xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าสีส้มตะวันตก วัดพลังพรรคภูมิใจไทย

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


กระทรวงคมนาคมในรัฐบาลนี้ ที่พรรคภูมิใจไทยได้ไปกำกับดูแล เอาเข้าจริงแทบไม่เหลือโครงการขนาดใหญ่ ให้รัฐมนตรีได้แสดงฝีไม้ลายมือเลย

หลายโครงการเดินหน้าไปแล้วในยุค คสช.อย่างเช่น รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ สายสีส้มตะวันออก สายสีเหลือง สายสีชมพู มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช รถไฟทางคู่ระยะที่ 1

บางโครงการยังไม่จบ อยู่ระหว่างการประมูลหรือเจรจาต่อรอง อย่างรถไฟความเร็วสูงอีอีซี เมืองการบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ก็เกิดการเปลี่ยนรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยได้คุมกระทรวงคมนาคมก็จริง แต่โครงการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวงคมนาคม เมืองการบินเป็นโครงการของกองทัพเรือ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุดเป็นโครงการของการนิคมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ถึงแม้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงอีอีซี จะเป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม แต่อำนาจในการคัดเลือกผู้ลงทุน ตลอดจนการกำกับดูแลการก่อสร้าง เป็นของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคมนาคมจากพรรคภูมิใจไทย ทำได้อย่างมากแค่ส่งเสียงล้งเล้งตีเกราะเคาะไม้ ขีดเส้นตาย เลื่อนเดทไลน์ สร้างกระแสข่าวติดต่อกันได้หลายวันเท่านั้น

รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงเหลือแต่งาน “รื้อ” “ทบทวน” โครงการที่พอจะทำได้ อย่างน้อยก็ยังได้ “กล่อง” เช่น ทบทวนการขยายสัมปทานทางด่วนของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แลกกับการยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รื้อมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน เพิ่มความเร็วให้รถวิ่งได้ 120 กิโลเมตรในถนน 4 เลนบางสาย รื้อไม้กั้นช่องอีซีพาสทางด่วน รื้อแบริเออร์บนถนนเพื่อใช้แบริเออร์ที่ทำจากยางพาราแทน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นอีกโครงการหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทย จ้องจะรื้อ แต่ยังทำไม่สำเร็จ

โครงการนี้เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ซึ่งสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นเส้นทางจากบางขุนนนท์ถึงศูนย์วัฒนธรรม เชื่อมกับสายสีส้มตะวันออกจากศูนย์วัฒนธรรมไปถึงมีนบุรี ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

ในรัฐบาล คสช.คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือบอร์ดพีพีพีมีมติให้ใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost คือ ให้เอกชนลงทุนเหมาไปทั้งงานก่อสร้าง งานระบบ และการเดินรถเพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องลงทุนเอง และแก้ปัญหาสร้างเสร็จแล้วยังใช้ไม่ได้ เพราะรอประมูลหาผู้ติดตั้งระบบ และเดินรถ

พรรคภูมิใจไทยต้องการเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน ดึงงานก่อสร้างงานโยธาออกมาให้ รฟม.ทำเอง ให้เอกชนทำเฉพาะงานระบบ และการเดินรถ โดยอ้างว่า จะประหยัดค่าก่อสร้างได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

การลงทุนแบบพีพีพี เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องเร่งรัดการก่อสร้างให้เร็วที่สุด ไม่ให้ล่าช้ากว่าแผนงาน เพราะยิ่งช้าเท่าไร ต้นทุนก็ยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดอกเบี้ย และอาจจะถูกปรับที่ทำงานล่าช้ากว่ากำหนด

ถ้าแยกการก่อสร้างงานโยธาออกมา ให้ รฟม.เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง มีความเสี่ยงที่การก่อสร้างจะล่าช้า เพราะเอกชนที่ประมูลได้งานก่อสร้างไป เป็นผู้รับเหมา รับค่าก่อสร้างเป็นงวดๆ ถ้าการก่อสร้างล่าช้า หากพิสูจน์ได้ หรืออ้างว่า เป็นเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วม มีม็อบ หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ก็สามารถปรับเจ้าของโครงการ โดยอ้างว่า ความล่าช้าเหล่านั้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

แต่การลงทุนแบบพีพีพีรวมงานก่อสร้างกับงานระบบ และเดินรถ เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ลงทุนที่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยงทุกอย่างเอง

ในอดีต โครงการอย่างเช่น แอร์พอร์ต ลิงค์ ใช้วิธีประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา โครงการล่าช้าไปเกือบ 2 ปี งบประมาณบานปลายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท สาเหตุสำคัญเพราะการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า บริษัท ซิโน-ไทย ซึ่งเป็นผู้รับเหมางานโยธามีรายได้เพิ่มจากค่าปรับที่การรถไฟฯ ต้องจ่ายให้เพราะส่งมอบพื้นที่ล่าช้าเป็นเงินนับพันล้านบาท

อีกโครงการหนึ่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-ตลิ่งชัน ที่ การรถไฟฯ ทำเอง ล่าช้าออกไปเรื่อยๆ จากเดิมกำหนดให้บริการปี 2562 เลื่อนเป็น 2563 ตอนนี้เลื่อนออกไปเป็น 2564 เพราะสาเหตุหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ การรถไฟฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทั้งๆ ที่เป็นการก่อสร้างบนทางรถไฟเดิม และสร้างแบบยกระดับทั้งเส้น ไม่น่าจะมีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่

พร้อมๆ กับความล่าช้าของการก่อสร้าง งบประมาณก็ถูกปรับขึ้นมา 4 ครั้งแล้ว เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของงบฯ ที่เพิ่มขึ้น ค่าปรับที่ผู้รับเหมาเรียกร้องให้จ่ายตามสัญญา เพราะเป็นความล่าช้าที่เกิดจาก รฟท.

นี่คือความแตกต่างของการลงทุนแบบที่ให้เอกชนลงทุนเอง ทั้งงานโยธากับงานระบบ การเดินรถกับการแยกงานโยธาออกมาให้หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างที่พรรคภูมิใจไทยต้องการนำมาใช้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกในตอนนี้

วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อ “รื้อ” รูปแบบการลงทุน รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ในที่ประชุมมีผู้ถามว่า จะรื้อก็ได้ แต่กระทรวงคมนาคมต้องตอบคำถามให้ได้ว่า รัฐจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะ รฟม.เคยศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน และเสนอให้บอร์ดพีพีพีพิจารณา โดยได้มีการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่รัฐจะได้พบว่า ถ้าลงทุนด้วยรูปแบบ PPP รัฐบาลจะได้ผลตอบแทน 21% แต่ถ้าแยกสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างจะได้ผลตอบแทน 15.9% ลดลงเกือบ 5%

คำถามนี้ทำเอาวงแตก นายอนุทิน สั่งเลิกประชุมทันที

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ถ้าพรรคภูมิใจไทยยอมยึดรูปแบบลงทุนเดิม คือ พีพีพีก็เหมือนเสียของ คุมกระทรวงคมนาคมทั้งที ไม่ได้อะไรเลย เพราะไม่มีอะไรเหลือแล้ว

ถ้าจะรื้อให้ได้ ก็ต้องสำแดงพลังมากกว่านี้ อย่าให้เสียหน้าเหมือนรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินที่ได้แต่ขู่ฟอดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น