"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
“ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามวัง ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมศุโขไทยธรรมราชา ว่า “วังศุโขไทย”” [1]
ข้อความข้างต้นคือประกาศของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อันเนื่องมาจากที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างวังแห่งนี้เพื่อเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรส ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมศุโขทัยธรรมราชา กับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์
หลักฐานข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วังศุโขไทย เป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานสร้างวังนี้ให้เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ก่อนจะขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อย่างชัดเจน
ภายหลังจากการที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับ พ.ศ.แบบปฏิทินปัจจุบัน) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังได้ทำการฟ้องร้องคดีความแพ่งต่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้หรือใช้จ่ายในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 รวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น 6,272,712 บาท 92 สตางค์ [2]
ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการที่เป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจในการใช้จ่ายเงินจากกรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายจำกัดการใช้พระราชอำนาจในทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ใดๆด้วย
แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไปแล้ว แต่ความจริงทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในนามกรมพระคลังข้างที่ ได้มีการแบ่งแยกกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่อการใช้เงินพระคลังข้างที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจากหลักฐานตามเวลา ชัดเจนว่าธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจ “ก่อน” ที่จะสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 อย่างชัดเจน
หลักฐานตามเวลา ยังชัดเจนด้วยว่า ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 นั้น ก็เป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่จะมี พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ด้วย [3]
ดังนั้นการใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง จึงเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในภายหลังธุรกรรมทางการเงินที่เกิดเหตุไปก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น
การฟ้องร้องเป็นคดีความนี้ มีประเด็นที่น่าจะพิจารณา ดังต่อไปนี้
ประการแรก การฟ้องร้องคดีได้อาศัย พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 อันเป็นกฎหมายใช้บังคับให้โทษย้อนหลังธุรกรรมทางการเงินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่ได้เกิดไปแล้ว
ประการที่สอง เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโอนเงินพระคลังข้างที่โดยอาศัยพระราชอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกรัฐบาลฟ้องร้องดำเนินคดีความเพื่อยึดทรัพย์คืน [2]
ตรงกันข้ามกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายที่ถูกอภิปรายว่าได้รุมซื้อ เช่า หรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงยังเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ นักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ นอกจากจะไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ใดๆแล้ว ยังได้รับคำยืนยันจาก พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่อง “พระกรุณาฯ” ของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รัฐบาลมิอาจก้าวล่วงได้
สองเหตุการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตรรกะเรื่องพระราชอำนาจขัดแย้งกันเอง ทั้งๆที่สองกรณีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะมีผลบังคับใช้ [4]
ประการที่สาม รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามโดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก่อนจะมีคำพิพากษาเป็นผลสำเร็จ โดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์อันเป็นผลทำให้ไม่มีทรัพย์สินภายในประเทศไทยที่จะต่อสู้คดีในกรุงเทพต่อไปได้ [5]
ประการที่สี่ มีการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้โยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง ภายหลังศาลแพ่งยกคำร้องของรัฐบาลที่จะอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก่อนมีคำพิพากษาถึง 2 ครั้ง รวมถึงการปลดผู้พิพากษาคนเดียวกันนี้ให้ออกจากราชการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยอมรับกับผู้พิพากษาที่ถูกปลดออกจากราชการว่า ไม่ได้มีความผิดใดๆ แต่เป็นเรื่องการเมือง [6]
ประการที่ห้า เนื่องจากคดีดังกล่าวนี้ศาลให้พิจารณาลับ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นถึงพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่เคารพสักการะของไทยจึงให้พิจารณาลับเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ รายละเอียดเนื้อหาและเหตุผลของคำพิพากษาจึงไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างสมบูรณ์ [2]
อย่างไรก็ตามปรากฏในเวลาต่อมาว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้ปรากฏในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ซึ่งได้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้ทราบข้อมูลอันเป็นประเด็นสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
ประการที่หก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินไปยังอังกฤษ เพื่อผ่าตัดรักษาพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเอกสารสำคัญในประเทศไทย “หายไป”
เอกสารดังกล่าวคือ หลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกัน ความปรากฏในการพระราชบันทึก การสัมภาษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า
“ในการเสด็จพระราชดำเนินยังประเทศอังกฤษครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเล่าว่า มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เหมือนกัน โดยเท้าความเข้าใจแต่ต้นว่า
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศุโขทัยธรรมราชานั้น มีเงินที่เป็นส่วนพระองค์ที่ได้รับพระราชทานเป็นประจำอยู่ ซึ่งเป็นเงินทุนส่วนของวังศุโขทัย แต่เมื่อขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เงินส่วนที่ว่านี้ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้ คงสะสมเอาไว้ คงใช้เงินส่วนที่เป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษ ในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้ว่า ให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน เงินอยู่เมืองนอกนั้นเป็นเงินกองกลางสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทุกองค์จะเบิกมาใช้ได้
ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด เงินที่จะเอาติดตัวไปก็น้อย และเมื่อไปแล้วจะให้ส่งไปก็ส่งไม่ได้”
“เงินเมืองนอกที่ว่านี้มีมาแต่สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเงินส่วนของวังศุโขทัยที่ว่านี้ก็เป็นเงินที่ใช้ทดแทนกันนั่นเอง แต่แล้วก็กลายเป็นถึงฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วเอกสารของในหลวงที่ทรงไว้เกี่ยวกับการทดแทนกันก็หากันไม่พบ ไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปไหน” [7]
ซึ่งแน่นอนว่าในขณะที่มีการฟ้องร้องและทำการยึดทรัพย์นั้น คือช่วงเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติไปแล้ว การดูแลเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวังทั้งหมด จึงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของผู้ก่อการคณะราษฎร โดยมี “ขุนนิรันดรชัย” เป็น “ราชเลขานุการในพระองค์”
ประการที่เจ็ด ไม่มีคนไทยยอมรับเป็นทนายให้ในฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ต่อในประเด็นนี้ว่า
“...พระราชวังไกลกังวลในหลวงพระราชทานให้ฉัน ข้าวของทุกชิ้นที่นั่นทรงให้จารึกอักษรย่อว่า ร.พ.ทั้งนั้น...
...ทีนี้เขาก็ฟ้องอีกหาว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาเงินของแผ่นดินที่เมืองนอกไปใช้ ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่า เป็นเงินส่วนของพระเจ้าแผ่นดิน และในหลวงก็ทรงทำหนังสือทดแทนกันอย่างที่ว่าแล้วเกิดหนังสือนี้มันหายไป
ระหว่างนี้ก็ได้ทราบว่าได้มีการส่งคนไปยึดวังไกลกังวลกันเฉยๆ ในหลวงท่านรับสั่งว่าจะขอเข้ามาสู้คดี ทางนี้เขาก็ไม่ยอม ขอมาอยู่แค่อินเดียเพื่อจะได้ติดต่อได้ง่ายก็ไม่ยอมอีก ก็เลยติดต่อกันทางหนังสือ ทนายความฝ่ายเราน่ะเป็นบริษัทฝรั่ง ไม่มีคนไทยเขายอมรับเป็นทนายให้เพราะเขาไม่กล้ากัน” [7]
สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มิได้ทรงมีโอกาสต่อสู้คดีในศาลเนื่องจากประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยในชั้นแรก ทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จมาประทับที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียชั่วคราว เพื่อที่ได้ทรงติดต่อกับนาย วี.เอช.เจ็กส์ ทนายความชาวอังกฤษได้สะดวก ได้ทรงจองเรือเมล์ไว้แล้ว
แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จึงต้องกลับพระทัยงดมาประทับที่อินเดีย และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์ของจำเลยหมดสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ที่จะต่อสู้คดีต่อไป
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เพราะทนายความต่างชาติไม่สามารถจะมีข้อมูลหรือเข้าถึงหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับในสำนักพระราชวังได้โดยง่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่สามารถที่จะเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยพระองค์เอง ในช่วงการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังมีการอายัดทรัพย์สินในพระราชวังทั้งพระราชวังไกลกังวล และวังศุโขไทยเอาไว้แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นวังที่มีความสำคัญในค้นหาเอกสารและหลักฐานทั้งปวง และการติดต่อกันทางหนังสือในคดีสำคัญในยุคที่การสื่อสารยังไม่พัฒนานั้น ย่อมอยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการต่อสู้คดี
ประการที่แปด สมเด็จพระปกเกล้าฯสิ้นพระชนม์ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยปรากฏว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 แต่ในขณะที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 สมเด็จพระปกเกล้าฯจึงไม่สามารถจะไปต่อสู้คดีให้จบลงด้วยพระองค์เองได้
ประการที่เก้า เป็นการพิพากษาศาลเดียว จึงย่อมไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา โดยหลังการอายัดทรัพย์ทำให้เงินทองไม่ค่อยมีเหลือ ทำให้จำเลยถูกยึดทรัพย์ไปในที่สุด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า
“แต่ผลที่สุดเราก็แพ้เขาไป คดีแค่ศาลเดียวเท่านั้น เขาตีราคาวัง 3 ล้าน รวมกับที่ดินแล้วก็เป็น 6 ล้านด้วยกัน”
ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในอังกฤษนั้น ในหลวงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการเสด็จฯเที่ยวตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ “ไปไหนไม่ค่อยสะดวกนักหรอก เพราะเงินทองก็ไม่ค่อยมี”” [8]
ประการที่สิบ นอกจากยึดวังไปแล้ว รัฐบาลยังได้ยึด “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ที่ได้มา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะขึ้นครองราชย์ไปด้วย และเตรียมขายทอดตลาด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า
“ระหว่างที่ในหลวงครองราชย์นั้น โดยตำแหน่งไม่มีเงินปีเป็นของพระองค์เอง เพราะถือว่าใช้ด้วยกันกับพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นในหลวงได้อยู่ปีละ 6 ล้านบาท แต่ต่อมาเหลือ 3 ล้านบาท
ในหลวงท่านทรงตัดยอดเงินเอง เพราะทรงเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตอนที่เป็นคดีกันนั้น เมื่อสิ้นสุดแล้ว และเมื่อทรงสละราชสมบัติทรัพย์สินส่วนพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงศุโขทัยธรรมราชา ก็พลอยถูกยึดไปด้วยหมด ทั้งๆที่พระองค์ท่านก็ได้ระบุไว้ชัดว่า สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงก่อนที่จะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์” [8]
ต่อมากองบังคับคดีทางแพ่ง ได้ออกประกาศขายทอดตลาดกองบังคับคดีทางแพ่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยนำทรัพย์สินในวังจำนวนกว่า 288 รายการ 14 หีบเพื่อมาขาย รวมถึง เครื่องประดับ อัญมณี เครื่องใช้ในวัง เป็นต้น
แต่ต่อมากรมบังคับคดีก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เพื่อระงับการขายเอาไว้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยประเทศไทยอยู่ในช่วงการถูกกดดันให้ลงนามทางการทหารฝ่ายอักษะและยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด
เหตุการณ์ การหยุดขายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังควรต้องถูกบันทึกเอาไว้อีกด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแผนโยกย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เพชรบูรณ์ เนื่องด้วยเพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม กรุงเทพมหานครจึงมีความเสี่ยงถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร [9]
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงปรากฏคำสัมภาษณ์ภายหลังต่อมาของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552 โดยคณะผู้สัมภาษณ์นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ขอกราบเรียนสัมภาษณ์ในขณะที่หลวงปู่ มีอายุ 98 ปี
ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีการบันทึกมาก่อนหน้านั้นว่า เมื่อปี พ.ศ. 2489 พระอุดมญาณโมลีเป็นผู้ที่ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ ที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร ได้ความว่า
“…เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งในขณะนั้นสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่ง ซึ่งจำไม่ได้เพราะทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถยนต์ ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด แล้วไอน้ำดันเครื่องยนต์ทำงานขับเคลื่อนล้อรถ เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก…
…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆ อันมีค่าของชาติ” [10]-[12]
จากข้อมูลดังกล่าวนี้ จึงทำได้รู้ว่าพระแก้วมรกตองค์จริงได้เคยถูกอัญเชิญย้ายจากกรุงเทพมหานครมาที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาก่อนหน้านี้ พร้อมกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรบ้าง มาจากสถานที่ใด พระราชวังใด และขนย้ายมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปถูกซ่อนเอาไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เป็นเวลาหลายปี ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี [10]-[12]
ถ้าปราศจากบทสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 นี้ ก็คงจะไม่เหลือพยานสำคัญที่จะมาต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องประเด็นผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญครั้งนี้ได้เลย
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ย้ายมาอยู่ที่ “วังศุโขทัย “ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยเช่าอาคาร ต่าง ๆ จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ที่วังศุโขทัย เป็นเวลานานถึง 8 ปี [13]
จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 แผนการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ต้องเป็นอันต้องยุติลงไป เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36 ในการลงมติเพื่อรับรอง พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 ด้วยเหตุผลว่า
“เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน....” [9]
หลังจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 และประเทศญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ แต่พระแก้วมรกตและทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ที่ถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ เหมือนเดิม
ความสามัคคีร่วมมือกันในการกอบกู้ชาติไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงครามกลายเป็นหลักการใหญ่ ภายใต้ขบวนการเสรีไทย ซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเจ้าซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทยในหลายประเทศ จนสามารถฝ่าวิกฤติชาติได้
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และมีข้อตกลงที่หาทางคลี่คลายความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกด้วย โดยเฉพาะข้อตกลงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมปลดปล่อยนักโทษการเมืองให้กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาขุนชัยนาทนเรนทรและคนอื่นๆด้วย [14]
วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกประกาศสันติภาพ ใจความว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้
ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เพื่อที่จะไม่ต้องทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พลตรีประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย ต้องถูกฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับนำส่งอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศ
รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้เร่งผลักดันให้มี พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 [15] เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีศาลอาชญากรสงครามในการพิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรสงครามในประเทศไทยได้เอง
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศไทย และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหาราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก [16] โดยการเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับ
ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ศาลฎีกาคดีอาชญากรสงคราม ได้มีคำพิพากษา เลขที่ 1/2489 สรุปความว่า พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ไม่สามารถเอาผิดจำเลยทั้งสี่คนได้ เพราะเป็นการกระทำทีเกิดขึ้นก่อนกฎหมายประกาศบังคับใช้วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 จอมพลป. พิบูลสงคราม และคณะจึงรอดพ้นการลงโทษคดีอาชญากรสงครามไปได้ [17]
อย่างไรก็ตามจากคำให้การในศาลอาชญากรสงครามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเกิดเหตุก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการได้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสาระสำคัญสรุปได้ 2 ประเด็นสำคัญว่า
ประเด็นแรก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เคยมาขอเงินพระราชทานจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการไปใช้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ได้ยินยอมให้เงินพระราชทานไปด้วยความไม่เต็มพระทัย โดยขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการ ที่มาติดต่อนั้นใช้การพูดที่เป็นการข่มขู่กลายๆ [18]
ประเด็นที่สอง “ขุนนิรันดรชัย” ได้เคยนำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและสมเด็จพระราชินี ซึ่งไม่ได้อยู่ที่พระราชวังศุโขไทย ไปให้ครอบครัวจอมพล ป.ใช้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการอีกด้วย [18]
ซึ่งถ้าทำให้การนี้เป็นจริง ก็แปลว่ามีบัญชีทรัพย์สินอย่างน้อยก็ “เครื่องพระสำอางค์” และ “เงิน” ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และหรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมสูญหายไปด้วยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามหรือไม่ และจะมีทรัพย์สินอื่นสูญหายไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของคนในรัฐบาลจะมีมากกว่านี้อีกหรือไม่
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 หลังคำพิพากษาศาลอาชญากรสงครามผ่านไป 1 วัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 โดยมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร แทนนายควง อภัยวงศ์ ที่ลาออกไปเพราะแพ้มติสภาที่เสนอกฎหมายที่รัฐบาลรับไม่ได้
โดยหลังจาก นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว จึงเกิดการขนย้ายพระคลังสมบัติและอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ถูกนำไปซ่อนไว้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาที่ กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ตามหนังสือแจ้งของ พันเอกหาญ อุดมสรยุทธ์ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 [10]-[12]
โดยปรากฏคำสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ในขั้นตอนการขนย้ายกลับพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ความตอนหนึ่งว่า
“โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้ายๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย
โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน…” [10]-[12]
อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงเล่าลือในหมู่ชาวบ้านละแวกนั้นว่า ยังมีสมบัติอีกส่วนหนึ่งถูกซ่อนไว้ไม่ได้ขนกลับไป หรือว่าทหารลืมขนสมบัติกลับไป [10]
หนึ่งเดือนเศษผ่านไป นับแต่วันเสร็จสิ้นภารกิจอัญเชิญพระแก้วมรกต และทรัพย์สินอื่นๆกลับกรุงเทพ ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ในขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวโจมตีให้ร้ายเพื่อกำจัด นายปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ จนเป็นเหตุทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง และการลาออกในครั้งหลังนี้ จึงได้ส่งไม้ต่อไปให้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ให้ความไว้วางใจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2498
นับเวลาได้ 7 เดือน ภายหลังจากการเสร็จภารกิจในการย้ายพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์กลับมาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามีความครบถ้วนเพียงใด แต่ก็ได้เกิดสัญญาที่สำคัญในการ “เลิกแล้วต่อกัน” ในการคืนวังศุโขทัย ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ “ที่ยังเหลือ” คืนให้กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีตามมา
โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ทำสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยมีสาระสำคัญสรุปว่า
บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น ส่วนวังศุโขไทยจะให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประทับอยู่ไปจนกว่าจะสวรรคต (ซึ่งหมายความว่าไม่ยอมคืนให้) และรวมถึงการเจรจาที่มีมาก่อนหน้านี้ที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย
ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ซึ่งสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และเป็นผลทำให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้อีก 150 วัน
หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์จึงถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง และทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2491 และรอบนี้เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 9 ปี 161 วัน
หลังจากนั้นกว่าที่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จะเสด็จกลับมาประทับยังวังศุโขไทยอีกครั้ง ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ความตอนนี้ว่า
“ตอนที่ญี่ปุ่นบุกเมืองไทยนั้น ในหลวงสวรรคตแล้ว ทางรัฐบาลก็มีหนังสือไปอัญเชิญเสด็จฯกลับ แต่ฉันก็ไม่เคยนึกว่าจะได้กลับเมืองไทยหรอก จนกระทั่งเสร็จสงครามแล้ว ตอนกลับมาไม่มีบ้านอยู่หรอก เพราะวังศุโขทัยเขาใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข ก็เลยต้องไปอาศัยอยู่วังสระปทุมถึง 2 ปี ถึงจะได้กลับมาอยู่ที่นี่ (วังศุโขทัย)ก่อนจะเข้าอยู่ต้องซ่อมเสียยกใหญ่”[8]
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังได้ทรงเล่าตัวอย่างเพิ่มเติมว่ามี “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” บางอย่างที่มีคุณค่าแก่ความทรงจำและจิตใจในงานแต่งงาน แต่ก็ไม่ได้กลับคืนมาหรือหายไป ความว่า
“แม้แต่เครื่องยศ หีบทองอันหนึ่งที่พระมงกุฎฯพระราชทานให้ฉันในวันแต่งงาน ก็เก็บเอาไป จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คืน”[8]
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1] “ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๒๔๗
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/A/247.PDF
[2] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482
[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1
[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480
[5] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7, หน้า 306-307
[6] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65
[7] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 32
[9] จุฑามาศ ประมูลมาก เรียบเรียง, นรนิติ เศรษฐบุตร และนิยม รัฐอมฤตผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์
[10] ธีระวัฒน์ แสนคำ, อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปประดิษฐานในถ้ำพร้อมสมบัติอีกอื้อ ?!?,ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับมิถุนายน 2558, เผยแพร่ในเว็บไซต์วันที่ 17 สิงหาคม 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_17347
[11] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 1),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38, สิงหาคม 2552
[12] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 2),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 พฤศจิกายน 2552
[13] ประวัติกระทรวงสาธารณสุข, เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
https://www.moph.go.th/index.php/about/moph
[14] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด, จำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, พิมพ์ครั้งที่สอง, เมษายน พ.ศ. 2526 หน้า 550-551
[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488, ตอนที่ 58, เล่มที่ 62, หน้า 591, วันที่ 11 ตุลาคม 2488
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13367/SOP-DIP_P_401936_0001.pdf?sequence=1
[16] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 62, ตอน 52ก, 20 กันยายน พ.ศ. 2488, หน้า 559
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/052/559.PDF
[17] ธโนชัย ปรพัฒนชาญ ผู้เรียบเรียง, จเร พันธุ์เปรื่อง ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, อาชญากรสงคราม, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อาชญากรสงคราม
[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124