xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต"โควิด-19"ในไทย เสียชีวิตรายแรก ปัดใช้พ.ร.บ.มั่นคงฯห้ามชุมนุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แถลงผู้ป่วย "โควิด-19" เสียชีวิตรายแรก แม้รักษาเชื้อจนหาย แต่สภาพปอดเสียหายหนัก ส่งผลอวัยวะหลายระบบล้มเหลว นายกฯ เสียใจที่มีผู้เสียชีวิต พร้อมขอความร่วมมือควบคุมการระบาดจากสังคม "คิงเพาเวอร์" แจงผู้เสียชีวิต เป็นพนักงานของบริษัทคู่ค้า ยันทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ทุกสาขา "อนุทิน" ปัดเสนอนายกฯ ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ห้ามการชุมนุม หลังถูกถามนำ วอนอย่านำ "การเมือง" มาซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด "ปิยบุตร" ซัดรัฐอ้าง "โควิด-19 " งัดกม.ความมั่นคงห้ามนศ.ชุมนุม "สมชาย" เย้ย "ปิยบุตร" แน่จริงพากันมาชุมนุมให้ครบ อย่าให้มีแต่ลูกชาวบ้านไปออกหน้าแทน ผบช.น. แนะวัดไข้ผู้ชุมนุมแฟลชม็อบ หวั่นแพร่กระจายเชื้อ

วานนี้ (1 มี.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 2 รายนั้น รายที่เป็นชายไทยอายุ 35 ปี ที่มีการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) ผู้ป่วยรายนี้ ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต่อมามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมด้วย จึงส่งต่อมาจากรพ.เอกชน มารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร โดยให้การรักษาจนไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ วันที่ 16 ก.พ.63 หลังจากรักษาเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยสภาพปอดที่เสื่อมแต่เดิม หัวใจ และอวัยวะภายในทำงานหนัก ทำให้อวัยวะภายในลายระบบล้มเหลว จึงเสียชีวิตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจไม่พบเชื้อแล้ว สาเหตุการเสียชีวิตจะเกี่ยวกับ โรคโควิด-19 หรือไม่ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป

ส่วนอีกรายอายุ 70 กว่าปี มีวัณโรคร่วม ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว 1 สัปดาห์เช่นกัน แต่ยังอยู่ใความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังมีผู้รักษาหายเพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายชาวจีนอายุ 33 ปี รายที่ 2 เป็นเด็กหญิงไทย อายุ 3 ขวบ ทั้งคู่อยูสถาบันบำราศนราดูร ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมรวม 42 ราย รักษาหาย 30 ราย อยู่รักษาที่ รพ. 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย

นายกฯ เสียใจที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แสดงความเสียใจ กรณีชายไทย อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในสองของผู้ป่วยที่มีอาการหนักก่อนหน้านี้ ได้เสียชีวิตลง โดยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกและต่อมามีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย แต่ย้ำว่าระบบสาธารณสุข และการรักษาของคณะแพทย์ไทย มีมาตรฐานระดับสูง ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิต 1 รายนี้ จะเกี่ยวกับโควิด-19 หรือไม่ จะเร่งตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ นายกฯยังฝากให้กำลังใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และทีมแพทย์ผู้ให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา และขอความเป็นส่วนตัวให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย ที่สำคัญได้กำชับให้ทุกหน่วย ที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และขอความร่วมมือคนไทยป้องกันตนเองและผู้อื่น ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้เฝ้าระวังและแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะแพทย์ หากเข้าข่ายต้องสงสัยว่าป่วย เช่น เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด พร้อมทั้งยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับกรณีการควบคุมการระบาดของไวรัส ซึ่งเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน

"คิงเพาเวอร์"แจงผู้เสียชีวิตเป็นพนง.บริษัทคู่ค้า

วานนี้ ส่วนงานสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีผู้เสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 จากประกาศสธ. โดยระบุเป็นพนักงานขายสินค้าว่า กรณีดังกล่าว บริษัทฯได้ตรวจสอบพบว่า เป็นพนักงานส่งเสริมการขายสินค้า ของบริษัทคู่ค้า ที่มีสินค้าจำหน่ายในสาขาศรีวารี

ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต มีอาการไข้ตั้งแต่ วันที่ 28 ม.ค.63 โดยรับการรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ในวันที่ 29 ม.ค. อาการดีขึ้น จึงกลับมาทำงานภายหลังในช่วงเย็น มีอาการป่วยจึงเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง และแจ้งลางานกับต้นสังกัด ด้วยโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-4 ก.พ.63 หลังจากนั้น ในวันที่ 5 ก.พ. ถูกส่งตัวไปสถาบันบำราศนราดูร แพทย์ตรวจพบไวรัส COVID-19 ในวันที่ 6 ก.พ. ทางบริษัทฯ จึงปิดให้บริการ สาขาศรีวารี เป็นต้นมา และให้ทางเจ้าหน้าที่สธ. เข้าตรวจบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ทำงานที่สาขาศรีวารี เป็นที่เรียบร้อยในวันเดียวกัน จากนั้น ก็ดำเนินการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส (H1N1- COVID-19) มาโดยตลอด

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้มีผู้เข้าใช้บริการที่สาขาศรีวารี ลดลงเป็นจำนวนมาก นับแต่ปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เรียนไว้ข้างต้น สาขาศรีวารี จึงได้ปิดให้บริการเป็นการชั่วคราวนับแต่วันที่ 6 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อย่างเข้มงวด

ทางบริษัทฯได้ทำการ พ่น อบ น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส (H1N1- COVID-19) ที่สาขาศรีวารี มาตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. ซึ่งสาขาอื่นๆ ได้มีการดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยการพ่น อบ น้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส (H1N1- COVID-19)โดยเฉพาะเป็นมาตรฐานที่บริษัทฯ ดำเนินการทุกสัปดาห์ นอกเหนือจากแนวทางดูแลด้านอื่นๆ ตั้งแต่การดูแลพื้นที่และพนักงานตรวจวัดไข้รวมถึงให้ปฏิบัติตามประกาศของสธ. อย่างเคร่งครัด

"อนุทิน"ปัดชงพ.ร.บ.มั่นคงฯ สกัดผู้ชุมนุม

วานนี้ (1 มี.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ "อย่านำการเมือง มาซ้ำเติมสถานการณ์โรคระบาด" ความว่า ขอชี้แจงกรณี มีการเสนอข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเสนอนายกฯให้ใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อห้ามชุมนุมทางการเมือง ว่าเป็นความเท็จ และไม่เคยคิดถึงพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ มาก่อน ไม่เคยคิดสกัดกั้นหรือห้ามการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มใดๆ หากการชุมนุมนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดต่อกฎหมาย

การแถลงข่าวในฐานะ รมว.ธารณสุข เมื่อวันที่ 29 ก.พ. มีขึ้นภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร สธ. เพื่อหาแนวทางการควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ซึ่งถูกประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป และจะต้องมีการจัดทำประกาศสธ. เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนว่ากิจกรรมใดควรทำ กิจกรรมไม่ควรทำ

เช่น ไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่เขตติดโรค แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ต้องถูกกักบริเวณ 14 วัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรค แม้จะกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน แต่เราต้องประกาศและต้องควบคุมให้เป็นไปตามกม. เพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ควรจัดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการมารวมตัวกันของประชาชนจำนวนมาก และมีโอกาสที่จะมีการสัมผัส หรือการติดต่อทางลมหายใจ และละอองน้ำลาย น้ำมูก จากการพูด ไอ จาม ใส่กันในระยะใกล้

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้จัดต้องจัดเตรียมแนวทาง และให้บริการอุปกรณ์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย กรณีที่มีการติดต่อของโรคเกิดขึ้น ผู้จัดกิจกรรม และเจ้าของสถานที่ ต้องรับผิดตามกม. ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถออกคำสั่งระงับการจัดกิจกรรมได้ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศโรคติดต่ออันตราย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เคยให้คำแนะนำว่า ไม่ควรจัดการชุมนุมทางการเมือง เพราะเป็นโอกาสเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้

ท่านถูกตำหนิ และถูกวิจารณ์จากผู้ต้องการให้มีการชุมนุมอย่างรุนแรงว่า มีเป้าหมายอื่นซ่อนเร้น และไม่ควรนำการระบาดของโรค มาเป็นเงื่อนไข ทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการชุมนุมหวาดกลัว

ในที่ประชุม มีการนำประเด็นการชุมนุม เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง มาพิจารณากันอีกครั้ง เพราะมีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว หากไม่ปฏิบัติ แพทย์ และจนท.สาธารณสุข ในฐานะเจ้าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อ จะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ทันที

อาจารย์แพทย์ทุกท่านมีความเป็นห่วงว่า หากมีการติดเชื้อในที่ชุมนุม ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมหลายพันคน และอาจจะนำสู่ผู้สัมผัสเป็นหมื่นคน ภายในเวลาอันรวดเร็ว หากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น สธ. ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมโรคได้ และจะทำให้ประเทศไทย เข้าสู่สถานการณ์ระบาด เช่นเดียวกับบางประเทศ ที่มี super spreaderและควบคุมโรคไม่ได้

ในที่ประชุม เราพูดคุยถึงพ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับเดียว เพื่อการควบคุมโรคเท่านั้น ไม่มีเรื่อง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพราะไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขแต่มีนักข่าวถาม ผมตอบว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ดูแลเรื่องความมั่นคง ต้องไปถามฝ่ายความมั่นคง

ดังนั้นท่านที่นำเสนอข่าวว่าผมหรือกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ สกัดกั้นการชุมนุม โดยอ้างเหตุการควบคุมโรคติดต่ออันตราย จึงเป็นการเสนอข่าวเท็จ ทั้งสิ้น

"ปิยบุตร"ซัดรัฐอ้าง"โควิด"ห้ามนศ.ชุมนุม

วันเดียวกันนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาฯพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ว่า

"ความเห็นทางกฎหมาย ต่อการใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ สั่งห้ามการชุมนุมโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของ Covid-19"

ผมเคยประกอบอาชีพ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บรรยายวิชากฎหมายปกครอง ในระบบกฎหมายปกครอง มีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ คือ "หลักความชอบด้วยกฎหมาย" ซึ่งเรียกร้องว่า

1. ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ - องค์กรเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจออกกฎ คำสั่ง ที่กระทบสิทธิของบุคคล จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจเสียก่อน

2. การใช้อำนาจต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย - เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจแล้ว องค์กรเจ้าหน้าที่ต้องใช้อำนาจนั้นโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

ยังมีหลักเรื่อง “ความพอสมควรแก่เหตุ”หรือ “ความได้สัดส่วน” ที่เรียกร้องว่า การออกมาตรการ หรือคำสั่งที่กระทบกับเสรีภาพ ต้องทำเท่าที่จำเป็น ไม่เกินกว่าเหตุ

หากมีการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมโดยอ้างเรื่องป้องกันโรคระบาด แต่ลึกๆ แล้ว มีเจตนาต้องการห้ามมิให้ชุมนุมต้านรัฐบาล เช่นนี้ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจตัดสินใจออกคำสั่งที่บิดผัน อ้างเรื่องโรคระบาด ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้ว ไม่ต้องการให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ต่อต้านรัฐบาล

นอกจากนี้ การห้ามการชุมนุมโดยอ้างเรื่องป้องกันโรคระบาด ก็ต้องพิจารณาเรื่องความพอสมควรแก่เหตุด้วย ดังนี้

1. เมื่อสั่งห้ามการชุมนุมแล้วสามารถป้องกันการระบาดได้จริง

2. ไม่มีวิธีการอื่นใดที่ดีกว่านี้อีกแล้ว ที่จะป้องกันโรคระบาดได้ นอกจากห้ามการชุมนุม

3. การห้ามการชุมนุม ได้ประโยชน์มากกว่าสิ่งที่เสียไป

ดังนั้น หากมีมาตรการอื่นที่ป้องกันได้ และกระทบเสรีภาพน้อยกว่า ไม่ต้องถึงขั้นห้ามชุมนุม ก็ต้องใช้มาตรการอื่นก่อน

ทั้งหมดนี้ต้องกระทำด้วยความจริงใจมิใช่มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้น มิเช่นนั้น ประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งข้อสงสัยได้ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การห้ามชุมนุม เป็นการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด เพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของนักเรียนนิสิตนักศึกษาเยาวชน หรือไม่ ?

เหน็บ"ปิยบุตร"แน่จริงพากันมาให้ครบ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็น กรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาตั้งข้อสงสัยกรณีรัฐบาล จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สั่งการไม่ให้มีการชุมนุมเนื่องจาก เป็นห่วงเรื่อง “โควิด-19”หรือต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพกันแน่ มีเนื้อความดังนี้

" #เก่งจังครับ เอะอะ ก็ด่าจำกัดสิทธิร่ำไป เตือนภัยไวรัสโควิดร้ายแรงมาก ก็ไม่เชื่อ ถ้าเขาอยากชุมนุมกันนัก ก็จัดสถานที่ให้เลยครับขอให้เป็นสถานที่มิดชิด ควบคุมเข้าออกได้ และถ้าผมเป็นลุง จะปล่อยให้ปิดรั้วชุมนุมยาวๆ ไป ส่งข้าวส่งน้ำ 14 วัน ถ้าไม่มีใครแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อไวรัสโควิด19 ค่อยว่ากัน

ปล. แกนนำทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง อดีตหัวหน้า เลขาฯ โฆษก หัวหน้าการ์ด กุนซือ และครูอาจารย์ ที่แอบอยู่ตามมหาลัย ช่วยพากันร่วมชุมนุม และอย่าลืมชวนครอบครัว สามีภรรยา พ่อแม่ ปู่ยาตาย หลาน มาให้ครบนะครับ

อย่าให้มีแต่ลูกชาวบ้านไปชุมนุมออกหน้าแทน

#รัฐมีหน้าที่ดูแลความสงบและควบคุมโรคระบาดให้คนไทยทั้งประเทศ"

แนะวัดไข้ผู้ชุมนุมแฟลชม็อบ

เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ (1มี.ค.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวถึงกรณีการชุมนุมแฟลชม็อบ ในสถาบันการศึกษา พื้นที่กรุงเทพฯว่า เป็นการแสดงกิจกรรมในสถานศึกษา ที่ผ่านมาพบอยู่ในกรอบและยังไม่พบการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ส่วนการพาดพิงไปถึงบุคคลอื่น ตอนนี้ยังไม่มีเจ้าทุกข์มาร้องทุกข์แต่อย่างใด

สำหรับการนัดชุมนุมแฟลชม็อบ #NGOขับไล่หัวหน้า IO ที่บริเวณราชประสงค์ (1 มี.ค.) เวลา 16.00-18.00 น. กิจกรรมดังกล่าว ได้แจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้อง โดยทางตำรวจออกข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ได้อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม และประชาชนที่สัญจรไปมา ซึ่งจุดนั้นอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า ก็ขอความร่วมมือให้ชุมนุมในสถานที่กำหนดไว้ ไม่ไปรบกวนและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ใช้ทางสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวล คือ เรื่อง“ไวรัสโควิด-19”จึงขอให้ผู้ที่มาชุมนุม ระมัดระวัง ทางตำรวจได้ประสานเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและพยาบาล โดยจะขอวัดไข้ทุกคนก่อนจะเข้าพื้นที่การชุมนุม
กำลังโหลดความคิดเห็น