"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
เมื่อ 25 ปีก่อน เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการเข้าประมูลโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทศท.ในตอนนั้น นอกจากจะเป็นการเข้ามาในธุรกิจที่ตัวเองไม่เคยมีประสบการณ์แล้ว ยังเป็นครั้งแรกของการลงทุนแบบผู้รับสัมปทานจากรัฐของซีพี
ซีพีเป็นผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว เพราะโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ ต้องลงทุนเองทั้งหมดด้วยเงินมหาศาล ในขณะที่มีความเสี่ยงสูงมากว่า จะมีผู้ใช้บริการมากพอที่จะคุ้มการลงทุน และมีกำไรหรือไม่ จึงมีแต่ซีพีรายเดียวที่กล้าเสี่ยง
ช่วงที่ซีพีได้สัมปทาน 3 ล้านเลขหมาย เกิดการรัฐประหาร รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะนายทหาร จปร.รุ่น 5 ในนาม รสช.โครงการ 3 ล้านเลขหมาย ยังไม่ได้เซ็นสัญญา เพราะรอฤกษ์ดี ถูกรัฐบาลที่ รสช.แต่งตั้งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี สั่งรื้อโครงการ โดยอ้างว่า การประมูล 3 ล้านเลขหมายไม่โปร่งใส
สุดท้ายโครงการ 3 ล้านเลขหมาย ซึ่งมีขอบเขตทั่วประเทศ ถูกหั่นเหลือ 2 ล้านเลขหมาย และให้ติดตั้งเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเท่านั้น อีก 1 ล้านเลขหมายถูกแยกออกไปเป็นโครงการติดตั้งทั่วประเทศ
โครงการ 2 ล้านเลขหมาย ซึ่งขยายเป็น 2.6 ล้านเลขหมาย หมดอายุสัมปทานเมื่อปีที่แล้ว โครงการนี้ทำให้คนไทยมีโทรศัพท์ใช้อย่างทั่วถึง ขอติดตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว และมีค่าบริการที่ถูกลงมาก แม้ว่า หลังจากโครงการดำเนินไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เข้ามาแทนที่โทรศัพท์แบบมีสาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ คือ กรุงเทพฯ มีเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้น สามารถรองรับต่อยอดเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ ได้จนถึงปัจจุบัน
ส่วนซีพีเอง ก็ได้โครงการ 2.6 ล้านเลขหมาย เป็นฐานในการขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเต็มตัว ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นบริษัท ทรู ในทุกวันนี้
นี่คือบทบาทของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีความซับซ้อน และมีความเสี่ยงสูงในเรื่องผลตอบแทน
สัปดาห์ที่จะถึงนี้ หากไม่มีสิ่งเหนือความคาดหมาย ซีพีก็จะก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ที่ไม่เคยทำ ไม่เคยมีประสบการณ์ ต้องใช้เงินลงทุนสูง มีความเสี่ยงในเรื่องผลตอบแทนสูง และเป็นโครงการสัมปทานของรัฐ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน หรือรถไฟความเร็วสูงอีอีซี
หลังจากใช้เวลาเจรจาต่อรองกับคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการมานานเกือบ 10 เดือน โครงการนี้ ก็ได้ฤกษ์กำหนดวันเซ็นสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
ซีพีหรือซีพีเอช ในโครงการนี้ ได้รับการคัดเลือกให้ได้สิทธิดำเนินโครงการก่อน เพราะเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำกว่านักลงทุนอีกกลุ่มที่มีบีทีเอส เป็นแกนนำ การเจรจาใช้เวลานาน เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง มีรายละเอียดมาก ต่างฝ่ายต่างต้องมีความรอบคอบ ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และให้โครงการบรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด
ระหว่างที่การเจรจาดำเนินไป การเมืองก็เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช.ที่มาจากการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นต้นสังกัด การรถไฟแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการนี้ ถูกแบ่งไปให้พรรคภูมิใจไทย กำกับดูแล
รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม จึงจำเป็นต้องแสดงบทบาทขอมีส่วนร่วมกับการผลักดันโครงการนี้บ้าง แต่โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ รวมทั้งโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีอื่นๆ แม้รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม จะเป็นเจ้าของโครงการ แต่การผลักดัน โครงการเป็นอำนาจโดยตรงของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแต่ละโครงการ
รัฐมนตรีคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย จึงทำได้แค่กวนน้ำให้ขุ่น ส่งสัญญาณกดดันให้ซีพีเอชรีบมาเซ็นสัญญา มิฉะนั้น จะเรียกกลุ่มบีทีเอส อาร์มาเจรจา และหากซีพีเอชไม่เซ็นสัญญา จะถูกริบเงินประกัน 2 พันล้านบาท และโดนขึ้นบัญชีดำห้ามประมูลงานรัฐ โทษฐานทิ้งงาน
แต่อำนาจในการเห็นชอบอนุมัติให้เซ็นสัญญาหรือไม่ให้เซ็น เป็นของบอร์ดอีอีซี รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมไม่มีอำนาจแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อบอร์ดอีอีซี เห็นชอบเอกสารแนบท้ายสัญญาที่เกี่ยวกับแผนการส่งมอบพื้นที่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงได้เวลาเปิดหวูดเดินหน้าอย่างเป็นทางการเสียที
โครงการรถไฟความเร็วสูง มีความสำคัญต่อซีพีมาก ถือเป็นการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ โครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชน และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอีอีซี การเซ็นสัญญาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ จะสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และไทยต่ออีอีซี