจ ซึ่งได้ฟ้องนายรอง ศยมานนท์ และพวกในข้อหา ละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าว แพร่พลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง และเกียรติคุณของโจทก์ ที่ได้พิมพ์หนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีการจัดทำเนื้อหาอย่างไม่ถูกต้อง โดยคดีดังกล่าวนี้จำเลยได้ยอมรับความไม่ถูกต้องในหนังสือ
โดยคดีดังกล่าวข้างต้นนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต่อต้านการทำตัวเทียมกษัตริย์ของ จอมพล ป.ความบางตอนที่น่าสนใจดังนี้ 
 
“สมเด็จเจ้าพระยา มีฐานะเท่ากับ “เจ้า” คือบุคคลใช้ราชาศัพท์ให้เกียรติแก่สมเด็จเจ้าพระยา เช่น กินว่า “เสวย” นอนว่า “บรรทม” ฯลฯ ลูกชายสมเด็จเจ้าพระยาเรียกว่า “เจ้าคุณชาย” ลูกหญิงสมเด็จเจ้าพระยา เรียกว่า “เจ้าคุณหญิง”
รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยนั้นได้คัดค้าน จอมพล พิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นสาเหตุให้จอมพลพิบูลฯไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือ ทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากจึงลงมติในทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม 
 
เมื่อจอมพล พิบูลฯแพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่าเมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือจะเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้” [25] 
 
และนี่คือ “เบื้องหลัง” การยกเลิกบรรดาศักดิ์ของทุกคนที่เหลืออยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อแลกกับการไม่ให้จอมพล ป.เพียงคนเดียว ได้มาเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา”ในการสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ โดยความตอนหนึ่งในประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ความตอนหนึ่งระบุว่า 
 
“ในเวลานี้ได้มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ทั้งที่อยู่ในราชการและนอกราชการ ตั้งแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงลงมาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้น้อยได้ลาออกจากระบบบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้มีบรรดาศักดิ์บางคนยังคงดำรงอยู่ในบรรดาศักดิ์ยังมิได้ขอคืน จึงเป็นการลักลั่นไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังจะทำให้เข้าใจผิดไปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นจะได้มีสิทธิพิเศษดีกว่าผู้อื่นด้วย เหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานไปแล้วนั้นเสีย”[26] 
 
ส่วนที่เกี่ยวกับการฉายภาพจอมพล พิบูลฯ พร้อมบรรเลงเพลงสดุดี จอมพล พิบูลฯที่โรงภาพยนตร์ และบังคับให้คนต้องยืนขึ้นทำความเคารพนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่า 
 
เพราะจะทำให้ประชาชนเห็นว่าท่านจอมพล พิบูลฯ ทำตนเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ วิธีการเช่นนี้ก็มีแต่ในอิตาลีเท่านั้น ซึ่งในโรงภาพยนตร์ถูกบังคับให้ฉายภาพมุสโสลินีและให้คนยืนขึ้นทำความเคารพ” [27] 
 
ส่วนกรณีที่นักศึกษาเตรียมปริญญากลุ่มหนึ่งได้ไปดูภาพยนตร์แล้วไม่ยืนทำความเคารพจอมพล ป. และทหารกลุ่มนั้นมาคุกคามว่าจะพิจาณาโทษนักศึกษานั้น นายปรีดี พนมยงค์ได้ทราบอยู่แล้วถึงบทเรียนที่อยากมีอำนาจของโปเลียน โบนาปาร์ตในการปฏิวัติฝรั่งเศสจนขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิเสียเอง 
 
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนเอาไว้ใน “คำนำ” ในหนังสือประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งเรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เข้าไปคัดค้านและขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนแก่จอมพล พิบูลฯว่า 
 
“ขอให้ถอนคำสั่งที่ให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพท่าน และเรียนจอมพลฯ ด้วยว่า นักเรียนที่ศึกษาประวัติ นายพลโบนาปาร์ต ก็รู้กันอยูว่า นายพลโบนาปาร์ตได้ขยับทีละก้าวๆ จากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพ แล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุลที่ปกครองประเทศฝรั่งเศส ต่อมาก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลผู้เดียว แล้วก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลตลอดกาล หรือกงสุลตลอดชีวิต มีสิทธิตั้งทายาทได้ แล้วก็ขยับเป็นพระมหาจักรพรรดิ
หลายคนก็ปรารภกับนายปรีดี พนมยงค์ว่า ท่านจอมพลฯ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ท่านมีอำนาจสิทธิขาด และต่อมาเมื่อท่านจอมพลฯได้เสนอคณะรัฐมนตรีที่จะสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีสมเด็จเจ้าพญานั้น เมื่อท่านได้แพ้มติข้างมากในคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ควรระงับเพียงนั้น ท่านไม่ควรที่จะให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพของท่าน”[27]
นอกจากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ยังได้ขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนเตือนท่านจอมพลฯว่า

“อย่าหลงเชื่อนักประวัติศาสตร์สอพลอที่อ้างว่าเห็นแสงรัศมีออกจากตัวท่านจอมพลฯ... และที่คัดค้านนี้ก็เพราะเห็นว่าทำไม่ถูกต้องตามอุดมคติของคณะราษฎร”[27] 
 
ในเวลาต่อมาระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ได้พร้อมใจกันลงมติ “คัดค้าน” ร่างพระราชบัญญัติเพื่อพระราชกำหนดของรัฐบาลจอมพล ป.พร้อมกันถึง 2 ฉบับติดกันภายใน 2 วัน อันเป็นผลทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 และหลังจากนั้นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แพ้คะแนนเสียงการรับรองพระราชกำหนด 2 ฉบับติดกันใน 2 วัน คือ
ฉบับแรก คือ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36[28] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487[29] 
 
และฉบับที่สองคือ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากแบบฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41[30] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487[31]
ภายหลังต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ได้ “เฉลย” เหตุการณ์เบื้องหลังการจัดการให้ จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นว่า

“เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นําความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป. ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ปฏิบัติตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น” [10]

แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. จากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วได้ยุบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตั้งตําแหน่งแม่ทัพใหญ่อันเป็นตําแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และตั้งให้พระยาพหลฯ ดํารงตําแหน่งแม่ทัพใหญ่นี้ เพื่อบังคับบัญชาทหารตามหลักประชาธิปไตย” [10]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตอนที่ 1 เหตุปัจจัยสู่อภิวัติสยาม 2475, ให้สัมภาษณ์, โดยผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ พิเคราะห์สังคมไทย เผยแพร่ในยูทูปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563
https://youtu.be/mspj0efRvmE

[2] สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555

[3] คำนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และ สมัยนโปเลียน โบนาปาร์ตี้ ภาคที่ 1, เรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 หน้า (6)

[4] หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยารามวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 หน้า 39

[5] ภูธร ภูมะธน, ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476-พ.ศ.2478 และ พ.ศ. 2481 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521, หน้า 150

[6] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 50, วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2476 หน้า 260, นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันโท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/D/260.PDF

[7] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหารบก, เล่มที่ 51, วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2477 หน้า 377, นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันเอก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/376.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 52, วันที่ 8 มีนาคม 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 3733, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาเอก ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/3733.PDF

[9] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 53, วันที่ 14 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 4193, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาอากาศเอก ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/D/4093_1.PDF

[10] คัดจากตอนที่ 3 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
https://pridi.or.th/th/content/2020/10/456

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่องพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 55 วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2482 (ปฏิทินปัจจุบัน)หน้า 4398-4399 ให้นายพันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/4398.PDF

[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 181
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 983

[15] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 183

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์, เล่ม 58, 6 ธันวาคม 2484, หน้า 4525 ก.
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/4525_1.PDF

[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 123-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[19] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2485 วันที่ 1 กรกฎาคม 2485

[20] ศรีกรุง วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2485

[21] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 8 เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี, เล่ม 57, วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483, หน้า 788
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/78.PDF

[22] เนื้อเพลงสดุดีพิบูลสงคราม, ตอนที่ 43 เพลงคำนับของไทย ตอนที่ 2 เพลงชาติและเพลงคำนับอื่น ๆ, เว็บไซต์ห้องสมุดดนตรีสมเด็จเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-43/

[23] สง่า อารัมภีร์ "ท่านเป็น-ครูพักลักจำ-ของผม ท่านขุนวิจิตมาตรา หรือท่าน ส. กาญจนาคพันธุ์", หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ (สง่า กาญจนาคพันธุ์" 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า" ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523 (มปท. มปป.) หน้า 459

[24] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485

[25] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3 หน้า 76-77

[26] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์,
เล่ม 59, ตอนที่ 33, 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485, หน้า 1089
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/033/1089.PDF

[27] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3, หน้า 79-80

[28] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 4/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 20 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73316/4_24870720_wb.pdf?sequence=1

[29] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรน์ พุทธสักราช 2487, ตอนที่ 33, เล่มที่ 61 หน้าที่ 512, วันที่ 30 พรึสภาคม 2487
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/290830/SOP-DIP_P_400671_0001.pdf?sequence=1

[30] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 5/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 22 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73317/5_24870722_wb.pdf?sequence=1

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล, เล่ม 61 ตอนท่ี 34, 5 มิถุนายน 2487, หน้า 538-541


กำลังโหลดความคิดเห็น