เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนไทยโดยเฉพาะชาวโคราชได้ตื่นตระหนกตกใจกับเหตุการณ์สังหารโหด ทั้งที่วัดป่าศรัทธารวม และที่ห้างเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา ยังผลให้มีคนตายทั้งที่วัด ที่ห้าง และที่อื่นรวม 30 คน รวมทั้งมือปืนผู้สังหารด้วย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 50 กว่าคน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอไปแล้วโดยละเอียด
แต่ที่นำมาเสนออีกครั้ง ก็ด้วยมีปมอันเป็นเหตุจูงใจ 2 ประการดังต่อไปนี้
1. มูลเหตุจูงใจให้เกิดอาชญากรรม
ผู้ก่อเหตุสังหารโหดร้ายรุนแรง และสะเทือนขวัญ เป็นเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อย และได้ก่ออาชญากรรมในครั้งนี้สืบเนื่องจากตนเองถูกเบียดบังผลประโยชน์ที่จะต้องได้รับตามที่ตกลงกันไว้ และแถมยังถูกกลั่นแกล้งรังแกจากคู่กรณี ซึ่งมีสถานะทางหน้าที่การงานและทางสังคมเหนือกว่าตน จนทำให้หมดความอดทนและขาดสติ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากประวัติที่สื่อมวลชนนำเสนอ ปรากฏว่า เป็นนักกีฬายิงปืนของกองทัพภาค 2 และไม่ปรากฏว่าเป็นคนเกเร และก่อความเดือดร้อนแก่ใครมาก่อน เพียงแต่เป็นคนชอบอาวุธปืน และชอบเล่นเกมประเภทใช้ความรุนแรง จึงอนุมานได้ว่าเป็นคนมีอุปนิสัยโน้มเอียงไปในทางใช้ความรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
2. ระยะเวลาในการก่อเหตุ ลักษณะของการก่อเหตุและการแก้ไขสถานการณ์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่
ถ้านำระยะเวลาที่ผู้เป็นฆาตกรก่อการ โดยเริ่มตั้งแต่การไปยิงเหยื่อแห่งความโกรธแค้น 3 คนไปจนถึงการบุกชิงอาวุธปืนที่คลังแสงแล้วไปก่อการกราดยิงผู้คนที่วัดป่าศรัทธารวม และไปยึดพื้นที่ในห้างเทอร์มินอล 21 ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะพบว่ามีระยะเวลาและระยะทางมากพอที่จะถูกสกัดกั้น โดยเฉพาะในขณะที่บุกเข้าไปชิงอาวุธปืนที่คลังแสง แต่มิได้ถูกสกัดกั้น อาจเป็นเพราะวันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นวันหยุด และเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา จึงไม่มีเจ้าหน้าที่มาทำงาน คงเหลือผู้ที่มีหน้าที่เข้าเวรตามปกติ จึงทำให้การประสานงานล่าช้า เปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุลงมือได้โดยง่ายดาย และนี่อาจเป็นเพราะผู้ก่อเหตุได้วางแผนโดยการใช้วันหยุดไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว
จากเหตุ 2 ประการข้างต้น สรุปได้ว่า เหตุการณ์สังหารโหดที่นครราชสีมาเกิดขึ้นจากเหตุจูงใจคือ ความโกรธแค้นที่ตนเองถูกโกงเงิน และผสมผสานกับความไม่เป็นธรรมที่ตนเองถูกกระทำจากผู้ที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่า ประกอบกับตนเองมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืน และยังเคยได้รับการสอนยุทธวิธีการต่อสู้ รวมไปถึงความนิยมชมชอบในการเล่นเกมการต่อสู้ จึงได้ก่อความรุนแรงขึ้น
แต่ที่น่าจะต้องนำมาวิเคราะห์ในด้านพฤติกรรมศาสตร์เพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า ถ้าเหตุจูงใจมีเพียงความโกรธแค้น เมื่อทำการล้างแค้นด้วยการยิงผู้ที่เป็นต้นเหตุแล้ว ทำไมไม่หลบหนีให้พ้นจากการถูกตามจับกุม หรือทำไมไม่ยอมมอบตัวเพื่อต่อสู้คดี โดยการรับสารภาพและยอมรับโทษที่ตนเองก่อไว้ เพราะมีโอกาสที่ตนเองพ้นโทษแล้วออกมาเป็นคนดีของสังคมได้ พร้อมทั้งยังได้เปิดเผยถึงการแสวงหาประโยชน์อันไม่เป็นธรรม และเป็นการเริ่มต้นนำไปสู่การแก้ไข ดังที่พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ได้รับทราบและดำเนินการแล้วในระดับนโยบาย
แต่คนที่ผู้ก่อการไม่ยอมเลือกทางหนีหรือมอบตัว คงจะอนุมานได้ว่า เขาได้เลือกทางที่จะสู้ตายกับเจ้าหน้าที่ในรูปแบบของการต่อสู้ระหว่างผู้ถูกล่า และผู้ล่า โดยอาศัยผู้บริสุทธิ์เป็นโล่กำบังตนเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้ไปที่วัด และที่ห้างซึ่งมีผู้คนหนาแน่นยากที่เจ้าหน้าที่จะทำการต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้เขาเลือกยิงเจ้าหน้าที่ได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงอนุมานได้ว่านอกเหนือจากความโกรธแล้ว ฆาตกรรายนี้ยังมีความผิดปกติทางจิตอยู่ด้วย
ส่วนประเด็นของการป้องกันมิให้เหตุการณ์ในทำนองนี้เกิดขึ้นอีก และหรือถ้าเผอิญเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไรให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดนั้น ทางรัฐบาลควรจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการข้าราชการทั้งระบบ และวางมาตรการป้องกัน รวมไปถึงแนวทางแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นจากช่องว่างของมาตรการป้องกันด้วย เพราะในความเป็นจริง ปัญหาในทำนองเดียวกันที่เกิดเหตุจูงใจให้ทหารชั้นผู้น้อยก่ออาชญากรรมที่โคราชมีอยู่ในทุกส่วนราชการ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับบุคลากรขององค์กรนั้น โดยเฉพาะบุคลากรในระดับผู้นำว่ามีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง