xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"กำชับภาครัฐเอื้อกลุ่มCPH-เดินหน้าลุยรถไฟเชื่อม3สนามบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - "อนุทิน" เผย นายกฯ กำชับภาครัฐ อำนวยความสะดวกกลุ่ม CPH ให้ดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินด้วยความราบรื่น พร้อมเป็นประธานการเซ็นสัญญา 25 ต.ค.นี้ บอร์ดรฟท. เห็นชอบร่างสัญญา ไฮสปีด 3 สนามบิน ยืดเวลาออก หนังสือเริ่มงาน (NTP) เป็น 2 ปี พร้อมมอบหมายให้ ร.ฟ.ท. เร่งยื่นสู้ค่าโง่โฮปเวลล์ ลุ้นศาลคุ้มครองระงับการบังคับคดี "วิษณุ" แจงถอนคดีค่าโง่โฮปเวลล์ จากที่ประชุมครม. เหตุมีบางประเด็นต้องทำความเข้าใจ

วานนี้ (16 ต.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ถึงความคืบหน้าการเซ็นสัญญาของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่ม CPH ที่ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า มีการปรับเงื่อนไขเล็กน้อย เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับว่า ภาครัฐต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยรัฐต้องออกแรงด้วย ไม่ใช่ปล่อยเอกชนออกแรงฝ่ายเดียว ตรงนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่ตรงกัน และรับทราบ จะมีการลงนามสัญญา ซึ่งร่างสัญญาหลักมีอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีอุปสรรคในการลงนาม

ทั้งนี้ รายละเอียดในการปรับเงื่อนไขที่นำมาหารือ คือ การปรับความเข้าใจ เรื่องการส่งมอบพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเข้ามาทำการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ซึ่งทาง รมว.มหาดไทย ได้ไล่ถามทีละหน่วยงาน ทุกคนยืนยันว่า พร้อมและปฏิบัติได้ ขณะที่ ร.ฟ.ท.ต้องไปรับภาระการเวนคืนที่ดินบางส่วน และหาที่อยู่ให้กับชาวบ้านตามแนวรถไฟ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยเลื่อนระยะเวลาจาก 1 ปี 3 เดือน เป็น 2 ปี เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ถึงเวลานั้นถ้ามีอุปสรรค ก็ต้องว่ากันในเรื่องการขยายเวลาให้กับเอกชน

"เราเข้ามาเพราะต้องการสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เขาทำเสร็จ ผมได้กำชับรมว.คมนาคม ตลอดเวลา หากทางเอกชนขอสิ่งใดมาที่เราทำได้ อยู่ในกรอบกฎหมาย และ ทีโออาร์ เราต้องทำทุกอย่าง ถือเป็นภารกิจและหน้าที่"

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่าการทำสัญญากับรัฐ เราจะชดเชยในเรื่องระยะเวลา ไม่ใช่เงิน เพราะหากชดเชยด้วยเงิน ทุกสัญญาที่รัฐทำกับเอกชน ก็ต้องชดเชยตามไปด้วย ทั้งนี้ยอมรับว่าการก่อสร้างทุกอย่างต้องมีอุปสรรคอยู่แล้ว หากเอกชนติดอุปสรรค ก็ขอขยายสัญญาได้ หรือหากรัฐติดอุปสรรค ก็ขอขยายสัญญาได้ โดยไม่มีค่าปรับ ถือว่าแฟร์ และยุติธรรม เพียงแค่อย่าใช้อคติ หรือความลำเอียงในการดำเนินสัญญา ก็จะทำให้ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องการให้ประเทศมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ทั้งโลกว่า โครงการอีอีซี เกิดแน่นอน

"ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นประธานการลงนาม โดยรมว.คมนาคม ได้กราบเรียนเชิญเรียบร้อยแล้ว เพราะถือเป็นงานใหญ่ อีอีซี ถือเป็นตำนานของพล.อ.ประยุทธ์ สมัยก่อนเรามี อีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ วันนี้ อีอีซี ก็เป็นผลงานเป็นสิ่งที่จะต้องกล่าวขานถึงความมุ่งมั่นของพล.อ.ประยุทธ์"

นายอนุทิน กล่าวว่า นายกฯกำชับว่า ให้ทำเสร็จเร็วๆ อะไรช่วยเขาได้ก็ช่วย อะไรยืดหยุ่นได้ก็ยืดหยุ่น โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ก็ได้พูดในที่ประชุม ว่า อย่าไปแน่น หรือตึงมาก ผ่อนได้ก็ผ่อน แต่อย่าให้ผิดกฎหมาย และอย่าให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมพร้อมอยู่แล้ว ยิ่งทำเสร็จเร็ว ส่งมอบพื้นที่เร็ว ก็เป็นผลงานกระทรวงคมนาคม

เมื่อถามว่านายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นห่วงการส่งมอบพื้นที่ เรื่องนี้สามารถคุยหลังเซ็นสัญญาได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ มีการส่งมอบพื้นที่ ที่เป็นนัยยะสำคัญหลักอยู่แล้ว 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ สามารถส่งมอบโดยไม่มีอุปสรรค และในระยะเวลา 2 ปี เราก็ไปแก้ไขปัญหาส่วนที่เหลือ กว่าจะได้สร้างจริงๆ ก็ใช้เวลาเป็นปี ขอเรียนนายศุภชัย ได้เลยไม่ต้องห่วง สัปดาห์ที่แล้วก็ได้มาพบตน และยืนยันไปว่าอย่าได้กังวล ตราบใดที่ตนยังอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนทำงานได้อย่างราบรื่นที่สุด ตนก็พอจะมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มี ตนก็โดนอะไรมา ก็รู้ และจะนำสิ่งที่โดนมา มาช่วยและมานั่งเถียงแทนเขาด้วย

"บอร์ดอีอีซี" มั่นใจไฮสปีดช่วยแรกเสร็จปี 56

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน (อีอีซี) กล่าวว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฉพาะสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะสามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ส่วนสถานีพญาไท-ดอนเมือง ที่มีการรื้อย้ายปรับปรุงสาธารณูปโภคจำนวนมาก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2567 - 2568

บอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบร่างสัญญาไฮสปีด

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมภายหลังการประชุมบอร์ดรฟท. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างสัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งผ่านการตรวจจากอัยการสูงสุด และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด อีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว พร้อมกับเห็นชอบให้ผู้ว่าฯรฟท.เป็นผู้ลงนามในสัญญาดังกล่าว ซึ่งกำหนดการลงนามสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)?ในวันที่ 25ต.ค. 2562?

ทั้งนี้บอร์ดให้รฟท.รายงานความก้าวหน้าตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทุกเดือน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าฯรฟท. กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ นั้นทาง กพอ.ได้ตั้งคณะอนุฯ พิจารณาแผนการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งได้สรุป ว่าจะแบ่งการส่งมอบเป็น 3 เฟส และรายงานบอร์ด อีอีซีแล้ว

ทั้งนี้ใน RFP กำหนดว่าให้ส่งมอบ ไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งรฟท. เสนอแผนส่งมอบพื้นที่ได้เกิน50% อยู่แล้ว ในส่วนที่รฟท.รับผิดชอบ คือพื้นที่บุกรุก ไม่มีปัญหา ,พื้นที่เวนคืน ซึ่งจะมีประเด็นในการออกพรฏ.เวนคืน และ การรื้อย้ายสาธารณูปโภค ใต้ดินที่ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7-8 หน่วยงาน ซึ่งได้หารือแล้ว

โดยใน RFP กำหนดว่า ภายใน 1 ปี ให้ออกหนังสือ Notice to process หรือ NTP เริ่มก่อสร้าง แต่หากไม่สามารถออกได้ เนื่องจากยังติดขัดการส่งมอบพื้นที่ ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ขยายเวลาออกไป ซึ่งขณะนี้ได้ตกลงกันแล้วว่าจะออก NTP ภายใน 2 ปี เพราะ1ปี เห็นว่า ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามเงื่อนไข และให้คณะกรรมการคัดเลือกปรับปรุงเอกสารแนบท้ายสัญญา ที่กพอ.มีมติ เป็นการขอขยายกรอบเวลาเพิ่มแต่เชื่อว่าจะส่งมอบพื้นที่เกิน 50% ภายใน 2 ปี โดยเฉพาะช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

สำหรับการส่งมอบโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้น มี2 เงื่อนไขคือ รับมอบภายใน2 ปี โดยทางซีพีต้องจ่ายเงินครบ 10,671 ล้านบาท ก่อน ซึ่งเอกชนต้องทำแผนการรับมอบ และแผนการชำระเงิน สามารถทะยอยได้ แต่ต้องครบถายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามสัญญา

“หลังลงนามสัญญา 25 ต.ค.นี้ ทางซีพี จะต้องไปดำเนินการออกแบบ ทั้งโครงการให้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อนำแบบมาหารือกับรฟท. และกำหนดการส่งมอบพื้นที่ให้ตรงกัน"

รฟท.เร่งยื่น สู้ค่าโง่โฮปเวลล์

นายจิรุตม์ กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ดรฟท. ยังเห็นชอบการต่อสู้คดีโฮปเวลล์ หลังจากที่ผู้ว่าฯรฟท. ได้รายงานว่าคณะทำงานฯที่กระทรวงคมนาคมตั้งขึ้น ได้พบหลักฐานชิ้นใหม่ ว่าในช่วงที่ขออนุมัติโครงการนั้น ทางบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ดำเนินการตามามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) ในเรื่องการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีผู้ถือหุ้นคนต่างด้าวเกินกว่ากฎหมายกำหนด จะต้องขออนุมัติยกเว้นในการประกอบธุรกิจในไทย เพราะไม่พบเอกสารการขอยกเว้น ดังนั้น ได้มอบหมายให้รฟท. ยื่นดำเนินคดีในเรื่องการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ที่ไม่ขอยด้วยกฎหมาย

ขณะเดีนวยวกัน ให้ฝ่ายอนาบาล รฟท. หารือกับกระทรวงคมนาคมในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน การบังคับคดี ตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ให้ชำระเงินภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ ?19 ต.ค. 2562?

"วิษณุ" แจงถอนคดีค่าโง่โฮปเวลล์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ที่ประชุมครม. ถอนเรื่องให้ไปทบทวนแนวทางการต่อสู้คดีค่าโง่โฮปเวลล์ มูลค่า 12,000 ล้านบาท ว่า เพราะมีบางประเด็นที่ต้องการให้เขาไปทำความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อถามว่า ในทางกฎหมายมีการตัดสินคดีจบแล้ว ยังสามารถฟ้องร้องกันต่อได้ หรือไม่ เพราะนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า จะฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและพาณิชย์ ให้ตรวจสอบประเด็นการจดทะเบียน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หลังพบข้อมูลผู้ถือหุ้นต่างชาติถือหุ้นมากกว่าที่กฎหมายกำหนด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบและตนไม่ขอพูดอะไร ให้กระทรวงคมนาคม พูดเอง เพราะเป็นเจ้าของเรื่อง

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าในช่วงบ่าย (16 ต.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ บอร์ด รฟท. เพื่อพิจารณาถึงแนวทางการต่อสู้ในคดีดังกล่าว โดยจะดูตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย และจะต้องได้ข้อสรุปออกมาเลย หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อรายงานในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีแนวทางที่ทำให้เราไม่ต้องจ่ายเงินให้กับโฮปเวลล์ หรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รอบอร์ดรฟท.พิจารณา ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น