xs
xsm
sm
md
lg

โพลหนุน คนนอก คุมแก้รธน. ชงตั้ง กมธ.ร่วม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 – “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่อยากให้ คนนอก” เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ รธน.มากกว่าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน “ซูเปอร์โพล” ชี้นักการเมืองแก้ รธน.หวังเปิดช่องโกง “ทนายวันชัย” ชง “ชวน” เปิดประชุมร่วม ส.ว.-ส.ส.ถก ตั้ง กมธ.ร่วม 2 สภาฯแก้ รธน. ไม่งั้น “สภาสูง” ไม่ร่วมแน่ “สมเจตน์” เชื่อแตะที่มา-อำนาจ ส.ว.ก็ไปไม่รอด “เพื่อไทย” รับลูก นศ.ดัน “เพนกวิน-พริษฐ์” นั่ง กมธ.โควตาฝ่ายค้าน

วานนี้ (17 พ.ย.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย.62 โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากการสำรวจเมื่อถามถึงที่มาของประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.) พบว่า ส่วนใหญ่ 59.11% ระบุว่า ควรมาจากคนนอกที่ไม่ใช่ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล, รองลงมา 16.63% ระบุว่า ควรมาจากตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน, 12.89% ระบุว่า ควรมาจากตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล, 8.43% ระบุว่า ควรมาจากตัวแทนรัฐบาล และ 2.94% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขอคนไม่ได้-เสียจากรัฐธรรมนูญ 60

ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิด/พฤติกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. พึงมีพบว่า ส่วนใหญ่ 37.07% ระบุว่า เป็นคนที่ไม่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ อย่างชัดเจนจากรัฐธรรมนูญ 2560, รองลงมา 21.32% ระบุว่า เป็นคนที่สนับสนุน รัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน, 15.19% ระบุว่า เป็นคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน, 7.40% ระบุว่า เป็นคนที่ไม่เคยร่างรัฐธรรมนูญเลย, 7.16% ระบุว่า เป็นคนที่ไม่สนับสนุน รัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน, 6.60% ระบุว่า ไม่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 2560, 5.97% ระบุว่า เป็นคนที่ไม่เคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560, 5.65% ระบุว่า เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 2560, 3.02% ระบุว่า เป็นคนที่ได้ประโยชน์ จากรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน, 1.91% ระบุว่า เป็นคนที่เสียประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างชัดเจน และ 4.38% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สุดท้าย เมื่อถามถึงระยะเวลาในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญพบว่า ส่วนใหญ่ 46.22% ระบุว่า ไม่เกิน 6 เดือน, รองลงมา 32.06% ระบุว่า ไม่เกิน 1 ปี, 11.14% ระบุว่า ไม่ควรมีกำหนดระยะเวลา, 6.29% ระบุว่า ไม่เกิน 2 ปี, 2.94% ระบุว่า ไม่เกิน 3 ปี, 0.32% ระบุว่า ไม่เกิน 5 ปี และ 1.03% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ให้แก้นิสัย ส.ส.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ

อีกด้าน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่องแก้รัฐธรรมนูญกับแก้นิสัย ส.ส. โดยสำรวจประชาชนในโลกโซเชียล จำนวน 4,551 ตัวอย่าง และเสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม จำนวน 1,189 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 – 16 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 92.5% ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ในขณะที่เพียง 7.5% เคยอ่าน และเมื่อถามความเห็นว่า นักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออะไรระหว่าง แก้เพื่อเปิดช่องคดโกงได้ กับแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ 84.8% คิดว่านักการเมืองจะแก้เพื่อเปิดช่องคดโกงได้ ในขณะที่ 15.2% คิดว่าจะแก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

“ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่ 86.5% คิดว่าควรแก้นิสัย ส.ส.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.ยังมีภาพลักษณ์แย่ ๆ เหมือนเดิม ชอบขู่ วางอำนาจ ท้าตีท้าต่อย ก่อความขัดแย้งในสังคม ทำตัวอดอยากหิวโหยมาหลายปี วิ่งเต้นเบื้องหลัง เป็นอีแอบ ล็อบบี้ ส่อคดโกง หาผลประโยชน์ มุ่งมาเอาทุนคืน ในขณะที่ 13.5% คิดว่าควรแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพราะอยากได้รัฐธรรมนูญแบบปี 40 และต้องการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ 97.7% คิดว่าปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย” นายนพดล ระบุ

“ส.ว.วันชัย” ตั้งเงื่อนไขก่อนร่วมวง

วันเดียวกัน นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เปิดเผยว่า สาเหตุที่วิปวุฒิสภามีความเห็นว่าจะไม่เข้าไปร่วมเป็น กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะเป็นในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ตาม เพราะเห็นว่าเป็นการตั้งคณะ กมธ.ในนามของสภาฯ จึงควรเป็นเรื่องของสภาฯ และไม่ต้องการให้ฝ่ายใดไปแอบอ้างได้ว่า ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่วุฒิสภาไม่เคยมีมติในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของสภาฯในการศึกษา ส่วนวุฒิสภาก็จะดำเนินการในส่วนของวุฒิสภาต่อไป หากในอนาคตมี ส.ว.ไปร่วมกับคณะกมธ.ของสภาฯก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของส.ว.คนนั้นเท่านั้น ไม่ผูกพันกับวุฒิสภาทั้งหมดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการประชุมร่วมกันของ ส.ส.และส.ว.ในนามรัฐสภา และมีมติตั้งคณะ กมธ.ของรัฐสภา ทาง ส.ว.ยินดีที่จะเข้าร่วม เนื่องจากเมื่อมีการตั้ง กมธ.ของรัฐสภา ย่อมเป็นหน้าที่ที่ ส.ว.จะต้องดำเนินการเช่นกัน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“การจะตั้ง กมธ.ในนามรัฐสภาจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับ ท่านชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา หากท่านเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกของทั้ง 2 สภา ก็สามารถเรียกประชุมเพื่อตั้ง กมธ.ต่อไป แต่หากเป็นเพียงเฉพาะการตั้ง กมธ.ของสภาผู้แทนฯ ทางวุฒิสภาก็คงไม่เข้าร่วม เว้นเสียแต่จะมีส.ว.เข้าไปร่วมในนามส่วนบุคคล” นายวันชัย กล่าว

“สมเจตน์” เชื่อแก้ รธน.ไม่สำเร็จ

ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองมองว่า จะแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับที่มา หน้าที่และอำนาจของส.ว.เป็นอันดับต้นๆในการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ยากอยู่แล้ว อย่าลืมว่า การจะผ่านความเห็นชอบในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องเสนอในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา และต้องได้เสียงสนับสนุนของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง เมื่อไปตั้งเป้าหมายจะแก้ไขเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ ส.ว.แล้ว จะมีเสียง ส.ว.ที่ไหนมาสนับสนุน เว้นมีเหตุผลที่ดีว่าจะแก้มาตราไหนโดยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายการเมืองเท่านั้น คงจะไม่สำเร็จส่วนที่ปรากฎว่ามีชื่อตน จะไปร่วมเป็น กมธ.ของสภาผู้แทนฯในสัดส่วนของส.ว.นั้น ขอยืนยันว่าเป็นความจริง ตนจะไม่เข้าร่วมเป็น กมธ.ด้วย เพราะต้องปล่อยให้ส.ส.เขาทำไป แต่เชื่อว่าสำเร็จยาก

“เพนกวิน”มีลุ้น กมธ.โควตาฝ่ายค้าน

ทางด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นิสิตนักศึกษา 30 สถาบันเสนอชื่อ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วม กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ในเวทีฝ่ายค้านเพื่อประชาชนว่า ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เหล่าน้องๆได้ตระหนักถึงเสรีภาพ โดยต่างเชื่อว่า บ้านเมืองนี้ จะเป็นประชาธิปไตยได้ก็ต่อเมื่ออธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ทุกคนให้ความเคารพ โดย 7 พรรคฝ่ายค้านขานรับข้อเสนอของนิสิตนักศึกษา 30 สถาบันที่ต้องการมีส่วนร่วม โดยจะนำชื่อนายพริษฐ์ เข้าหารือในที่ประชุมวิปฝ่ายค้านต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น