xs
xsm
sm
md
lg

แปลง PTTOR เข้าตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา


การผลักดันบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังถูกกระแสสังคมจับจ้อง พร้อมกับคำถาม มีเหตุความจำเป็นอย่างไรในการเข้าตลาดหุ้น และใครจะได้รับประโยชน์

PTTOR เป็นบริษัทลูกที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้น 100% โดยมีแผนจะผลักดันเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นภายในปีนี้ ซึ่งหลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปแล้ว ปตท.และหน่วยงานรัฐจะถือหุ้นไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียน เช่นเดียวกับบริษัทลูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายแห่ง และแปลงสถานภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว

การแปลงร่างเข้าตลาดหุ้น จะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้น PTTOR เปลี่ยนไป โดยปตท.จะไม่ใช่เจ้าของทั้งหมด ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำถามถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและชุมชน

ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความกังวลด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ความสูญหายทรัพย์สินของชาติ และกระแสสังคมที่ต้องการให้ ปตท.ถือหุ้นเกิน 50%

ปตท.ได้ชี้แจงข้อสังเกตของ สตง. ทั้ง 3 ประเด็น โดยระบุว่า การที่ ปตท.และหน่วยงานรัฐถือหุ้นไม่เกิน 49% เป็นไปตามนโยบายรัฐที่ต้องการเปิดเสรีธุรกิจด้านพลังงาน

และ ปตท.มีนโยบายลดการถือหุ้นบริษัทลูกในธุรกิจน้ำมันและพลังงานอยู่แล้ว

ผู้บริหาร ปตท.เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลการแยกธุรกิจขายน้ำมัน ขายก๊าซ และธุรกิจค้าปลีกตั้งเป็นบริษัท โดย ปตท.จะถือหุ้นไม่เกิน 49% เพื่อขจัดข้อครหารัฐเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.

เหตุผลที่หยิบยกขึ้นมา ไม่มีน้ำหนักลบล้างข้อกังวลของสังคมในการนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้นได้

การที่ ปตท.และหน่วยงานรัฐ จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน PTTOR เหลือไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียนนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของ สตง.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

เพราะถ้า ปตท.และหน่วยงานรัฐถือหุ้นไม่เกิน 51% PTTOR จะมีฐานะเป็นบริษัทเอกชน สตง.และ ป.ป.ช.ไม่อาจตรวจสอบการใช้จ่ายงบการเงิน หรือการทุจริตได้

การทุจริตในกลุ่ม ปตท.มีข่าวออกมาเป็นระยะ โดยคดีทุจริตโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) บริษัทลูกของ ปตท. ความเสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.

ส่วนการทุจริตสต็อกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 7.18 ตัน มูลค่า 2.1 พันล้านบาท ในบริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC โดยมีพนักงาน ผู้บริหารบริษัท และบริษัทคู่ค้าร่วมกันทุจริตนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นกลางปี 2561 แต่คดีทุจริตครั้งใหญ่กลับถูกปิดเงียบ

ผู้บริหาร GGC ไม่เคยเปิดแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ร่วมทุจริต และจนบัดนี้ สาธารณชนยังไม่รับรู้ว่า ผู้ร่วมขบวนการโกงสต็อกปาล์มน้ำมันดิบ 7.18 ตันเป็นใครกันบ้าง ถูกดำเนินคดีข้อหาใดหรือไม่ และมีการติดตามทรัพย์สินที่ถูกโกงกลับมาได้เพียงใด

โครงสร้างผู้ถือหุ้น GGC มีบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ถือหุ้นในสัดส่วน 72.29% ของทุนจดทะเบียน ส่วน PTTGC มี ปตท.ถือหุ้นสัดส่วน 487% ของทุนจดทะเบียน ดังนั้น GGC จึงไม่อยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ไม่ถูกตรวจสอบโดย สตง.หรือ ป.ป.ช.

คดีทุจริตจึงสามารถปิดเงียบเป็นการภายใน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ไม่เคยสอบถามข้อมูลคดีทุจริตที่ฉาวโฉ่ของ GGC เพื่อนำข้อมูลมาเปิดโปงให้ประชาชนรับรู้อีกด้วย

PTTOR ก่อตั้งขึ้น โดยรับโอนธุรกิจปั๊มน้ำมัน ธุรกิจค้าน้ำมัน ธุรกิจค้าก๊าซ และธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านกาแฟอเมซอนของ ปตท.เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นในฐานะบริษัทลูก ปตท.ที่มีขนาดใหญ่ ประมาณการว่า มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมจะมากกว่า 1 แสนล้านบาท

แต่คำถามคือ มีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องเข้าตลาดหุ้น เพราะไม่มีปัญหาต้องระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสามารถระดมทุนผ่าน ปตท.ได้อยู่แล้ว

และไม่มีปัญหาความคล่องตัวในการบริหาร เพราะธุรกิจที่โอนเข้า PTTOR แม้อยู่ภายใต้การบริหารของ ปตท.แต่สามารถเติบโตจนคับประเทศ

การนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตั้งคำถามถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและชุมชนค้างอยู่ ส่วน สตง.แสดงความกังวลในความมั่นคงด้านพลังงาน ความสูญหายทรัพย์สินของชาติ และกระแสสังคมที่ต้องการให้ ปตท.ถือหุ้นเกิน 51%

ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมจำนวน 1.31 ล้านล้านบาท มีรายได้รวมปี 2561 จำนวน 2.1 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 1.19 แสนล้านบาท โดย
กระทรวงการคลังถือหุ้น 51.11% ของทุนจดทะเบียน และมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง ถือหุ้นในบริษัทลูกทั้งในและต่างประเทศนับไม่ถ้วน และไม่มีความจำเป็นหรือต้องรีบร้อนผลักดัน PTTOR เข้าตลาดหุ้น

ผู้บริหาร ปตท.อาจมีเหตุผลอธิบายให้ประชาชนได้ว่า การนำ PTTOR เข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ แต่ทำไมต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.และหน่วยงานรัฐต่ำกว่า 50%

คำตอบเดียวที่สังคมคิดได้ขณะนี้คือ การแปลงทรัพย์สินของชาติสู่มือเอกชน การแปรรูป PTTOR ให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อหลบการตรวจสอบของ สตง.และ ป.ป.ช.
กำลังโหลดความคิดเห็น