xs
xsm
sm
md
lg

ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 8) จากข่าวปล่อย “ขายพระแก้วมรกต” ถึงพระราชบันทึกลับในศึกนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในปลายปี พ.ศ. 2563 ได้มีความพยายามอีกครั้งหนึ่ง จากคนบางกลุ่มที่ปล่อยข่าวให้ร้ายว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีความคิดจะขายพระแก้วมรกต

โดยข่าวดังกล่าวนี้เป็นการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) ซึ่งเป็นอ้างแหล่งข่าวจากสำนักข่าวเอพีอีกทอดหนึ่ง โดยข่าวดังกล่าวนั้นแปลเป็นภาษาไทยมีดังนี้

พาดหัวว่า “กษัตริย์สยามทรงขู่ว่าจะขายทั้งหมด”

และโปรยข่าวว่า “พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะละทิ้งทรัพย์สมบัติอันมหาศาลในการเคลื่อนไหวครั้งใหม่เพื่อพระราชอำนาจอันสมบูรณ์” หลังจากนั้นก็ได้ลงรายละเอียดของเนื้อข่าวว่า เป็นรายงานที่ไม่ได้สัมภาษณ์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง หากแต่เป็นการได้รับรายงานจากข่าวปล่อยที่อ้างเอาว่าเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งๆ ที่ข่าวนี้มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าต้องการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีคำแปลเนื้อความดังนี้

“กรุงเทพ, สยาม, วันอังคารที่ 22 มกราคม (AP) - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Prajadhipok) ได้ทรงขู่ว่าจะขายทรัพย์สินที่ทรงครอบครองอยู่ในสยามอย่างมากมายในนาทีสุดท้าย เพื่อเคลื่อนไหวนำรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย รายงานในวันนี้จากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้
มีรายงานว่าพระองค์ทรงเคยตรัสว่าจะลาออกไปนอกประเทศตลอดกาล เว้นเสียแต่ว่าถ้ารัฐบาลจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์เมื่อเดือนตุลาคม (ผู้แปล-พ.ศ. 2477) ในการคืนพระราชอำนาจในการควบคุมเกี่ยวกับการลงโทษประหารชีวิต

มีรายงานว่า อังกฤษแสดงความสนใจในการซื้อทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงพระราชวัง วัด (shrine) ที่เต็มไปด้วยความงดงามของอารยธรรมตะวันออก และที่ดินอันอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง "พระแก้วมรกต" อัญมณีอันมีชื่อเสียง และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิ และความยิ่งใหญ่ของชาติสยาม พระแก้วมรกตเป็นหินสุกใสขนาดใหญ่ที่มีด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธเจ้า และถือเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินของพระองค์ปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่การผ่าตัดพระจักษุเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว โดยคณะผู้แทนทางการทูตของสยามเดินทางมายังกรุงลอนดอนเพื่อโน้มน้าวให้พระองค์กลับประเทศ ขณะที่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่กระจายตัวไปยังแหล่งพักผ่อนอื่น ๆ ในยุโรป ขณะที่รัฐบาลในสยามก็กำลังร่างคำตอบสำหรับข้อเรียกร้องของพระองค์

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กำลังระหว่างที่พระมหากษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศบังคับให้พระญาติบางส่วนออกจากตำแหน่งราชการและแก้ไขรัฐธรรมนูญ พระญาติเหล่านั้นได้ร่วมกับกองกำลังอีกส่วนหนึ่งพยายามที่จะต่อต้านโดยไม่ประสบผลสำเร็จ

เกิดข่าวลือกันมากมายเกี่ยวกับการคาดเดาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อไปหากพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติตามคำขู่จริง มีตัวเลือกอยู่สองสามทาง ทายาทโดยชอบธรรม คือหนึ่งในพระราชนัดดา (ไม่มีมงกุฎราชกุมาร) จะไม่ยอมรับตำแหน่ง ส่วนพระราชนัดดาอีกพระองค์ คือพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์นั้น เป็นที่ยอมรับ แต่มีพระมารดาเป็นชาวรัสเซีย จึงทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้” [1]


นอกจากเนื้อข่าวจะได้อ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์พระองค์โดยตรง แม้จะมีความจริงที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงความคิดที่ว่าจะสละราชสมบัติ แต่ข่าวที่มีการอ้างเรื่องชาวอังกฤษจะซื้อทรัพย์สินรวมถึงพระแก้วมรกตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเนื้อข่าวเดียวกันเป็นคนละเรื่องกัน

เพราะไม่เคยมีข้อความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเคยมีพระราชประสงค์ขายทรัพย์สินของชาติเช่นนั้นเลย อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสละราชสมบัติ ข่าวการสืบสันตติวงศ์ ข่าวเรื่องพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนักโทษการเมือง รวมถึงการอ้างถึงเหตุการณ์ข้อเรียกร้องในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมาจากแหล่งข่าวอย่างไร

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ข่าวทั้งหมดเป็นการบิดเบือนโดยดัดแปลงต่อเติมเสริมแต่งจาก “พระราชบันทึกลับ” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้

คำถามต่อมามีอยู่ว่า เหตุการณ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมีอะไรเกิดขึ้น สำนักข่าวดังกล่าวจึงได้นำมาเสนอข่าวในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478

โดยข่าวดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ประมาณ 9 วัน “ก่อน” ที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 16/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 โดยเป็นการประชุม “ด่วนและลับ” เพื่อเปิดเผยเอกสารเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์นี้ [2]

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ข่าวดังกล่าวนี้เป็นการเผยแพร่นำ “ข่าวด่วนและลับ” ซึ่งเป็นเอกสารเตรียมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปดัดแปลงต่อเติมแล้วปล่อยข่าวดักหน้า เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน และปูพื้นให้สังคมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขายสมบัติของชาติ หรือไม่

การปล่อยข่าวเช่นนี้ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาความชอบธรรมที่จะทำ “นิติสงคราม” ย้ายอำนาจของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนักการเมืองในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่นักการเมืองแห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ตามมา จนกลายเป็นการกระทู้ตั้งคำถามและการอภิปรายที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์คณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏข้อความใดเลย ในพระราชบันทึกลับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงขายทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าพระราชวัง วัด หรือพระแก้วมรกต ฯลฯ [2]

ในทางตรงกันข้าม “พระราชบันทึกลับ” กลับระบุถึงความคิดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ หากนักการเมืองคิดผูกขาดอำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ไปเป็นของคณะราษฎรกันเอง

โดยก่อนหน้านั้น ทรงเคยมีพระราชบันทึกว่าจะสละราชสมบัติ หากรัฐบาลมีความคิดจะชิงทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปบริหารกันเองและจัดสรรเงินประจำปีให้กับองค์พระมหากษัตริย์แบบอังกฤษ หรือมีความคิดของรัฐบาลยกเลิกทหารพระราชวังจนเกิดความไม่ปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการลงโทษ

นักการเมืองโดยการตั้งศาลพิเศษขึ้นมากันเอง ตลอดจนความคิดที่จะจับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ประกันเพื่อบังคับให้พระองค์ทำตามที่รัฐบาลต้องการ

เนื้อหาในพระราชบันทึกลับตามที่ระบุข้างต้นนี้อยู่ในการประชุมลับในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 แต่กลับไม่มีเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่ในสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478 เลย

เนื้อหาที่ทรงไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเลือกสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะราษฎรกันเอง โดยไม่มีการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการคัดค้านกฎหมาย มีข้อความบางตอนในพระราชบันทึกลับเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 [2] ที่ทรงมีต่อคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้

“...ประเทศเรายังไม่คุ้นเคยกับการปรึกษาราชการในสภา จึงควรให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งเลือกตั้งโดยคุณวุฒิเป็นผู้มีวิชาสูง หรือเคยชินกับงานแผ่นดิน เพื่อเป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 ที่ราษฎรเลือกตั้งขั้นมา หลักการอันนี้พอฟังได้ ถ้าได้ทำกันตามนั้นจริง [3]

แต่เมื่อได้ตั้งกันขึ้นแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นเลือกตั้งแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และความจริงหาได้มีคุณวุฒิ หรือความเคยชินกับการงานดีไปกว่าสมาชิกประเภทที่ 1 เลย [3]


เมื่อการเป็นดังนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะมีผู้กล่าวว่า คณะรัฐบาลเลือกตั้งคนเหล่านั้น เพื่อความประสงค์ที่จะกุมอำนาจไว้ให้ได้เท่านั้น แม้ราษฎรจะเห็นด้วยกับนโยบายของตนหรือไม่ก็ตามที ข้อความในมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญก็เป็นหมันไปทันที เป็นการเขียนเพื่อตบตา เพื่อหลอกกันเล่นเท่านั้นเอง [3],[4]

...สมบูรณาญาสิทธิของคณะ ย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไป เพราะกลัวอาชญา และกลัวรถเกราะและปืนกล น่ากลัวว่าความไม่พอใจจะมีอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าต้องขอให้แก้ไข [5]

ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้ายอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น” [5]


ส่วนในประเด็นการเพิ่มพระราชอำนาจในการคัดค้านกฎหมาย ก็เพราะเนื่องด้วยมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากคณะราษฎรเลือกกันเองทั้งหมดถึงครึ่งหนึ่ง จึงควรต้องเพิ่มพระราชอำนาจในการถ่วงดุลกันให้ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกของประชาชน ถ้าทำไม่ได้ก็ควรให้เลือกตั้งทางตรงไปให้หมด ปรากฏในพระราชบันทึกลับฉบับเดียวกันความบางตอนว่า

“...ถ้าจะให้โอกาสให้ประมุขของประเทศคัดค้าน (Veto) ได้แล้ว ก็มักจะต้องให้สภาลงมติเสียงข้างมาก 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 แล้ว จึงจะลบล้างเสียงคัดค้านของประมุขได้ (ดูตัวอย่างสหปาลี-รัฐอเมริกา) ในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน มีผู้ที่เห็นควรให้มีเสียงข้างมากอย่างน้อย 2 ใน 3 เพื่อลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์จึงจะควร การนับเอาเสียงข้างมากเฉยๆ (Simple majority) เช่นที่เป็นอยู่นี้ เท่ากับไม่ได้ถวายพระราชอำนาจในทางคัดค้านเลย

และเมื่อสภาฯ มีสมาชิกซึ่งรัฐบาลเลือกตั้งขึ้นเองถึงครึ่งหนึ่งเช่นนี้ แปลว่าสภาฯอาจลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ได้ โดยเสียงของสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจริงๆเพียง 1 เสียง

ซึ่งแปลว่า สภาฯอาจสนับสนุนนโยบายซึ่งราษฎรไม่ได้เห็นด้วยจริงๆ หรือไม่ต้องการเลยจนนิดเดียวถ้าจะให้เป็นว่าเอาเสียงราษฎรเป็นใหญ่จริงๆ จะต้องให้มีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 เพื่อลบล้างคำคัดค้านจึงจะควร แปลว่าอย่างน้อยต้องมีเสียงสมาชิกที่ราษฎรเลือกจริงๆ ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับการลบล้างนั้น โดยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นควรแก้รัฐธรรมนูญในข้อนี้ให้เป็นว่า “ถ้าและสภาฯลงมติตามเดิมโดยมีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด” ฯลฯ หรือจะเติมข้อความให้ได้ผลเช่นนั้นลงไปใน “บทฉะเพาะกาล”ก็ได้ คือถ้าเลิกใช้บทฉะเพาะกาลเมื่อไหร่ ก็ให้เลิกข้อความนั้นได้
เพราะถ้าสภาฯเป็นสภาที่ราษฎรเลือกเองทั้งหมดแล้ว ข้อรังเกียจตามที่กล่าวแล้วย่อมหมดไป ถึงกระนั้นก็ดี การเหนี่ยวรั้งการออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายนั้นก็ยังควรมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในประเทศอื่นๆเขาก็เห็นความจำเป็นจึงมีสภาสูง (Senate) เพื่อเหนี่ยวรั้งเป็นต้น โดยฉะเพาะในประเทศสยาม เรายังไม่คุ้นเคยแก่วิธีการปกครองอย่างใหม่นี้ ทำให้รู้สึกความจำเป็นในข้อนี้มากขึ้น

การที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อนี้ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ เพราะข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที ที่ร้องขอให้แก้ ก็เพราะข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้

นอกจากนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาป รับความซัดทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯมิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน

และบางครั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่นว่า “ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว” และเมื่อคัดค้านให้เป็นผลจริงๆ ไม่ได้แล้ว ยังซัดทอดกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นการหนักมือมาก


ถ้าไม่อยากจะถวายอำนาจในการคัดค้านแก่พระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น จะเปลี่ยนว่าถ้าพระมหากษัตริย์ทรงคัดค้านกฎหมายใดๆแล้ว ต้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ แล้วเปลี่ยนวิธีเลือกสมาชิกประเภทที่ 2 หรือกำหนดวิธีการให้ราษฎรออกเสียโดยตรงก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่า การปกครองตามที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ ไม่ใช่ “democracy” จริงๆเลย”[6]

นอกจากนั้นในพระราชบันทึกลับในเรื่องที่มีความสำคัญอีกหลายเรื่อง ได้แก่ ทรงขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพในการพูดการเขียนโฆษณาจริงๆ ,ทรงขอให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยและการตั้งสมาคม

ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของบุคคล เพราะผู้ที่ถูกข้อกล่าวหาจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาล และควรจะให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและให้โอกาสจำเลยมีทนายต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบที่อาจขาดความยุติธรรม อันเป็นการกดขี่อย่างร้ายแรง

ทรงขอให้ลดและอภัยโทษนักการเมือง โดยนักโทษประหารชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 10 ปี, นักโทษทางการเมืองจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 5 ปี, ส่วนนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ให้พ้นโทษทั้งหมด

ในขณะที่ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางการเมืองเพราะกล่าวร้ายรัฐบาล หลายร้อยหลายพันคน ขอให้ได้กลับได้รับบำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์ในวันที่ถูกปลด ในขณะที่ข้าราชการที่ “ถูกสงสัย” ว่าเกี่ยวข้องกับ “กบฏ”ครั้งใดๆ ก็ตาม ขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมและอภัยโทษให้หมดและตั้งต้นกันใหม่

ส่วนอีกประการหนึ่งขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ตัดกำลังและงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ความในพระราชบันทึกความตอนหนึ่งว่า

“ในการที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีทหารรักษาวังไว้ตามเดิมนี้ ก็เพราะว่าบ้านเมืองยังอยู่ในเขตต์เปลี่ยนแปลง ยังไม่มีอะไรแน่นอน ความคิดความเห็นของคนและคณะต่างๆยังพลุกพล่านเต็มที จึงอยากให้มีกรมทหารที่พอจะควบคุมมิให้ยุ่งเหยิงในการเมืองได้ เอาไว้รักษาพระราชวัง และรักษาพระองค์โดยใกล้ชิดเท่านั้น เพื่อเป็นการอุ่นใจ สำหรับข้าพเจ้าเองและเจ้านายพอสมควร

ถ้าหากเหตุการณ์ในบ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเข้าสู่ฐานะปกติ และประชาชนเคยชินและเข้าใจในวิธีกาปกครองแบบใหม่นี้ดีแล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะของกรมทหารนี้ไปได้ ตามแต่จะเห็นสมควรในเวลานั้น

ข้อไขต่างๆ นี้ ถ้ารัฐบาลตกลงจะรับรองแล้ว ขอให้เสนอสภาฯให้ลงมติรับรองด้วยทุกข้อ


ข้อไขต่างๆ นี้ ต้องให้ข้าพเจ้าพอใจว่าได้จัดการให้เป็นไปตามที่ร้องขอมาจริงๆแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะกลับเข้าไปในประเทศสยาม” [7]

ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ยังทำให้ทราบว่า ก่อนที่จะได้พระราชทานบันทึกฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 นั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือจากอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 กับพระราชบันทึกอีก 2 ฉบับ ที่ได้พระราชทานให้แก่อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส เพื่อทรงใช้เป็นคนกลาง เพราะทรงปรารภว่า การที่จะพระราชทานตรงมายังรัฐบาลนั้น จะหาทางไกล่เกลี่ยกันยาก [8]

กล่าวโดยสรุปในพระราชบันทึก 2 ฉบับ ที่ได้ส่งมายังรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 มีดังรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโดยสรุปดังนี้

ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้นได้ทรงขอร้อง 3 เรื่อง ได้แก่ ให้งดไม่ว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง, งดการเลิกทหารรักษาวัง, และให้งดเปลี่ยนแปลงรูปโครงสร้างของกระทรวงวังใหม่ [9]

ส่วนพระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้อง 4 เรื่องได้แก่ ให้ยอมตามข้อขอร้อง 3 ข้อในพระราชบันทึกฉบับที่ 1, ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาลเลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรี และของรัฐบาลเก่า และขอให้ปราบปรามผู้ที่ดูถูกพระราชวงศ์อย่างเข้มงวด, ขอให้แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน, และพยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดต้นไฟ คือ การไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอย่างสุดโต่ง และให้ลดหย่อนผ่อนโทษทางการเมือง [9]

อย่างไรก็ตาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบทูตตอบผู้สำเร็จราชการ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่ารัฐบาลพร้อมจะทำตามพระราชประสงค์ และมีข้อความบางประการที่ทรงเข้าพระทัยผิด

โดยเฉพาะในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้น ได้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกถึงความไม่น่าไว้วางใจในสถานการณ์ที่มีความอันตรายส่วนพระองค์ ภายใต้บรรยากาศรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทางอ้อม รวมถึงความไม่น่าไว้วางใจต่อรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ความตอนหนึ่งว่า

“1. รัฐบาลขอปลด ม.จ.ศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวังอีกหลายนายออกจากตำแหน่ง โดยหาว่ามัวหมองเกี่ยวกับการกบฏ เรื่องนี้เป็นการผิดไปจากความตกลงที่ฉันได้ทำไว้กับพระยาพหลฯ และพระยาพหลฯ กับ หลวงพิบูลฯ ได้รับคำไว้ว่าจะไม่ทำอะไรกับนายทหารเหล่านั้น

การที่เปลี่ยนไปเช่นนี้เป็นการกลับคำ และไม่เชื่อคำพูดของฉันที่ได้ยืนยันว่านายทหารเหล่านี้ ไม่ได้ติดต่อกับบวรเดช แต่ที่ได้ติดต่อกับพระยาสุรพันธ์ฯ และนายทหารที่เมืองเพ็ชรบุรีจริง เพื่อเป็นการรักษาพระองค์ เรื่องนี้จำต้องขอให้รัฐบาลถอนคำขอปลดนายทหารเหล่านี้ และขอให้สัญญาว่าจะไม่รื้อฟื้นขึ้นมาเอาโทษภายหลัง
ถ้าไม่ยอมข้อนี้ ฉันเห็นว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อตัวฉันมาก เท่ากับว่าฉันอุดหนุนบวรเดชทั้งอัน และถ้าเป็นเช่นนั้นฉันควรลาออก
2. มีข่าวว่าจะให้เลิกทหารรักษาวัง เรื่องนี้ฉันได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่ายังยอมไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองยังไม่ปกติ ถ้าเรียบร้อยอย่างแน่นอนแล้ว จะเลิกหรือเปลี่ยนรูปไปบ้างก็ควร

ในเวลานี้ภายในทหารบก ทหารเรือ ก็ยังมีความแตกพวกแตกเหล่าอยู่บ้าง อาจตีกันเมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่มีทหารรักษาวัง ฉันรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเสียเลย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ต้องขอให้มีทหารรักษาวังตามรูปเดิม และขอให้ยอมให้มีอาวุธพอสมควรทำการระวังรักษาได้พอใช้

ทหารรักษาวังมีนิดเดียวจะรบกับกองทัพบก กองทัพเรือทั้งหมดอย่างไรได้ ถ้าไม่ยอมในข้อนี้ฉันต้องถือว่าฉันไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และถูกสงสัยว่าจะต้องการเอาอำนาจคืนโดยกำลังเสมอ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลควรจัดการถอดฉันเสียดีกว่า หรือมิฉะนั้นฉันก็ควรลาออก

3.มีข่าวว่าจะเปลี่ยนรูปโครงการณ์ของกระทรวงวังใหม่ให้เหมือนราชสำนักอังกฤษ เรื่องนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะเก็บเป็นความลับ จนกว่าฉันจะกลับถึงกรุงเทพฯแล้วจึงดำเนินการ ซึ่งเดาได้ว่าการเปลี่ยนเหล่านี้คงจะเป็นไปในทางที่ฉันไม่พอใจ จึงต้องรอให้ได้ตัวไปขังไว้ในเมืองไทยเสียก่อนจึงจะดำเนินการ

เรื่องนี้ต้องขอให้รัฐบาลเลิกล้มความดำริ หรือมิฉะนั้นต้องส่งโครงการณ์ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนี้มาให้ทราบเสียก่อนฉันกลับ มิฉะนั้นจะไม่กลับ ฉันจะไม่ยอมให้ถูกจับขังเป็นเชลย หรือเป็นตัวประกัน (hotage)

และขอบอกอย่างแน่ชัดว่า ถ้ารัฐบาลคิดจะดำเนินวิธีอย่างนี้แล้ว ฉันจะไม่ยอมเป็นอันขาด จะยอมตายดีกว่า ถ้ารู้สึกว่าถูกขังเมื่อใด จะลาออกทันที หรือพยายามหนี แต่จะไม่ยอมให้ขังไว้ทำเล่นตามชอบใจเป็นอันขาด

คนใช้ใกล้ชิดจำเป็นต้องคนที่ฉันไว้ใจได้ และถ้าจะถูกห้อมล้อมไปด้วย spies (สายลับ)หรือผู้คุมแล้ว ทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตั้งแต่ข้าราชการในราชสำนัก ต้องได้รับการยินยอมของฉันก่อนเสมอ และขออย่าให้รัฐบาลมายุ่งเหยิงนัก

ใน 3 ข้อนี้ ฉันขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามรัฐมนตรีทุกคน ถ้าไม่ได้รับคำมั่นนี้ ภายในเดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า จะได้ถือว่ารัฐบาลประสงค์ให้ฉันลาออก และจะได้ส่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งเข้าไปให้”[9]

เมื่อถึงความตอนนี้แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า พระราชบันทึกทั้งหลายนั้น ไม่ปรากฏข้อความใดๆเกี่ยวกับการขายทรัพย์สมบัติเลย มีแต่เรื่องหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยต้องไม่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการที่อำพรางโดยอ้างประชาธิปไตยครึ่งใบในเวลานั้น

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องทหารรักษาวังที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์ และปัญหาการบริหารทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำในการปกครองที่เป็นเผด็จการทางอ้อมของคณะราษฎรที่จะนำไปบริหารจัดการเองนั้น เป็นประเด็นความขัดแย้งในเรื่อง”หลักการ”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ทรงมีพระราชบันทึกที่จะสละราชสมบัติ เพราะทรงไม่เห็นด้วยกับการยึดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นอำนาจเผด็จการทางอ้อมของสมบูรณาญาสิทธิของคณะ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติ และทำให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478[10] ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ โดยทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยภายหลังจากการสละราชสมบัติไปแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มออกแบบกฎหมายใหม่ในเรื่องสำคัญๆได้แก่ การยกเลิกกรมทหารพระราชวังทั้งหมด การให้งานเอกสารทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ส่งคนไปดูแลด้านงานสารบรรณและเอกสารในสำนักราชเลขานุการในพระองค์ และการดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้นายกรัฐมนตรีดูแล เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายต่างๆข้างต้น เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกคาดการณ์มาก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น อันสะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเข้าพระทัยผิด

แต่ความจริงภายหลังต่อมากลายเป็นว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าพระทัยและคาดการณ์

เพราะฝ่ายการเมืองมีเป้าหมายไปถึงไม่เพียงการแย่งชิงที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของพรรคพวกนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขั้นออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลังยึดพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย ตามลำดับของเวลาเป็น บันได 10 ขั้น ดังนี้

บันไดขั้นที่หนึ่ง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ดำเนินการโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขตัดอำนาจของกระทรวงวัง โดย อาศัย พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476 (ฉบับที่ 2)

นั่นคือ การแก้ไขมาตรา 18 ตัด “กรมทหารรักษาวัง กรมมหาดเล็กหลวง และกรมวังออกไปจากหน้าที่ในราชการในกระทรวงวัง”

คงเหลือแต่เพียง “1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี, 2. สำนักงานปลัดกระทรวง, 3.กรมพระคลังข้างที่ และ 4.กรมราชเลขานุการในพระองค์”[11]
บันไดขั้นที่สอง วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของพระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [12] โดยปราศจากอุปสรรค ทหารรักษาวัง ปราศจากกรมมหาดเล็กหลวง และปราศจากกรมวังที่เป็นเครือข่ายเดิมซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

บันไดขั้นที่สาม วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้ผ่านความเห็นชอบ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 แก้ไขมาตรา 22 และมาตรา 23 ให้เรื่องผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และบรรดาเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ความว่า

“หมวดที่ 11 สำนักพระราชวัง

มาตรา 22 ให้สำนักพระราชวังเป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวัง ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

หมวดที่ 12 สำนักราชเลขานุการในพระองค์

มาตรา 23 ให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์ป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการสารบรรณ และการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” [13]

ในบันไดขั้นที่สามนี้ ส่งผลทำให้ “การดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” และ สำนักราชเลขานุการที่เพิ่งให้ขุนนิรันดรชัยมาอยู่ในสำนักราชเลขานุการในพระองค์นั้น ดูแลเรื่องการจัดการงานสารบรรณ (หรืองานเอกสารทั้งหมด) และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ หรือคณะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป
บันไดขั้นที่สี่ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปลงพระชนม์ด้วยพระแสงปืน[14]
ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 คืนเท่านั้น หลังจาก พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น “กฎหมายฉบับสุดท้าย” ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์


โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัน ดิสกุล ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงพระนามในการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ความว่า

“ลูกกรมอนุวัตรฯทั้ง 4 คน ไปหาพ่อพร้อมกันโดยมิได้นัดแนะ ไปถึงเห็นพ่อบรรทมอยู่บนเก้าอี้ยาว ท่าทางไม่ค่อยทรงสบาย ก็นึกกันว่าเป็นเช่นนั้นตามเคย

เห็นแปลกอยู่แต่ก่อนเวลาจะกลับกรมอนุวัตรฯ เรียกลูกเข้าไปจูบทุกคน และเรียกหม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิศกุล ลูกเขยเข้าไปว่าจะวานให้เขียนจดหมายถวายสมเด็จพระพันวสาฉบับหนึ่ง แต่แล้วบอกว่า “ไม่เขียนละ เพราะไม่ต้องก็ได้” แล้วหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุลก็กลับ พอรุ่งเช้าก็มาตามว่า กรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว”[14]

บันไดขั้นที่ห้า วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2478 สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งซ่อม พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการ และลงมติตั้ง นายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [15] และกลายเป็นกลุ่มคณะผู้สำเร็จราชการที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่

บันไดขั้นที่หก ระหว่าง 20 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแห่รุมซื้อหรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ขายที่ดินของพระองค์เองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งกระทู้ถามและมีการอภิปรายการทุจริตเชิงนโยบายที่อื้อฉาว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
โดยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้แต่ตอบกระทู้และอภิปรายว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็น “พระกรุณาฯ”ของคณะผู้สำเร็จราชการ [16]

บันไดขั้นที่เจ็ด วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 โดยแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากกัน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกออกแบบมา เพื่อใช้สำหรับการฟ้องร้องเอาผิดย้อนหลังการโอนและใช้จ่ายในธุรกรรมการเงินของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ด้วย [17]

บันไดขั้นที่แปด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

จึงเท่ากับ “ราชเลขานุการในพระองค์” เข้าควบคุมเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอย่างสมบูรณ์

ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามว่า หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คือ หนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกตามพระราชอำนาจที่จะทรงกระทำได้เป็นการชดเชยกัน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดียึดทรัพย์ “สูญหายไป” นั้น[18] จะเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขานุการในพระองค์ที่ถูกส่งตัวมาจากรัฐบาล หรือไม่อย่างไร

บันไดขั้นที่เก้ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 [19]
ต่อมา กระทรวงการคลังฟ้องร้องและอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียึดวังก่อนมีคำพิพากษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าแทรกแซงโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้ออกจากคดีความ [20]
ส่งผลทำให้สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีหมดพระราชทรัพย์ที่จะต่อสู้คดี[21] การเข้าถึงเอกสารหลักฐานได้ยาก อีกทั้งหลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินในขณะที่อยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกันสูญหาย[17] ทำให้แพ้คดีความในศาลเดียว ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาอีกต่อไป [22]

บันไดขั้นที่สิบ เมื่อยึดวังได้แล้ว มีการนำทรัพย์สินส่วนพระองค์และเงินในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของครอบครัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตามคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ในศาลอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความว่า


“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...
...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[23]
จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าจากการปล่อยข่าวเรื่องการขายพระแก้วมรกตที่ไม่มีหลักฐาน และไม่มีมูลความเป็นจริงเลยนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระราชบันทึกลับ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นการตั้งใจวางแผนชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เพื่อทำนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกผู้ก่อการในคณะราษฎรกันเองตั้งแต่ต้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] The New York Times Archives, KING OF SIAM MAKES THREAT TO SELL OUT; He Says He Will Dispose of Vast Property in New Move for Absolute Power., The New York Times, January 22, 1935, Section BOOKS ART-BOOKS, Page 21
https://www.nytimes.com/1935/01/22/archives/king-of-siam-makes-threat-to-sell-out-he-says-he-will-dispose-of.html?searchResultPosition=1

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 831-1078
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 840-841

[4] “มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”, ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, เล่ม 49, 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475, หน้า 534
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_thcons/2cons2475.pdf

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 842
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 843-845

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 846- 850

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 852

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 868-870

[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476, เล่ม 51, 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2), หน้า 1441-1442
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1440.PDF

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478, เล่ม 52, วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1232-1233
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1229.PDF

[14] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8
หน้า 188-189

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[16] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[17] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[18] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31

[19] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[20] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[21] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307

[22] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 32

[23] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf


กำลังโหลดความคิดเห็น