xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 9) เบื้องลึกกว่าที่เป็นข่าว กรณีบุตรชาย “ขุนนิรันดรชัย”ขอพระราชทานอภัยโทษ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ต้องถูกจารึกเอาไว้ โดยเมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK พลโทสรภฎ นิรันดร บุตรชายของ พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดาที่ได้กระทำการมิบังควร นำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ

โดย พลโทสรภฎ นิรันดร กล่าวว่า

“บิดาของผมได้รับพระราชทานราชทินนามว่า “ขุนนิรันดรชัย” จบจากโรงเรียนนายร้อย รับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ สังกัดปืน 1 รักษาพระองค์ ขณะที่มียศเป็นร้อยโทได้ร่วมกับผู้บังคับบัญชา คือ พันตรีแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพระยาฤทธิอัคเนย์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามของคณะราษฎร 2475 สายทหารบก

ต่อมาเมื่อรับราชการมียศเป็นพันตรี ได้ลาออก เนื่องจากคณะราษฎรได้แต่งตั้งให้เป็นแม่กองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอาคารสองฟากถนนราชดำเนิน ผลจากการทำงานนี้ก็ได้สร้างตึกที่อยู่อาศัยของท่านเองเป็นตึก 4 ชั้น อยู่ตรงข้ามวังสวนจิตรลดา ปัจจุบันตระกูลนิรันดรได้ให้โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์เช่า

บิดาของผมได้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบสมบัติของพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2491 ในขณะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นของจังหวัดอุบลราชธานีได้อภิปรายในสภาถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บิดาของตนและพรรคพวกก็จับ ส.ส.คนนั้นโยนน้ำหน้าตึกรัฐสภาเลย

ต่อมาคุณพ่อก็ได้ร่วมกับ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎรสายทหารเรือ ได้ก่อตั้งธนาคารนครหลวงไทยขึ้นมา และต่อมาคุณพ่อก็ได้เป็นประธานธนาคารนครหลวงฯ

ประเด็นสำคัญที่อยากเรียนให้ทราบก็คือว่า ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์

ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต


เวลาก็ผ่านไป ผมก็นำเรื่องนี้ปรึกษากับพี่ชายต่างมารดา คือ คุณธรรมนูญ นิรันดร พี่ธรรมนูญก็บอกว่า ดีนะ เป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะทำการ แม้แต่นามสกุลนิรันดรก็เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านไม่มีโอกาส ท่านได้เสียชีวิตเมื่อกลางปี 63 นี่เอง ด้วยโรคคล้ายๆ คุณพ่อ

ลูกคุณพ่อขณะนี้เหลืออยู่ 4 คน 3 ท่านนี่ก็นั่งรถเข็นแล้ว เหลือผมที่ยังพอไปได้อยู่ ก็เลยรั้งรอไม่ได้แล้ว ประกอบกับผมเป็นทายาทบุตรชายซึ่งเป็นนายพลของกองทัพบก เป็นคนเดียวในตระกูลนิรันดร เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำตามความประสงค์ของบิดาซึ่งได้สั่งเสียไว้ก่อนชีวิต” [1]

หลังจากนั้น พล.ท.สรภฎ นิรันดร ได้ประกอบพิธีขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา โดยได้กล่าวขอพระราชพระบรมราชานุญาตกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา คือ พันตรีสเหวก นิรันดร สมาชิกคณะราษฎร 2475 ต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้วิญญาณขุนนิรันดรชัยจะได้ไปสู่สุคติ และความเป็นสิริมงคลจะได้มาสู่ตระกูลนิรันดร

เมื่อถามว่าที่ดินพระคลังข้างที่ที่ขุนนิรันดรชัย ได้ซื้อมามีที่ใดบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า

“บิดาได้บอกแต่เพียงสำนึกผิด แต่เมื่อผมโตขึ้นจนจึงเห็นโฉนดจากการเปิดเผยของนายธรรมนูญ โดยที่ดินใน กทม.มีเกือบ 80 แปลง ที่สำคัญๆ คือ ถ.สาทร 3 ไร่กว่า, ที่ดินตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดาอีก 3 ไร่กว่า และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 ไร่ครึ่ง

ผมในฐานะเป็นลูก ถ้าจะชี้แจงอันนี้ต้องคุยกันส่วนตัว ถ้าอยู่ๆ เอาคุณพ่อมาพูดในทางลบ มันเป็นเรื่องที่บุตรไม่ควรทำแต่เราก็ทราบตอนคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ คุณพ่อบอกว่าได้สำนึกผิดในการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นกรรมการของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่คุณพ่อไม่ได้บอกรายละเอียด เราไม่รู้ แต่เมื่อเราโตขึ้นและมีพี่ชายคือพี่ธรรมนูญเป็นผู้จัดการมรดก เราก็เห็นโฉนดซึ่งจากการสัมภาษณ์ของพี่ธรรมนูญซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้วก็หาอ่านได้จากหนังสือ ผมไม่ก้าวล่วงที่จะพูดเอง

ที่ดินของตระกูลนิรันดรในกรุงเทพมีอยู่เกือบ 80 แปลง แล้วก็แปลงที่สำคัญๆ คือแปลงที่ถนนสาทรจำนวน 3 ไร่กว่าซึ่งขณะนี้ที่ดินบริเวณสาทรไม่มีที่ดินที่ไหนจะใหญ่เท่านี้แล้วและที่ดินบางแปลงอยู่ตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดา ก็ 3 ไร่กว่าๆ อีกแปลงหนึ่งเป็นที่ดินติดพระราชวังไกลกังวลด้านฝั่งทะเล 3 ไร่ครึ่ง ก็เรียนให้ทราบตามนั้น” [1]

เมื่อถามว่า ครอบครัวขุนนิรันดรชัย มีความเห็นอย่างไรบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า
“ผมไม่ทราบความเห็นโดยเฉพาะหลานเนื่องจากยังมีความเกี่ยงงอนกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ผมว่าไม่มีอะไรที่จะมาขัดข้องหรอก” [1]

เมื่อถามถึงการคืนทรัพย์สินดังกล่าว พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า:

“โดยส่วนตัวก็ควรจะกลับไป แต่ต้องบริสุทธิ์ผ่องใส จะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องแต่ตนต้องถามความเห็นของหลานๆ



คือขณะนี้ลูกของคุณพ่อเหลือกันเพียง 4 คน เป็นผู้หญิง 2 ผู้ชาย 2 ทั้ง 3 ท่านนั่งรถเข็นหมดแล้ว และก็เหลือผม ซึ่งยังพอไปได้อยู่ นอกนั้นก็มีรุ่นหลาน 12 คน หลานนี่ก็เราไม่ทราบจิตใจเขา ก็ยังมีการเกี่ยงงอนอะไรกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง นี่ผมอาจจะคิดไปเอง เอาตัวผมเป็นไม้บรรทัด ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง

ในส่วนตัวผมกับญาติพี่น้องบางคนนี่ ก็เห็นว่าควรจะกลับไป
แต่ของที่กลับไปควรบริสุทธิ์ผ่องใส หมายความว่าอนาคตเรื่องที่ดินสำหรับผมจะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องอะไรเลย แต่ผมจะต้องถามความเห็นของหลานๆ เพราะในส่วนตัวของผมอย่าว่าแต่ที่ดินที่จะกลับไปเลย แม้แต่ชีวิตผมก็สละได้

เพราะในอดีตผมผ่านมา 2 ศึก 4 ปีรบอยู่ในลาว อีก 1 ปีเป็นผู้การทหารพราน รบอยู่ชายแดนด้านเขมร ตาพระยาจดจังหวัดตราด และมีโอกาสรู้จักคนดีๆ หลายคน อ้างในที่นี้ก็ได้ ในสมัยที่ท่านพลากร (พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี) เป็นนายอำเภออยู่ตาพระยา ท่านเป็นลูกผู้ใหญ่แต่ท่านก็เป็นนายอำเภอนักบู๊ อยู่ชายแดนด้วยกันมา”[1]

หลังจากการแถลงข่าวแล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้มีบันทึกเทปโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่ ยกเว้นความบางตอนที่เห็นว่ามีความละเอียดอ่อนจึงไม่ให้บันทึก หรือมีการบันทึกแต่ยังไม่ให้เปิดเผย โดยปรากฏประเด็นที่สำคัญซึ่งสามารถเปิดเผยได้ มีดังต่อไปนี้

ประการแรก
บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะท่อน้ำเลี้ยงนำผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม


พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ขุนนิรันดรชัย” หรือ พันตรีสเหวก นิรันดร มีความสัมพันธ์ได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.มากที่สุด การที่เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนานั้น แท้ที่จริงเป็นเด็กฝากของจอมพล ป.เอง

จอมพลป.ทำธุรกิจไม่เป็น จึงได้อาศัย ขุนนิรันดรชัย เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” หรือหาผลประโยชน์ให้กับจอมพลป. และติดต่อนักธุรกิจในการนำเงินไปให้ จอมพล ป. ด้วย โดยในช่วงแรกนั้นมาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ขุนนิรันดรชัยได้จัดหามาให้ [2]

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความสอดคล้องกับ คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...


...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[3]

และข้อความข้างต้นยังได้สอดคล้องกับคำให้การของ “นายทวี บุณยเกตุ” ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ในเรื่องการทำหน้าที่ของ ขุนนิรันดรชัย ในขณะดำรงตำแหน่งราชเลขานุการเป็นผู้ “นำเงินไปให้” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

โดยในบันทึกดังกล่าว ได้ระบุว่า นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีบทสนทนากับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า

“..นายกยังคงจะจำได้ดีว่า ผู้สำเร็จฯ ได้ใช้ให้ผมกับขุนนิรันดรฯ ไปพบท่านนายกที่ทำเนียบสามัคคีชัย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ตอนบ่าย แต่นายกก็ไม่ให้ผมพบ คงให้แต่ท่านขุนนิรันดรฯคนเดียว”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบว่า

“ก็ไม่รู้นี่ว่าจะมาเรื่องนี้ ที่ผมให้ขุนนิรันดรฯพบนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าเขาจะเอาเงินมาให้ผม เพราะได้สั่งเอาไว้”[4]

ข้อความข้างต้น ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เหตุใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22 พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ “ทางส่วนตัว” ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนิทสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิท ได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [5]

ประการที่สอง บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์

โดยหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้มีโอกาสร่วมขบวนไปอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8

โดย “ขุนนิรันดรชัย” และคณะราษฎรได้รับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่าจะถวายอารักขาให้ความปลอดภัยให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างเต็มที่ และจะไม่เป็นอันตราย หลังจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” จึงได้ย้ายมาที่สำนักราชเลขานุการในพระองค์ [2]

ทั้งนี้ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 และเป็นราชเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 [6]

โดย พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า แม้ “ขุนนิรันดรชัย”จะอยู่ในฐานะลูกน้องและนายทุนให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และทำตามทุกอย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการ แม้ขุนนิรันดรชัยอาจจะเคยเบียดบังทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นของตนเองหรือให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ไม่เคยคิดรังแกหรือทำร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะได้เคยรับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเอาไว้ ในทางตรงกันข้ามพยายามผ่อนผันความต้องการของจอมพล ป.พิบูลสงครามในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เท่าที่จะทำได้ [2]

นอกจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ยังได้เคยกล่าวกับภรรยา (แม่ของพลโทสรภฏ นิรันดร)ว่า ถ้าขุนนิรันดรชัยยังคงเป็นราชเลขานุการในพระองค์อยู่ จะไม่มีทางเกิดเรื่องการสวรรคตด้วยพระแสงปืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างแน่นอน [2]

ประการที่สาม บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับนักการเมืองหลายคนในฝ่ายรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่า การซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับเครือข่ายทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องจริง และรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อที่ดินนั้นเป็นไปตามบัญชาการของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอิทธิพลมากที่สุดหลังการปราบกบฏบวรเดช

อย่างไรก็ตาม พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าการตัดขายแบ่งที่ดินพระคลังข้างที่ช่วงปี พ.ศ.2479-2480 นั้น ไม่เกี่ยวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และไม่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์แต่ประการใด

โดยการขายที่ดินพระคลังข้างที่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนกลับให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจอมพล ป.เท่านั้น และภายหลังการอภิปรายเมื่อ

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร เปิดเผยว่า ขุนนิรันดรชัยและพวกได้นำนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ตั้งกระทู้ถามในเรื่องดังกล่าวโยนลงในสระน้ำหน้าอาคารสโมสรสภาผู้แทนราษฎร [2]

ประการที่สี่ บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการได้มาซึ่งที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ชี้แจงว่า ขุนนิรันดรชัย เป็นนายกองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีเงินไปสร้างอาคาร 4 ชั้น เป็นที่พักอาศัยที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ที่ได้มาจากพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของขุนนิรันดรชัย (ปัจจุบันให้เซนต์ แอนดรูว์ เช่าอยู่) [1],[2]

และยังมีที่ดินสำคัญอีก 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินหัวหินที่ดินติดกับพระราชวังไกลกังวล และที่ดินบนถนนสาทรอีก 3 ไร่กว่า ซึ่งความประสงค์ส่วนตัวต้องการที่ดินส่วนที่เป็นของพระคลังข้างที่คืนกลับให้สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกของทายาทผู้ได้ที่ได้รับมอบมรดกตามกฎหมายที่เหลือว่าจะมีความเห็นยินยอมหรือไม่ อย่างไร [1],[2]

ประการที่ห้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการใช้ชื่อผู้อื่น เป็นผู้ถือครองโฉนดที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่ “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ได้ถูกนายเลียง ไชยกาล พาดพิงในการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ก็เพราะเหตุว่า พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้ใช้วิธีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่อำพรางในนามบุคคลอื่น

เช่น ที่ดินหัวหินซึ่งติดพระราชวังไกลกังวล และที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ขุนนิรันดรชัย ได้ใส่ชื่อบุตรสาว (เด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร)เป็นเจ้าของโฉนดที่ซื้อมา ซึ่งในขณะนั้นเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร มีอายุเพียง 6 ขวบโดยมีเงื่อนไขท้ายโฉนดว่าเมื่อเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร บรรลุนิติภาวะแล้วก็ให้โอนที่ดินกลับคืนมา [2] ซึ่งพลโทสรภฏ นิรันดร คาดว่าเฉพาะที่ดิน 2 แปลงนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท [2]

ประการที่หก บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พลโทสรภฏ นิรันดร
แจ้งว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อยู่ในสถานภาพที่ต้องทำตามความต้องการของขุนนิรันดรชัย ด้วยเพราะในเวลานั้น อิทธิพลของคณะราษฎรอยู่เหนือฝ่ายเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม และขุนนิรันดรชัย ได้ร่วมมือในการนำทหารปราบ “กบฏบวรเดช”เป็นผลสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีอิทธิพลและอำนาจที่เรียกร้องได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งเครื่องราชย์ ฐานันดรศักดิ์ และเงิน [2]

ประการที่เจ็ด บทบาทและความสัมพันธ์ ของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ในการตั้งธนาคารพาณิชย์


พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499โดยได้เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ขุนนิรันดรชัย กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นทหารชั้นผู้น้อย ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร กับข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ได้เป็นเพื่อนเกลอกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เราทั้งสองต่างก็ยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยด้วยกัน

กล่าวคือ เมื่อราว พ.ศ. 2469 ขณะที่พันตรีสเหวก นิรันดร ดำรงยศร้อยตรีแห่งกองทัพบก และข้าพเจ้าเป็นเรือโท สังกัดกองทัพเรือ เราทั้งสองได้มารับราชการร่วมกันในกรมอากาศยานที่ดอนเมือง โดยได้เป็นนักศึกษาในวิชาผู้ตรวจการณ์จากเครื่องบิน

เราได้เรียนและฝึกร่วมกันทั้งภาคพื้นดินและการทำงานในอากาศ และเป็นครั้งคราวก็ได้ทำการฝึกในเครื่องบินลำเดียวกัน ฉะนั้น เราจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันอย่างสหายร่วมตาย...

เมื่อเราทั้งสองต่างก็สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เราก็แยกย้ายกันไปรับราชการตามสังกัดของตน และในปีหนึ่งๆ เราจึงมีโอกาสกลับมาเรียนและฝึกร่วมกันอีกประมาณสามเดือนในระยะ 2-3 ปีต่อมา”[7]

ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ร่วมกับพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
จัดตั้งธนาคารที่ชื่อว่า “ธนาคารนครแห่งประเทศไทยจำกัด” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครหลวงไทย[8] และได้ขอให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ [9]

ในปี พ.ศ. 2489 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องลาออกจากการเป็นกรรมการในธนาคาร และพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสืบแต่นั้นมาจนถึงแก่กรรม [9]

นอกจากนั้น “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ยังได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งอีกว่า

“ภายหลังที่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาชั่วระยะหนึ่ง พันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์...และได้ประสานการงานระหว่างรัฐบาลกับสำนักราชเลขานุการให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดีทุกประการ...”[10]

“...โดยพันตรีสเหวก นิรันดร ได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระยะนี้เราได้รับราชการร่วมกันอย่างใกล้ชิด...”[7]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ขุนนิรันดรชัย”ยังเป็นผู้ก่อตั้ง “ธนาคารไทยทนุ” อีกด้วย [2]

สำหรับประเด็นนี้ เมื่อสอบถามพลโทสรภฏ นิรันดร เพิ่มเติมว่า การตั้งธนาคารพาณิชย์นั้นจะต้องใช้เงินทุนมากมายมหาศาล ถ้าเช่นนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการนั้น ได้นำเงินมาจากที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า

“เป็นเงินทุนที่ได้มาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์” [2]


ส่วนคำถามที่ว่าพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เงินลงทุนในธนาคารมาจากแหล่งใด พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าไม่ทราบว่าได้เงินมาจากแหล่งใด ทราบแต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทของ “ขุนนิรันดรชัย”[2]

นอกจากนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายว่า “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยงของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่มีฐานะเป็นเพื่อนและหุ้นส่วนมากกว่า[2]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า การเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ทำให้มีสถานภาพการเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถจัดการธุรกรรมการเงินให้กับกลุ่มทุนของรัฐบาลได้[2]

ประการที่แปด ธุรกิจเครือข่ายอื่นๆ ของขุนนิรันดรชัยเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์[6] ตามจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้มาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ซึ่งนอกจากธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยทนุแล้ว ยังปรากฏมีการประกอบธุรกิจอีกจำนวนมาก

โดยพันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในวงการค้าต่างๆ โดยเมื่ออ่านรายชื่อธุรกิจต่อไปนี้ให้พลโทสรภฏ นิรันดรฟัง พลโทสรภฏ นิรันดรแจ้งว่าธุรกิจส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในรายชื่อต่อไปนี้เป็นกิจการของ “ขุนนิรันดรชัย”เอง ทั้งเป็นเจ้าของเองโดยตรง หุ้นส่วนใหญ่ ผู้ร่วมลงทุน หรือมีนอมินีมาเป็นผู้ถือหุ้น อาทิเช่น

“บริษัท ห้องเย็นไทย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด
บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด
บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด
บริษัท สหประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด
บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด
บริษัท สหศินิมา จำกัด
บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด
บริษัท ศรีกรุง จำกัด
บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ)
ฯลฯ เป็นต้น” [7]

ความร่ำรวยของ พันตรีสเหวก นิรันดร (ขุนนิรันดรชัย) นั้นได้ถูกกล่าวถึงและบันทึกเอาไว้ในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพของ พันตรีสเหวก นิรันดร ซึ่งเขียนโดย พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร ยังได้ร่วมมือกับบุคคลอื่นจัดตั้งบริษัทจำกัด กิจการและค้าขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง ซึ่งกิจการของบริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งทุกวันนี้ในระยะนี้เอง

ได้มีเสียงโจทก์จรรย์ว่า พันตรีสเหวก นิรันดร ได้มีฐานะมั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นเหยียบเข้าขั้นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งในเรื่องนี้ก็พอจะมีความจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายใหญ่โตดังที่ล่ำลือกัน และถ้าหากจะนำมาเปรียบเทียบกับพวกมหาเศรษฐีคนไทยในสมัยนี้แล้ว พันตรีสเหวก นิรันดร ก็เป็นเพียงเศรษฐีขนาดย่อมๆ คนหนึ่งซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรนักเท่านั้น” [9]

อย่างไรก็ตามพลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่าการเป็นกรรมการในหลายบริษัทเช่นนี้ ขุนนิรันดรชัยเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลที่จะสามารถใช้นโยบายหรืออำนาจฝ่ายการเมืองเพื่ออำนวยธุรกิจให้กับนักธุรกิจในบริษัทต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนนำเงินจากกลุ่มทุนต่างๆมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย [2]

ประการที่เก้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”ในฐานะกลุ่มทุนเบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้กล่าวถึงการรัฐประหารของพลโทผิน ชุณหะวันและคณะ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น แท้ที่จริงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ จอมพลป. พิบูลสงคราม โดยอาศัยท่อน้ำเลี้ยงจาก “ขุนนิรันดรชัย” มาให้กับคณะรัฐประหารชุดดังกล่าว [2]

หลังจากนั้นกลุ่มซอยราชครูได้พยายามเป็นผู้ต่อท่อน้ำเลี้ยงของผลประโยชน์จากภาคเอกชนอื่นๆโดยตรงมาให้กับกลุ่มอำนาจของซอยราชครูในรัฐบาลชุดใหม่แทนขุนนิรันดรชัย แต่ถึงกระนั้นขุนนิรันดรชัยก็ยังคงมีบทบาทเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามต่อไป [2]

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้แสดงความเห็นว่า การที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตถ์ ทำการรัฐประหารสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเวลานั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงทำให้กลุ่มทุนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระจัดกระจายเป็นหลายสาย ประสานผลประโยชน์ได้ยาก และไม่มีกำลังต้านรัฐประหารได้ [2]

หากข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบาทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ หรือภายหลังต่อมาเป็นนายรัฐมนตรีตามความต้องการของคณะรัฐประหารเท่านั้น หากแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อการกลับเข้าสู่อำนาจของตัวเองอีกครั้ง ภายหลังได้หมดบทบาทไปในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

ประการที่สิบ ความเจ็บป่วยของขุนนิรันดรชัยอันเป็นสาเหตุของการสำนึกในความผิดเสียใจ และต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ

โดยในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของ “พันตรีสเหวก นิรันดร” หรือ “ขุนนิรันดรชัย” ได้อธิบายในเรื่องของความเจ็บป่วยที่ต้องวิ่งแสวงหาการรักษาถึงต่างประเทศ และได้รับผ่าตัดสมองโดยที่ไม่ได้เป็นโรคตามที่วินิจฉัย แม้เป็นมหาเศรษฐีแต่ก็ไม่สามารถเพื่อรักษาตัวเองให้หายจากความเจ็บป่วยนี้ได้ แม้ว่าจะใช้เงินเพื่อหาสถานพยาบาลชั้นนำ หรือหาหมอที่เก่งที่สุดในโลกเพียงใดก็ตาม ความตอนหนึ่งว่า :

“พันตรีสเหวก นิรันดร
ได้เริ่มป่วยเป็นโรคเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2495 ก็ได้ไปรักษาตัวที่ เมโยคลีนิค Mayo Clinic และที่โรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ St. Mary ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการผ่าตัดศีรษะ เพราะนายแพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคเนื้องอกในสมอง แต่ก็ปรากฏว่ามิได้เป็นโรคนั้น จึงได้แต่เพียงทำการรักษาโดยทางยา

ต่อมาจึงได้ไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ โดยายแพทย์ เซอร์ เอช อีแวน Sir H.Evans ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 2 ตรวจแล้วลงความเห็นว่า ควรให้กลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศไทยจะเหมาะกว่า เพราะขณะนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร มีร่างกายอ่อนแอมาก

หลังจากกลับมาประเทศอังกฤษแล้ว ก็ได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดียิ่ง รู้สึกว่าอาการเกี่ยวกับความดันโลหิตดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 เส้นโลหิตในสมองข้างขวาแตกเลยทำให้เป็นอัมพาต ทำให้อาการป่วยทวีขึ้น แต่ภรรยาและบุตรก็ได้ช่วยกันรักษาพยาบาล อย่างเต็มความสามารถตลอดมา

จนกระทั่งถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2499 เวลา 17.35 น. ก็ได้ถึงแก่กรรมลงท่ามกลางภรรยาและบุตรธิดา ทั้งนี้ทำให้เกิดความวิปโยคเป็นอย่างยิ่ง คำนวณอายุได้ 56 ปี” [6]

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเหตุการณ์ประวัติความเสียใจ และสำนึกความผิด ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพว่า


“เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496- 2499 ขุนนิรันดรชัย ได้ล้มป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตสมองและเป็นอัมพาต โดยในระหว่างนั้นได้กล่าวด้วยน้ำตากับ เด็กชายสรภฏ นิรันดร ในขณะที่อายุ 14 ปี ว่าที่พ่อป่วยเป็นเช่นนี้เพราะผิดต่อคำสาบานในการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา และเบียดบังพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาเป็นของตัวเอง

อยากจะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะพ่อล้มป่วยเป็นอัมพาต ได้แต่น้ำตาไหลร้องไห้ เป็นเช่นนี้หลายครั้ง ทำให้พลโทสรภฏ นิรันดร จำภาพได้ติดตา และเป็นบาดแผลฝังอยู่ภายในใจมาหลายสิบปี” [2]

สำหรับพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยานั้น เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีพระราชพิธีใหญ่และศักดิ์สิทธ์ของแผ่นดิน

โดยพิธีถือน้ำ หมายถึง “พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด”

เป็นพิธียิ่งใหญ่ที่สืบทอดมาแต่โบราณที่แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างหนักแน่น ต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินผู้เปรียบเป็นสมมติเทพ จัดขึ้นเพื่อให้บรรดาทหารและข้าราชการใต้ปกครองเข้าร่วม เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน โดยการดื่มน้ำที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว พร้อมกล่าวคำสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ไม่คดโกง จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และบ้านเมือง อันเป็นแผ่นดินแม่แดนกำเนิดของตน

โดยพิธีกรรมที่ทำคือทำพิธีให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธคมหอกคมดาบลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำเพื่อสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ ก็ให้มีอันเป็นไปด้วยอาวุธหอกดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนดื่ม

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยายังคงปฏิบัติมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรให้ยกเลิกการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เช่นเดียวกับพระราชพิธีอื่นๆ เนื่องจากคณะราษฎรเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาคกันของคนในสังคม [11] แต่ต่อมาก็มีการนำพิธีดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2512 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 [12]

อย่างไรก็ตาม “ขุนนิรันดรชัย” ก็ได้เคยถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน

ประการที่สิบเอ็ด สาเหตุที่เพิ่งจะมาขอพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2563

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ปรึกษาพี่ชายต่างมารดาคือ นายธรรมนูญ นิรันดร ว่าสมควรที่จะต้องดำเนินขอพระราชทานอภัยโทษ ปรากฏว่านายธรรมนูญ นิรันดร ก็เห็นดีด้วย

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 นายธรรมนูญ นิรันดร ได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ต้องเข้ารับการรักษาอาการที่โรงพยาบาล ก่อนออกมาอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลโดยตลอด และเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2563 จึงไม่ทันที่จะขอพระราชทานอภัยโทษอีก

พลโทสรภฏ นิรันดร อธิบายว่า ปัจจุบันบุตรของ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เหลือเพียง 4 คน แต่ 3 คนที่เหลือต่างต้องนั่งรถเข็นและพิการด้วยโรคเดียวกันเช่นกัน ในฐานะที่ พลโทสรภฏ นิรันดร เป็นบุตรชายคนสุดท้ายที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงตัดสินใจทำพิธีของพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ [2]

ประการที่สิบสอง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า บุตรชายของหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วยกัน บอกว่าหลวงเชวงศักดิ์สงครามมีความคิดจะขอทำพิธีพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ทำ [2] และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความคิดแบบนี้

ประการที่สิบสาม
อยากฝากให้คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ จะต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะไม่มีใครต้องการเผยแพร่ด้านลบในประวัติศาสตร์ของตัวเอง จึงควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติไม่ให้ใครนำไปชักจูงได้โดยง่าย [2]

ประการที่สิบสี่ พลโทสรภฏ นิรันดร กล่าวด้วยน้ำตาหลายครั้งในการแถลงข่าวว่ารู้สึกโล่งอก เหมือนยกภูเขาออกจากอก ที่เก็บบาดแผลเป็นปมในใจติดค้างมาหลายสิบปี และได้มาทำหน้าที่ตามที่ “ขุนนิรันดรชัย” มีความประสงค์แล้ว [2]

ในทัศนะของผู้เขียนจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร มีความต้องการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษตามวัตถุประสงค์ของขุนนิรันดรชัยที่ไม่ได้ทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ ประกอบกับพลโทสรภฏ นิรันดร เป็นทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงต้องการให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อว่าพลโทสรภฏ นิรันดร อาจจะคาดหวังที่จะไม่ได้รับผลกรรมเหมือนกับคนอื่นๆในตระกูลที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนเชื่อว่าการได้ใช้โอกาสการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ย่อมมีผลทำให้สังคมได้รับรู้การกระทำที่ไม่ถูกต้องในอดีต ซึ่งอาจจะมีผลต่อทายาทและหลานๆ คนอื่นๆ ที่มีส่วนในมรดกตามกฎหมาย จะได้ตัดสินใจการถวายคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนได้ทราบจากพลโทสรภฏ นิรันดร ว่า “ขุนนิรันดรชัย” ได้เขียนมอบมรดกบางส่วนให้กับพลโทสรภฏ นิรันดร ด้วยการประกอบเหตุผลเป็นจดหมายและถ่ายเก็บไว้ในไมโครฟิลม์ว่า “เพราะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม”

พลโทสรภฏ นิรันดร จึงเป็นทายาทของ ขุนนิรันดรชัย “เพียงคนเดียว” ที่ได้ทำภารกิจ “ปลดปล่อยมลทินในจิตวิญญาณ”ของตัวเองและบิดาในครั้งนี้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแม้จะไม่ใช่ความผิดของพลโทสรภฏ นิรันดร แต่ผู้เขียนขอชื่นชมความกล้าหาญของพลโทสรภฏ นิรันดร ในการแถลงข่าวครั้งนี้ และสัญญาจะนำเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ และเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[2] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[3] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 156

[5] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[6] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (10)-(12)

[7] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (2)-(3)

[8] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)-(23)

[9] คำไว้อาลัยของคณะกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด, กฎหมายเกี่ยวแก่การธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, 22 พฤษภาคม 2499, หน้า ข

[10] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (4)-(5)

[11] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 148

[12] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 150.


กำลังโหลดความคิดเห็น