xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม3.2พันล้านพัฒนาเกษตรกร นำร่องที่"อีอีซี"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกฯทุ่ม 3.2 พันล้าน เดินหน้าแผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่ อีอีซี ปั้นเป็นต้นแบบ เพิ่มจีดีพีท้องถิ่น เริ่มปีหน้า 56 โครงการ ใน 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา (18 ธ.ค) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่ตรงนี้ เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ การดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตร แก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ

1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนกันนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซี ให้พร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนฯระยะ 5 ปี (2565-2570) ประกอบด้วย โครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map)โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตร อัจฉริยะ : มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซี อย่างเป็นรูปธรรม โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณหน้า จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมาก แต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก อีกทั้งผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดใน อีอีซี


กำลังโหลดความคิดเห็น