ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2มีนาคมพ.ศ. 2478แล้วก็ได้มีพระราชหัตถเลขาในวันที่ 7มีนาคมพ.ศ. 2478ความว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์
บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบไป” [1]
ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎร ก็ได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอานันทมหิดล ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของคณะราษฎร ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 [2]
โดย พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 นี้มีความพยายามที่จะต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรก
การให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในเวลานั้นยังไม่มีความชัดเจนถึงวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ว่าจะดำเนินการอย่างไรและด้วยอำนาจของใครซึ่งก็คือกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่กำลังจะตามมา และได้ใช้เป็นกฎหมายที่จะฟ้องร้องยึดทรัพย์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้กลับคืนมา
ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัยได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์
หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม [3]
โดยกรมตำรวจในยุคนั้น ได้บันทึกรายงานการไต่สวนว่าสาเหตุมาจากทรงประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระปกเกล้าฯ [4]
หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทน [5] ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อครั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรเป็นอย่างดีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
หลังจากนั้น พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล
โดยมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)
แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[6]
โดยก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับรัฐบาล“ชิงตัดหน้า” แบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนจ่ายในราคาถูกๆ จำนวนมาก
หลังจากที่นักการเมืองและข้าราชการได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่กันในราคาถูกๆแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็นนายพันตรี [7]
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [7] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไป ขุนนิรันดรชัยจึงได้ทำงานกับ จอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม
โดยภายหลังจากการที่ ได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ฟ้องร้อง“เอาผิดย้อนหลัง” การโอนเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้ในช่วงปี “พ.ศ. 2475 - 2477” ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 และก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2480 ด้วย
ทั้งนี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 สรุปว่า
โดยในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำเลยที่ 1 ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระชายาทรงเป็นพระบรมราชินี พระองค์ได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระนามของพระองค์เองโดยไม่มีพระราชอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งทรัพย์สินต่างๆที่รัฐบาลฟ้องเรียกคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรัพย์สินที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้ในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477
ในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินที่พระองค์ควรได้รับตามสัญญาเข้าไปในบัญชีเงินฝากของจำเลย ณ ธนาคารในกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ค เป็นการกระทำให้เกิดผลโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โอนและจ่ายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ดังกล่าวทั้งหมดรวมแล้วเป็นเงิน 4,195,895 บาท 89 สตางค์
ซึ่งรัฐบาลเรียกให้พระองค์ต้องคืน หรือใช้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่รัฐบาลอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โอนและจ่ายจนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,025,351 บาท 70 สตางค์ และให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินกับดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันฟ้อง ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมเป็นเงินทั้งสิ้นถึงวันพิพากษาเป็นเงิน 6,272,712 บาท 92 สตางค์[8]
คดีดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการนำ “กฎหมายที่ออกมาภายหลัง” มาลงโทษย้อนหลังกับจำเลยแล้ว ยังต้องถูกตั้งคำถามเทียบเคียงถึงกรณีที่ผู้คนในรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรตลอดจนคนแวดล้อมประธานคณะผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการในสำนักพระราชวัง ชิงตัดหน้าเพื่อซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในราคาถูกๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวว่าควรจะดำเนินการอย่างไร
เพราะการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆของพวกพ้องในคณะราษฎร ก่อนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เป็นการโอนย้ายหรือจำหน่ายเพื่อประโยชน์ผลส่วนตัวโดยปราศจากประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น สมควรที่จะถูกยึดทรัพย์ ด้วยเพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วยหรือไม่
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนของคดีนี้เช่นกัน คือการยื่นคำร้องของฝ่ายรัฐบาลให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนมีคำพิพากษา โดยเฉพาะการยึดทรัพย์วังศุโขทัยซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ด้วย
โดยคดีนี้“ฝ่ายการเมือง” ได้การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้น ได้เปลี่ยนตัวโยกย้ายพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)“อธิบดีศาลแพ่ง”ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้พ้นคดี หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการปลดออกจากราชการด้วย
โดยในเวลานั้นพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)อธิบดีศาลแพ่งไม่เห็นชอบให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนคำพิพากษาโดยที่ฝ่ายรัฐบาลยื่นคำร้องถึง 2ครั้ง
ปรากฏหลักฐานในงานพระราชทานเพลิงศพของ“พระสุทธิอรรถนฤมนต์ (สุทธิ เลขยานนท์)”เมื่อวันที่ 18มีนาคมพ.ศ. 2521ได้มีการเผยแพร่หนังสือเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ใน“บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการใหม่”ความบางตอนว่า
“...แต่ก่อนจะพิจารณาเนื้อหาของคดีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือที่ 3068/2482 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2482 ถึงอธิบดีศาลฎีกาว่า ได้ให้ข้าพเจ้านำหนังสือนี้มาเพื่อให้ข้าพเจ้ามาช่วยราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาชั่วคราว ข้าพเจ้าได้นำหนังสือนี้ไปรายงานตัวต่ออธิบดีศาลฎีกา ท่านก็จัดให้ข้าพเจ้าเข้ารับราชการในศาลฎีกา เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2481ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2482 รวมเป็นเวลาเพียง 5 เดือนกับ 25 วัน ซึ่งนับว่าสั้นมาก
..ที่ว่ามีความเสียใจก็ด้วยเหตุว่าการย้ายข้าพเจ้าครั้งนี้ไม่เป็นไปโดยลักษณะหรือเหตุผลอันควร เป็นการเสียหลักอย่างมากในทางศาล เป็นความเสียใจอย่างมาก...
...จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2484 ปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงมีหนังสือที่ 2/2484 ถึงประธานศาลฎีกาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาเห็นสมควรให้ข้าพเจ้าออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญฐานรับราชการนาน และให้ข้าพเจ้าออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2484 เป็นต้นไป...
...ด้วยมารยาทเมื่อข้าพเจ้าจะต้องออกจากงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฉะนั้นในวันสิ้นเดือนมกราคม ข้าพเจ้าได้ไปหาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อลา...ลงท้ายท่านรัฐมนตรีก็กล่าวออกมาตรงๆว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำผิดแต่ต้องออกจากราชการเพราะการเมือง”[9]
ภายหลังจากการที่ศาลอุทธรณ์ให้อายัดและยึดทรัพย์แล้วได้มีผลกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯอย่างมาก เพราะไม่มีเงินที่จะไปสู้คดีต่อไปได้และต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ดังความปรากฏในบันทึกของ“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”จดบันทึกเอาไว้เมื่อครั้งเป็นพระสุณิสา (ลูกสะใภ้)พระราชโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ในขณะพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษความตอนหนึ่งว่า
“คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงถูกฟ้องจากรัฐบาลไทยว่าขณะที่ทรงดำรงพระฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศได้ทรงนำเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้จ่ายในการเสด็จฯ ต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆและเพื่อรักษาพระเนตร
กรมพระคลังข้างที่นั้นเดิมเป็นสำนักงานจัดการผลประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์รวมทั้งทรัพย์สินขอพระมหากษัตริย์ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ด้วยพระคลังข้างที่เพิ่งจะมาแยกออกเป็นสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และสำนักงานพระคลังข้างที่เมื่อปีพ.ศ. 2477ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากการเสด็จฯต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. 2476
การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้นทุกคนทราบดีว่ามีการเมืองเป็นต้นเหตุคือรัฐบาลต้องการกลั่นแกล้งและให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องราวเกลียดชังเจ้านายและระบอบกษัตริย์เพราะทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องและกฎหมายย่อมทราบดีว่าพระมหากษัตริย์ย่อมจะทรงให้เงินจากกรมพระคลังข้างที่ได้เพราะทรงมีสิทธิและอำนาจที่จะใช้จ่ายในกรณีใดๆก็ได้หรือจะพระราชทานเงินแก่ผู้ใดก็ได้...
...เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยึดทรัพย์ของจำเลยจนหมดสิ้นแล้วฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ทางกรุงเทพฯที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป...” [10]
นอกจากนั้น“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”ยังได้บันทึกคำตรัสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2484 ความว่า
“อย่าหาว่าฉันเห็นแก่ตัวเลยนะแต่ถ้าหากฉันตายไปแล้วเล็กกับมณีกลับไปอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ฉันขอร้องขออย่าให้เล็กไปรับราชการหรือไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยแต่อย่างใดตราบเท่าที่หลวงพิบูลสงครามยังเป็นใหญ่อยู่เพราะฉันถือว่าเขาเป็นผู้อยุติธรรมที่สุดทั้งเป็นศัตรูของฉันด้วย...” [11]
นอกจากนี้ยังเคยมีรับสั่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจเพราะทรงยังมีความหวังในยามที่สถานการณ์ที่อยุติธรรมเช่นนี้ ในบันทึกข้อความว่า
“ในขณะนี้มีคนไทยประณามด่าว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสีฉันทุกสิ่งทุกอย่างแต่สักวันหนึ่งในอนาคตประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจะจารึกไว่ว่าฉันเป็นนักประชาธิปไตยฉันรักและหวังดีต่อประเทศไทยสักเพียงใด” [12]
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพพัวพงษ์พันธ์
อ้างอิง
[1] สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ISBN-974-8053-70-9 หน้า 141
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/463199/2536_ร7_สละราชสมบัติ_สผ.pdf?sequence=1
[2] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477, เล่ม 52, 21 เมษายน พ.ศ. 2478, หน้า 79
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14869/SOP-DIP_P_401112_0001.pdf?sequence=1
[3] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8 หน้า 188-189
[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71
[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประกาศตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม 52 หน้า 1260
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF
[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1
[7] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)
[8] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482
[9] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65
[10] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 328
[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 335