ต้องหายหน้าหายตาไปพักใหญ่ๆ...เกือบตลอดช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุเพราะมีธุระปะปัง คือต้องส่ง “มารดาบังเกิดเกล้า” ไปสู่สัมปรายภพ ตามหน้าที่ของกุลบุตร กุลธิดาทั้งหลาย หรือต้องไปวุ่นๆ อยู่กับการจัดงานศพให้แม่ตัวเอง จนไม่อาจปลีกเวลามานั่งเขียน นั่งปั่นต้นฉบับเชิญชวนท่านทั้งหลายให้ร่อนไป-ร่อนมา “อะราวนด์ เดอะ เวิลด์” ได้ตามปกติ แต่หลังจากเสร็จสิ้นพิธีฌาปนกิจศพไปเมื่อวัน-สองวันนี้ เลยพอปลีกตัวมาเขียนโน่น เขียนนี่ ตามภาระหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากทีมงาน “ผู้จัดการ” ผู้มากด้วยน้ำจิต น้ำใจ อุตส่าห์ส่งพวงหรีดทั้งของ “คุณจิตตนาถ ลิ้มทองกุล” “คุณสนธิ ลิ้มทองกุล” และของ “เว็บไซต์-ผู้จัดการออนไลน์” ไปประดับพิธีศพถึง 3 พวงด้วยกัน...
อย่างไรก็ตาม...สำหรับวันนี้ คงไม่คิดชวนไปดู “เบร็กซิต” ที่อังกฤษ หรือชวนไปดู “เซฟ โซน” ของตุรกีในซีเรีย ที่แม้ถือเป็นไฮไลต์ของข่าวคราวระดับโลกเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ออกจะเป็นอะไรที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่พอสมควร เพราะยังหนักไปทางยักกันไป-ยันกันมา หรือ “ยักตื้นติดกึก-ยักลึกติดกัก” ไปตามสภาพ ด้วยเหตุนี้...เลยคงต้องขออนุญาตชวนไปดูฉากสถานการณ์โดยรวม ที่เผอิญมีบางสิ่ง บางอย่าง ซึ่งน่าคิดน่าสะกิดใจมิใช่น้อย นั่นคือฉากสถานการณ์ “การประท้วง” หรือการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ ต่อต้านรัฐบาลของบรรดามวลชนในประเทศต่างๆ ซีกโลกต่างๆ ที่ดันอุบัติขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หรือแทบจะพร้อมๆ กัน ชนิดทั่วทั้งโลก หรือทั้ง 4 ทวีป จนก่อให้เกิด “คำถาม” ระดับที่สำนักข่าว “รัสเซีย ทูเดย์” เขาต้องนำไปพาดเป็นหัวข่าวไว้ว่า “World in flames : why are protest raging around the Globe?” หรือทำไมถึงการลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลต่างๆ ในช่วงนี้ มันถึงได้เร่าร้อน รุนแรง จนทำให้โลกทั้งโลกแทบเต็มไปด้วยเปลวเพลิง อะไรประมาณนั้น...
โดยถ้าว่ากันตามฉากเหตุการณ์ในแต่ละฉาก ที่เขาได้หยิบยกเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าการประท้วงในเลบานอน ชิลี เอกวาดอร์ ไลบีเรีย กินี เม็กซิโก ฮ่องกง ไปจนประเทศในยุโรปอย่างสเปน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส ฯลฯ ที่อุบัติขึ้นมาแทบจะพร้อมๆ กัน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชนิดแทบไม่ต่างไปจากดอกเห็ดในหน้าฝนทำนองนั้น มันก็ออกจะเป็นอะไรที่น่าคิดน่าสะกิดใจ น่าหยิบมาตั้งคำถามอยู่พอสมควรเหมือนกัน ยิ่งเมื่อแต่ละฉากสถานการณ์ มันมักเต็มไปด้วยความเร่าร้อนรุนแรง เต็มไปด้วย “เปลวเพลิง” ลุกไหม้ไปทั่วท้องถนนของแต่ละแห่ง แต่ละที่ ทั้งๆ ที่ “เงื่อนไข” หรือ “เหตุปัจจัย” อันนำมาซึ่งความเร่าร้อน รุนแรงเหล่านี้ มันไม่น่าจะถึงขั้น “เผามันเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง” ไปได้ถึงปานนั้น...
อย่างในเลบานอนนั้น...ว่ากันว่าสิ่งที่เป็นตัว “จุดระเบิด” ให้ “ณัฐวุฒิ สภาโจ๊ก” อุบัติขึ้นมาในกรุงเบรุต ก็มีที่มาจากเพียงแค่กรณีรัฐบาลคิดจะเก็บ “ค่าธรรมเนียม” หรือภาษีการติดต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตมูลค่าประมาณ 20 เซนต์ต่อวัน หรือที่เรียกๆ กันว่า “Whats App Tax” เท่านั้น กรุงเบรุตก็ตกอยู่ในทะเลเพลิงเอาดื้อๆ!!! ไม่ต่างไปจากชิลี เพียงแค่ทางการคิดจะขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินเพิ่มขึ้นอีก 1.17 ดอลลาร์ สถานีรถไฟใต้ดินในประเทศชิลี ก็ถึงกับต้องถูก “เผามันเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง” ไปด้วยประการละฉะนี้ ส่วนในเอกวาดอร์...หลังจากรัฐบาลมีแผนยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน ยางรถยนต์ก็ถูกลากมาเผากันกลางถนน ไม่ต่างไปจากฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่ผู้นำอย่าง “มาครง คนหนุ่ม” คิดขึ้นภาษีพลังงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแบบไม่ดูตาม้า-ตาเรือให้ถ้วนถี่ จนเกิด “ม็อบเสื้อกั๊กเหลือง” ออกมาเผาโน่น เผานี่ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้วจนตราบเท่าทุกวันนี้...
คือถึงแม้พยายาม “ขจัดเงื่อนไข” ด้วยการยกเลิกภาษีพลังงานไปแล้ว แต่การประท้วง การก่อความรุนแรง ก็ยังคงบานปลายปลายบานต่อไป โดยถูกแปลงสภาพให้กลายเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่พอใจในช่องว่างระหว่างความรวย-ความจน เป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนสวัสดิการ ที่ทำให้พนักงานดับเพลิงฝรั่งเศส ยังต้องออกมาใส่ “เสื้อกั๊กเหลือง” เดินไปตามท้องถนนเมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่ต่างไปจาก “ม็อบใส่หน้ากาก” ของบรรดากะปอมฮ่องกง ที่แม้ผู้บริหารฮ่องกงพยายาม “ขจัดเงื่อนไข” ด้วยการยกเลิกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันถือเป็นตัวจุดชนวนระเบิดแต่เริ่มแรก แบบชนิด “ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี” อีกต่อไป แต่ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งบรรดาเด็กๆ และวัยรุ่น ที่พร้อมสวมหน้ากากออกมาเผาโน่น เผานี่ ทุบโน่น ทุบนี่ ที่ได้แปรสภาพความไม่พอใจไปเป็นการปฏิวัติ การคิดแยกประเทศ แยกดินแดน แยกเกาะฮ่องกง ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เอาเลยถึงขั้นนั้น...
สำหรับซีกโลกแถวๆ แอฟริกาตะวันตก อย่างประเทศไลบีเรียนั้น แม้ว่าในแง่ “เงื่อนไข” อาจแตกต่างกันไป คือด้วยเหตุเพราะ “ปัญหาคอร์รัปชัน” ที่มีมาโดยตลอด แต่การประท้วงที่ดันปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ ก็ดูจะหาคำอธิบายไม่ค่อยถนัดสักเท่าไหร่ เช่นเดียวกับกินี การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่กลายเป็นตัวจุดชนวนตามมาติดๆ จนเลยขึ้นไปแถวๆ เม็กซิโก การคอร์รัปชัน การใช้ความรุนแรงของนักค้ายาเสพติด กลายเป็นตัวผสมผสานให้เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ ที่เล่นเอารัฐบาลแทบ “ไปไม่เป็น” อีกเหมือนกัน ในยุโรป...นอกจากฝรั่งเศส การประท้วงในสเปนที่แม้นอุบัติขึ้นมาบนเงื่อนไขเดิมๆ คือความปรารถนาจะแยกประเทศ แยกดินแดน แยกแคว้น “คาตาลัน” ให้เป็นอิสระ แต่เมื่อเกิดการ “บังคับใช้กฎหมาย” ด้วยการจับกุม คุมขัง ผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพชาวคาตาโลเนีย แบบไม่คิดจะยืดๆหยุ่นๆ ไม่บันยะบันยังเลยส่งผลให้เกิดรายการ “เผามันเลยครับพี่น้อง...ผมรับผิดชอบเอง” ขึ้นมาอีกจนได้ ส่วนในฮอลแลนด์...ด้วยการเสนอข้อกำหนดในการปล่อยมลพิษส่งผลให้บรรดาเกษตรกรชาวดัตช์ หนีไม่พ้นต้องออกมาปิดถนนมอเตอร์เวย์ ชัตดาวน์เมืองทั้งเมืองไปอีกเช่นกัน ฯลฯ...
อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้นี่เอง...ที่ทำให้การหา “คำตอบ” หรือคำอธิบายต่อคำถามที่ว่า จึงออกจะเป็นอะไรที่น่าขนลุก ขนพอง น่าครั่นเนื้อ ครั่นตัว อยู่พอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อรายงานข่าวชิ้นนี้ เขาได้ไปนำเอารายงานการศึกษาและวิจัย ขององค์กรอย่าง “University of Arizona study” มาอ้างอิงไว้ในทำนองว่า “ความรุนแรงจากความขัดแย้งภายใน” ของฉากสถานการณ์ในแต่ละแห่ง แต่ละที่ เป็นสิ่งซึ่งสามารถแพร่กระจายได้แบบเดียวกับ “โรคติดต่อ” คือสามารถแผ่ข้ามพรมแดน ข้ามเมือง ข้ามรัฐ โดยการ “สั่งสมอารมณ์ความรู้สึกและแรงปรารถนาที่จะลอกเลียนแบบจากเหตุการณ์ภายนอก” ในลักษณะเดียวกันกับ “แฟชั่น” อะไรประมาณนั้น...
ดังนั้น...เอาเป็นว่าไม่ว่าผลการศึกษาวิจัยที่ว่า จะจริง-ไม่จริง น่าเชื่อ-ไม่น่าเชื่อ แต่ต้องถือเป็นสิ่งน่าคิด น่าสะกิดใจ มิใช่น้อย โดยเฉพาะสำหรับบ้านเรา หรือประเทศไทยแลนด์แดนสยาม ของหมู่เฮาทั้งหลาย ที่ชักเริ่มๆ ปรากฏรูป ปรากฏเงาของบรรดามวลชนกลุ่มต่างๆ ขึ้นมามั่งแล้ว ไม่ว่าโดยอาศัย “เงื่อนไข” หรือ “เหตุปัจจัย” ใดๆ ก็เถอะ ส่วนควรจะรับมือกันในแบบไหน อย่างไร แบบ “มึงแรงมา-กูแรงไป” แบบ “มึงสวิงซ้าย-กูสวิงขวา” สุดโต่งชนิดต้องแหลกราญกันไปข้าง หรือจะหันไปรับฟังข้อเสนอที่รายงานข่าวชิ้นนี้ สรุปไว้ว่าน่าจะเป็นวิธีที่ “ง่ายที่สุด” นั่นคือ “การยอมรับต่อความต้องการของพลเมืองตัวเอง” อันนี้...ก็แล้วแต่จะไปใคร่ครวญพิจารณาเอาเอง ก็แล้วกัน...