xs
xsm
sm
md
lg

ข้อดี และ ข้อเสียของ “ชิม ช้อป ใช้”

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ส่วนตัวผมไม่ไปรับเงินพันบาท ชิม ช้อป ใช้ เป๋าตุง เพราะได้ข่าวว่ายากเหลือเกิน รัฐบาลตั้งเป้าว่า 10 ล้านจะสมัครเข้ามารับเงิน ได้ข่าวว่าวันละล้านคนคิวยาวมาก ทาง IT เรียกว่าเป็นปัญหา concurrency problem คือมีคนแห่เข้าไปพร้อมกันในเวลาเดียวกันมากไปจนเกินกว่าที่ internet bandwidth จะรองรับได้ ต้องมีการจัดการให้ดีและคนจะออกันเข้าระบบเวลา prime time เช่น สองทุ่มถึงเที่ยงคืน จนจะไปซาลงตอนตีสองตีสามถึงตีห้าครึ่งที่ยังไม่มีใครตื่นกัน ช่วงนั้นน่าจะเข้าระบบได้ง่ายและสะดวกแต่ใครจะยอมอดนอนขนาดนั้น ถ้าอยากได้เงินก็ต้องอดทนอดนอนกันบ้างหละ

ส่วนตัวผมขี้เกียจไปรอคิว และขี้เกียจไปแย่งอะไรกับใคร เพราะเป็นคนขี้เกียจมาก แต่อีกส่วนรู้สึกว่าพันบาท เราหาเองได้ ให้รัฐบาลเอาไปใช้ทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติจะดีกว่า

อีกความรู้สึกคือไม่เห็นด้วยกับการใช้เงินของรัฐบาลแบบนี้นัก คิดว่าไม่เกิดประโยชน์มาก ไม่ยั่งยืน เราต่อต้านประชานิยมแบบทักษิณ/ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สร้างความเสียดายให้กับประเทศไทยมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก จำนำข้าว โดยเฉพาะจำนำข้าวนี่สร้างความเสียหายให้ประเทศไทยเป็นหลายแสนล้านและทำให้เรายังคงต้องใช้หนี้กันมาจนทุกวันนี้ ก็ที่จ่ายภาษีทุกๆ วันนี้แหละที่ต้องเอาไปใช้หนี้กันยาวๆ ไปชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้นด้วยมาตรฐานเดียวกันแล้วผมจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการประชานิยมทุกอย่างในนามประชารัฐ

เพราะหลักการของผมมีอยู่ว่าการช่วยเหลือคนต้องช่วยเหลือให้เขาช่วยเหลือตนเองได้ หากนักการเมืองจะใช้ populism กันไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะและภาระทางการคลังอย่างมหาศาลจนแก้ไขได้ยาก ลองดูที่อาร์เจนติน่า นายพลเปรอง และเอวิตา เปรอง แจกเงินคนจน คนจนรักมากมาย ได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่สุดท้ายอาร์เจนติน่าจากประเทศที่ร่ำรวยก็ล่มสลาย เวเนซูเอลา ก็เช่นเดียวกัน เคยเป็นประเทศร่ำรวยจากการค้าน้ำมัน เกิดประชานิยมเต็มที่แต่ท้ายที่สุดก็ล่มสลาย

ถ้าชิมช้อปใช้มีคนลงทะเบียนสิบล้านคนตามเป้าหมายก็จะใช้เงินภาษีของประชาชนประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท แน่นอนการใช้เงินหนึ่งหมื่นล้านบาทก็ควรต้องมีประโยชน์บ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่งและต้องคำนึงว่าคุ้มค่าหรือไม่ด้วยเช่นกัน ถ้ามองด้วยจิตใจที่เปิดกว้างแม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับประชานิยมเลยก็ตามก็พอจะมองเห็นข้อดีของ ชิมช้อปใช้ เป๋าตุง อยู่หลายข้อดังนี้

ประการแรก การให้เงินแบบชิมช้อปใช้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเงินเข้าระบบ เป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจน ซึ่งลำบากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลกอย่าง John Maynard Keynes ได้เสนอว่ารัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินและจัดทำงบประมาณแผ่นดินแบบขาดดุลได้ ในอีกด้านหนึ่งเงินประชานิยมแบบชิมช้อปใช้นั้นก็เป็นเสมือนน้ำเกลือสำหรับคนไข้อาการหนักป่วยไข้เต็มที่จำเป็นต้องได้รับสารน้ำเช่นน้ำเกลือ เพื่อพยุงชีวิตให้รอดต่อไปได้ตามความจำเป็น แต่ส่วนตัวผมมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยณ เวลานี้ ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ยาขนานนี้ยังไม่จำเป็น การให้น้ำเกลือในเวลาไม่จำเป็นอาจจะไม่เป็นประโยชน์และหากให้เร็วมากไปความดันโลหิตอาจจะพุ่งสูงขึ้นก็ได้

ประการที่สอง การให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้เกิดผลกระทบตัวคูณ (Multiplier effect) อันอธิบายได้ว่าเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจลงไปจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนต่อไปอีกหลายทอดและหลายเท่า เพราะจะมีการจ้างงานและการจ้างทำของต่อไปเป็นทอด อธิบายง่ายๆ ให้ดูโฆษณารุ่นเก่าของธนาคารกรุงไทยชุดเงินกำลังจะหมุนไป จะช่วยให้เข้าใจผลกระทบตัวคูณทางเศรษฐศาสตร์ได้ดีมากที่สุด



ดังนั้นต้องมีการศึกษาเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการจากการประมาณค่าผลกระทบตัวคูณดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนด้วยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ รูปด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่าจากการมีสมาชิกไปเริ่มใช้เงิน ส่วนใหญ่เม็ดเงินยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ อันเป็นเมืองเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลักมากกว่ากระจายไปตามจังหวัดเล็กๆ ในที่ห่างไกล และส่วนใหญ่เอื้อกับธุรกิจค้าปลีกเพราะใช้เงินไปในการช้อปปิ้งซื้อของในร้านธงฟ้าเป็นหลัก เนื่องจากเป็น outlet ที่ใช้เงินดังกล่าวได้สะดวก ส่วนเงินจะหมุนไปกี่เท่าและหมุนไปกี่รอบยังไม่มีข้อมูลจากผลการศึกษาอย่างเป็นหลักวิชาการ

ประการที่สาม โครงการ ชิมช้อปใช้ จะช่วยให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ได้ ซี่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยมาก และต้องใช้ความพยายามมาก

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อราว 15-20 ปีก่อนที่ธนาคารพาณิชย์แทบทุกธนาคารพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ลูกค้าและผู้บริโภคปรับมาใช้บริการธนาคารทางโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก จนถึงคิดว่าต้องมีการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer behavior modification) ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้คนไทยหันมาใช้ i-banking, m-banking กันมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว คนใช้กันมากจนธนาคารต้องปิดสาขาลงไปมากมาย ข้อดีคือธนาคารประหยัดต้นทุนการเปิดสาขาและลดจำนวนพนักงาน teller ที่เคาน์เตอร์ลงไปได้มากเหลือเกิน ทำให้ประหยัดและมีรายได้มากขึ้น

อันที่จริง เป่าตุงนี้ก็เป็นกระเป๋าเงินอีเล็คทรอนิกส์ (e-wallet) อย่างหนึ่งที่หากมีสมาชิกได้ครบสิบล้านคนจะถือว่าใหญ่มาก และนำมาต่อยอดได้สารพัดอย่าง เป็นการต่อยอดมาจากระบบ prompt-pay ที่รัฐบาลได้ทำมาก่อนหน้านั้น การที่สังคมไทยใช้เงินสดลดลงมีประโยชน์มหาศาล จะประหยัดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตรและการสร้างเหรียญกษาปณ์ลงไปได้อีกมาก ทำให้ธุรกรรมทางการเงินลดต้นทุนลง ทำให้พาณิชย์อีเล็กทรอนิคส์ (e-commerce) สะดวกขึ้น สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ง่ายขึ้นและช่วยให้การจัดเก็บภาษีสามารถทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นหากประชาชนนิยมใช้ นอกจากนี้ยังเป็นการบังคับโดยอ้อมให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ลดค่าธรรมเนียมธุรกรรม (Transaction fee) ลง เป็นประโยชน์กับประชาชนอีกเช่นกัน ทั้งนี้อยู่ที่การขยายหรือต่อยอดของรัฐบาล และควรดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ระบบขยายผลออกไปและใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด

คำถามคือลงทุนหมื่นกว่าล้านบาทเพื่อให้เกิด e-wallet ที่มีสมาชิกสิบล้านคนนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ หรือมีวิธีการอื่นที่อาจจะทำได้ดีกว่านี้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่านี้ และจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะมีแผนที่เป็นรูปธรรมในการผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในสังคมไทยได้จริงในอนาคตอันใกล้

อันที่จริงหากถามว่าโดยส่วนตัวต่อต้านหรือเชียร์โครงการ ชิมช้อปใช้ ของรัฐบาลหรือไม่ คำตอบคือมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและส่วนที่ไม่เห็นด้วย และคิดว่าน่าจะมีวิธีการที่จะใช้เงินงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

สิ่งที่อยากเห็น คืออยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนแบบรัฐบาลจีน ใช้การเชื่อมโยงฐานข้อมูลใหญ่ (Big data) จากสารพัดหน่วยงาน แล้วข้าราชการลงไปดูแลและวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุของปัญหา ทีละครัวเรือนที่ยากจน หากไม่มีงานก็จะหางานให้ หากไม่มีการศึกษาก็ให้การศึกษา หากไม่มีอาชีพก็ฝึกสอนอาชีพให้ หากทำมาค้าขายล้ม ก็สอนให้ทำธุรกิจเป็น ฝึกให้ทำกิจการเองได้ เป็นผู้ประกอบการเป็น หากมีปัญหาสุขภาพก็จะดูแลรักษาสุขภาพให้ หากมีความทุพพลภาพก็จะดูแลฟื้นฟูสุขภาพและหาทางให้ทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ การลดปัญหาความยากจนในจีนคือการแก้ปัญหาที่สาเหตุของความยากจน แบบถึงลูกถึงคน ทีละครัวเรือน ไม่หว่านแจก ไม่ประชานิยม แต่กลับทำให้ความยากจนในจีนหายไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น