xs
xsm
sm
md
lg

กพท.ขยายปิดน่านฟ้าถึง30 เม.ย.-23สนามบินไทยไร้เที่ยวบินพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360 - สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศฉบับที่ 3 ขยายเวลาห้ามเครื่องบินทุกชาติ เข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 19 เม.ย. -30 เม.ย. เพื่องดการเดินทางสกัดการแพร่ระบาดเชื้อ "โควิด-19" ขณะที่สนามบิน 23 แห่งทั่วประเทศไร้เที่ยวบินพาณิชย์ อธิบดีกรมท่าอากาศยานเผย 15 เม.ย. เหลือแค่ 2 สายการบินที่เปิดให้บริการ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ได้ลงนาม ในประกาศ กพท. เรื่อง ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3) โดยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ วันทื่ 19 เมษายน 2563 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 เวลา 23.59 น. ซึ่งเป็นการขยาย คำสั่งห้าม จากที่ กพท.ได้ มีประกาศ ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศ ไทยเป็นการชั่วคราว แล้ว 2 ฉบับก่อนหน้า ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเพื่อสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้นให้ยุติลงโดยเร็ว

สำหรับข้อห้ามดังกล่าว ไม่รวมถึงอากาศยานดังต่อไปนี้ 1.อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military aircraft) 2. อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency landing) 3. อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง

4. อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมทำการบินทางการแพทย์ หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) (Humanitarian aid, medical and relief flights) 5.อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation) และ 6. อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo aircraft)

สำหรับ บุคคลหรือผู้โดยสาร ที่เดินทางเข้ามา จะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เช่น การกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และบรรดาข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สถานการณ์การบินของประเทศขณะนี้ แทบจะไม่มีเที่ยวบินโดยสาร ให้บริการแล้ว เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ หยุดทำการบิน ขณะที่ ท่าอากาศยานนราธิวาสได้ออก NOTAM แจ้งหยุดให้บริการ เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป หลังผู้ว่าฯ จังหวัดนราธิวาสประกาศ ระงับการเดินทาง เข้า- ออก จังหวัดนราธิวาส โดยสนามบินของไทยจำนวน 34 แห่ง ณ วันที่ 15 เม.ย. เหลือเพียง 11 แห่งเท่านั้น ที่มีสายการบินภายในประเทศให้บริการ โดย สนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จำนวน 6 แห่ง มี 1 แห่งคือ สนามบินภูเก็ต ที่ไม่มีเที่ยวบนขึ้น-ลง แล้ว ส่วนอีก 5 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ ยังมีเที่ยวบินให้บริการอยู่

ขณะที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งมีสนามบินทั้งสิ้น 28 แห่ง โดย มี 6 แห่ง ที่ยังคงมีสายการบินภายในประเทศ ให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ ได้แก่ กระบี่ จำนวน 1 เที่ยวบิน ( สายการบินไทยเวียตเจ็ท ),อุดรธานี จำนวน 2 เที่ยวบิน (สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท ) ,ขอนแก่น จำนวน 1 เที่ยวบิน (สายการบินนกแอร์),สุราษฏร์ธานี จำนวน 1 เที่ยวบิน (สายการบินนกแอร์) ,อุบลราชธานี จำนวน1 เที่ยวบิน (สายการบินนกแอร์) , นครศรีธรรมราช จำนวน 1 เที่ยวบิน (สายการบินนกแอร์)

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า แม้ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ แต่สนามบินของ ทย. ทุกแห่ง ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ เพื่อรองรับ สำหรับเที่ยวบิน / เที่ยวบินราชการ / เที่ยวบินขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค และเวชภัณฑ์ ฉุกเฉิน



กำลังโหลดความคิดเห็น