xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวลดภาษีที่ดิน90%-อสังหาริมทรัพย์ชี้ช่วยลดภาระ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม.ไฟเขียวออก พ.ร.ก.ลดภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างลง 90% เฉพาะปี 63 พร้อมขยายเวลาจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาไปอีก 2 เดือน ลดผลกระทบโควิด ด้านคลังปิดทางเจ้าสัวเลี่ยงภาษีที่ดิน กำหนดแนวทางใช้ที่ดินเกษตรปลูกกล้วย 200 ต้น/ไร่ มะนาว 50 ต้น/ไร่เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย 1 ตัวต่อ 5 ไร่ ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (2 มิ.ย.) เห็นชอบให้ลดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในปี 2563 ลดลง 90% เฉพาะในการจัดเก็บปี 2563 โดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะหากจัดเก็บเต็มอัตราจะส่งผลกระทบในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยการลดจัดเก็บจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้จากภาษีนี้ในอนาคต

ส่วนผลกระทบกับท้องถิ่นในเรื่องรายได้การจัดเก็บลดลงนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างการหารือ เพื่อมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ ได้ขยายเวลาการยื่นชำระภาษีรายได้บุคคลธรรมดาไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 จากเดิมให้ยื่นได้ไม่เกินเดือนมิถุนายน 63

คลังกำหนดปลูกกล้วย200 ต้น/ไร่ มะนาว 50 ต้น/ไร่

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายลูกจำนวน 18 ฉบับเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับครบแล้ว โดยเฉพาะประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย และ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม จำนวน2ฉบับ เพื่อให้ อปท.สามารถดำเนินการจัดเก็บภาษี

อาทิเช่น ในส่วนของหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังที่2ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ดังนั้น ตัดปัญหาก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษี 3,000 บาทสำหรับมูลค่า 1 ล้านบาท ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย แต่ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด

ทั้งนี้ มีบัญชีแนบท้ายการประกอบการเกษตร จะต้องประกอบการเกษตรให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในตาราง จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม มีกำหนด 51 พืชชนิด เช่น กล้วยต้องปลูก 200 ต้น/ไร่ สตอเบอรี่ 10,000 ต้น/ไร่ ส้ม ละมุด ลางสาด ลองกอง 45 ต้น/ไร่ ลิ้นจี่ ลำไย 20 ต้น/ไร่ มะละกอยกร่อง 100 ต้น/ไร่ มะนาว 50 ต้น/ไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย 1 ตัวต่อ 5 ไร่ ซึ่งการประกาศดังกล่าวเป็นไปข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ

“หลังจากนี้ท้องถิ่นต้องไปดูว่า ที่ดินระบุว่าแจ้งว่าใช้พื้นที่เป็นการเกษตร เพราะให้มีอัตราภาษีต่ำสุดคือ 0.01%ต่ำกว่าภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าต้องเสียภาษี 0.3% นั้นมีการปลูกพืชตามข้อกำหนดหรือไม่ เพราะถ้าที่ดินจำนวนไม่กี่ไร่น่าจะทำได้ แต่ถ้าที่ดินจำนวนเป็นพัน เป็นหมื่นไร่ การไปทำการเกษตรต้องมีต้นทุนในการดำเนินการ คิดว่าคงถือครองที่ดินจำนวนมากๆ คงไม่สามารถนำที่ดินไปทำการเกษตรได้ทั้งหมด”

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า การลดการจัดเก็บภาษีไป 90% ถือว่าดีเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการแม้ว่าจะช่วยไม่ได้มากนัก เพราะปัจจุบันที่ผู้ประกอบการถือสต๊อกไว้ในมือจำนวนมาก เพราะการขายทำได้น้อย แต่ถ้าจะให้ดีควรเลื่อนการจัดเก็บออกไปอีกสักระยะเพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดหยุดลงและภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะไม่เลื่อนการจัดเก็บภาษี แต่ลดภาษีลงถึง 90% ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับในภาวะปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีสต๊อกบ้าน คอนโดมิเนียมจำนวน รวมถึงที่ดินรอการพัฒนาในมือมากพอสมควร ในขณะที่การขายทำได้ยาก การลดภาษีจะเป็นการลดภาระของผู้ประกอบการไปได้



กำลังโหลดความคิดเห็น