xs
xsm
sm
md
lg

คลังเปิดขายบอนด์5หมื่นล. ยอมรับ“ถังแตก”ต้องกู้เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ก.คลัง” เปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์อีก 2 รุ่น วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท รุ่น "วอลเล็ต สบม." ครั้งที่ 2 วงเงิน 5 พันล้าน อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 1.70% ประเดิมขาย 25 ส.ค.นี้

วานนี้ (20 ส.ค.) นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะทำการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ 2 รุ่น 2 อายุ 2 ช่องทาง วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสะดวก ประกอบด้วย 1.พันธบัตรออมทรัพย์รุ่นวอลเล็ต สบม. (สะสมบอนด์มั่งคั่ง) ครั้งที่ 2 วงเงินจำหน่าย 5 พันล้านบาท รุ่นอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.70 ต่อปี จำหน่ายผ่านวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยจะเริ่มจำหน่ายก่อนตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.-11 ก.ย.63 และ 2.พันธบัตรออมทรัพย์ รุ่นก้าวไปด้วยกัน (Moving Forward) วงเงินจำหน่าย 4.5 หมื่นล้านบาท รุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ร้อยละ 2.22 ต่อปี จำหน่ายผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย โดยเปิดการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.-3 ก.ย.63 ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนสามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากธนาคารตัวแทนจำหน่ายใดก็ได้ด้วยวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย โดยไม่จำกัดวงเงินซื้อต่อธนาคาร ส่วนช่วงที่ 2 เปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 4-11 กันยายน 2563 รวมเวลา 8 วัน จำหน่ายให้แก่บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อขั้นสูง

นางแพตริเซีย ยังได้ชี้แจงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาทว่า วงเงินกู้ดังกล่าวจะเป็นการสำรองเงินไว้สำหรับจ่ายหน่วยงานราชการในส่วนต่างๆ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินจำนวนมากในช่วงเดือนก.ย.นี้ หลังจากได้คาดการณ์การจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้า 9% ของเป้าที่กำหนดไว้ 3 แสนล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้เงินคงคลังไม่เพียงพอ เนื่องจากเงินคลังเหลือน้อย จึงให้เปิดวงเงินกู้ดังกล่าว โดย สบน. จะประเดิมกู้ส่วนแรก 5 หมื่นล้านบาท โดยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชนทั่วไปในเดือนนี้

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินกู้ 2.14 แสนล้านบาท เป็นคนละส่วนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกู้ไปจนเต็มหมดแล้ว ทั้งนี้ ตามกฎหมาย คลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีก 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้ ซึ่งในปี 2563 จะสามารถกู้ได้ 6.38 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้จะอยู่ในกรอบกฎหมายดังกล่าว

"การกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ในปี 63 ไม่ได้เป็นครั้งแรกของประเทศที่ทำ โดยเคยกู้เงินลักษณะนี้ในปีที่ไทยจะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว เนื่องจากตอนนั้นรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่เก็บได้เช่นกัน และการกู้เพิ่มครั้งนี้ไม่ได้ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะมีปัญหา จากปัจจุบันอยู่ที่ 45.83% ของจีดีพี คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 63 จะอยู่ที่ 51-52% และสิ้นปีงบประมาณ 64 จะอยู่ที่ 57-58%" นางแพตริเซีย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น