xs
xsm
sm
md
lg

เปิด"อาเซียนซัมมิต" นายกฯชวนจีนชาติสมาชิกลงทุนEEC ถกสหรัฐฯทบทวน GSP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายกฯ เปิดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ย้ำความเป็นหุ้นส่วน ร่วมพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ จากนั้นเปิดประชุม "อาเซียน-จีน" "อาเซียน-อินเดีย" และ "อาเซียน-สหประชาชาติ" เพื่อกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน เพื่อความมีเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค เผยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ยกปี 63 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ชวนจีน-อินเดีย และชาติสมาชิกอาเซียน มาลงทุนใน "อีอีซี" พร้อมถกสหรัฐฯทบทวน GSP

เมื่อเวลา 09.15น.วานนี้ (3พ.ย.) ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ผมกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงประจำอาเซียน "ดิอาเซียนเวย์" ในท่อน "we dare to dream, we care to share"เพื่อให้พวกเราทบทวนความกล้า ที่จะฝันจากรุ่นสู่รุ่น และหารือถึงแนวทางร่วมกันที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก "ร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน" วันนี้ผมขอกล่าวถึงเนื้อร้องของเพลงดังกล่าวอีกท่อนหนึ่ง นั่นคือ "ASEAN we are bonded as one. Looking out to the world." "อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่งมองออกไปสู่โลก" เนื้อ เพลงท่อนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียน ที่ไม่เพียงร่วมมือร่วมใจกันในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็น "กัลยาณมิตร" ที่ช่วยสนับสนุนให้อาเชียนบรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้และขยายผลไปสู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การประชุมตลอดสองวันจากนี้ นับเป็นวาระสำคัญ ที่จะแสดงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจ สานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ผ่านมา และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลาง และจุดแข็งของอาเชียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือ และแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาค และระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยดำเนินการในสองแนวทางคือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาวควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ชวนจีน-ชาติอาเซียนลงทุนใน"อีอีซี"

ต่อมาเวลา 09.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งนี้มีขึ้นเพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียน และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย

ในปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง "วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030" ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้า และการลงทุนระหว่างกันถึง 1 ล้านล้าน และ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ภายในปีหน้า การที่อาเซียนและจีน จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่างๆในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน กับ Greater Bay Area (GBA)ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน และรวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย

โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่า อาเซียนและจีน กำหนดให้ปี พ.ศ. 2563 เป็น "ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน" ซึ่งนายกฯ เชื่อมั่นว่า จะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค

"อาเซียน-อินเดีย"ร่วมพัฒนาในทุกมิติ

ต่อมาเวลา 11.15 น. นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมที (His Excellency Shri Narendra Modi)จากอินเดีย ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 โดยนายกฯ กล่าวชื่นชมอินเดีย ถือเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียน ที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาเซียนยินดีที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย ให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดีย มีพลวัตมากยิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคง อาเซียนชื่นชมที่อินเดีย สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนบนพื้นฐานของภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)และผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำหลากหลาย ตลอดจนชื่นชมอินเดียที่ให้การสนับสนุนมุมมองของอาเซียน ต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก โดยเป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนหลักการ 3M ได้แก่ ความเคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Respect)ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน(Mutual Respect)ผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit)และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำถึงความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

ด้านการค้าการลงทุน เน้นย้ำความพยายามเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้บรรลุ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA)

"อาเซียน-ยูเอ็น"ร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรือง

เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 เพื่อรับทราบความคืบหน้า และทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วม ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ และร่วมกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินความร่วมมือ โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ตามแนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน"

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า อาเซียนและสหประชาชาติ ควรร่วมกันสนับสนุนและเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคในทุกมิติ โดยไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และสหประชาชาติ อย่างรอบด้าน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรี เยาวชน ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล ปัญหาขยะทะเล ขยะพลาสติก รวมถึง มลพิษและหมอกควัน เป็นต้น

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกทางการค้า สร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการบริโภค การผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุความพยายามในการสร้าง “ประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต”

นายกฯถกสหรัฐฯ ทบทวน GSP

จากนั้นเวลา 16.30 น. นายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross)รมว.พาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ได้นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ร่วมเดินทางมาไทยครั้งนี้ เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งทางรัฐบาลไทย พร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ อากาศยานและอวกาศ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ และได้เชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียนด้วย

สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร เป็นการทั่วไป(GSP)บางส่วนแก่ไทย นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชน และสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐฯพิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรมว.พาณิชย์ ของสหรัฐฯ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกัน ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

หารือรัสเซียด้านพลังงาน

เวลา 17.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับ นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย โดยนายกฯ เชิญชวน บริษัทรัสเซียเข้ามาลงทุนใน EECในสาขาที่รัสเซียเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบเมืองอัจฉริยะ และการผลิตเครื่องมือแพทย์ พร้อมกล่าวว่าไทยมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น และขอบคุณรัสเซีย ที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ไทยหวังที่จะกระชับความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากคณะทำงานร่วมด้านพลังงาน เป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป ไทยยินดีกับความร่วมมือด้านความมั่นคง และการทหารไทย-รัสเซีย ที่ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

ด้านนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย ยินดีและพร้อมส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญกับไทย อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน และการเกษตร เป็นต้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอบคุณรัสเซีย ที่มูลนิธิสโกลโกโว (Skolkovo Foundation)ของรัสเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนการศึกษา แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ซึ่งถือเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ และวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น