xs
xsm
sm
md
lg

5 ธันวาคม วันดินโลก พระราชกรณียกิจเรื่องดินของ ร. ๙

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่   (ภาพบน) | โครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี(ภาพล่าง)
"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ที่ประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง “วันดินโลก” (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เหตุผลที่เอฟเอโอเลือกวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลกของทุกปี สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและนานาชาติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ จึงได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555 และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”

โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการฟื้นฟูรักษาสภาพดินที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้

1. โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เป็นศูนย์การศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงที่ดินเสื่อมโทรม ตั้งอยู่ที่บ้านเขาชะงุ้ม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่โครงการได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

2. โครงการแกล้งดิน ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวภาคใต้ โดยเฉพาะเกษตรกรจังหวัดนราธิวาสที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาและพัฒนาดินพรุแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง โดยวัตถุประสงค์คือเปลี่ยนเป็นดินมีคุณภาพให้ประชาชนทำการเพาะปลูกได้ วิธีการแกล้งดินเริ่มจากการทำให้ดินเปรี้ยวสุดขีดเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัด จากนั้นทำการปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ ที่ช่วยลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ระดับที่สามารถเพาะปลูกพืชได้

3. โครงการหญ้าแฝก ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารธนาคารโลกที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริโครงการหญ้าแฝก โดยให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอย่างมากมายหลายพื้นที่ด้วยกัน

4. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 216 ไร่ พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของพื้นที่จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ณ พื้นที่ดังกล่าวรวมทั้งหมู่บ้านรอบๆ ศูนย์อีกด้วย โดยวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อนเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและสนามทดลองทางด้านการเกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม เพื่อพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตน

5. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ตั้งอยู่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่แห่งนี้้เคยมีความอุดมสมบูรณ์ที่มากมาก่อนถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเกิดพื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนไม่สามารถทำการเกษตรได้ พระองค์จึงพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาด้านป่าไม้อเนกประสงค์

6. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ตั้งอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์แห่งนี้ได้นำพระราชดำริของ มาใช้ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ ด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติใช้ได้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดินของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ล้วนเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น

ถ้าคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้รับรู้ถึงความหมายของพระนาม “ภูมิพลอดุลยเดช” ที่สมเด็จย่า เคยมีรับสั่งกับพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร ไว้ว่า “อันที่จริงเธอก็ชื่อภูมิพล ที่แปลว่า กำลังของแผ่นดิน แม่อยากให้เธออยู่กับดิน”


ถ้าคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มีพระราชปรารภถึงสิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเคยรับสั่งว่า “เมื่อฟังคำพูดนี้แล้วก็กลับมาคิด ซึ่งแม่ก็คงจะสอนเรา และมีจุดมุ่งหมายว่า อยากให้เราติดดิน และอยากให้ทำงานแก่ประชาชน” ย่อมทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งมากขึ้นถึงความทุ่มเทตลอดพระชนมชีพเพื่อยืนยันคำสัญญา “ไม่ละทิ้งประชาชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น