xs
xsm
sm
md
lg

"ชวน"เร่งแจกเอกสารงบฯปี63 วิษณุยันรมต.ที่เป็นส.ส.โหวตได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ ( 8 ต.ค.) ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสถาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของเอกสาร ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และลงมือนับเล่มเอกสารด้วยตนเอง ก่อนที่จะส่งมอบให้กับสมาชิก ทั้งส.ส. และ ส.ว. คนละ1 ชุด รวม 750 ชุด โดยแต่ละชุดมี 2 ลัง 33 เล่ม 55 มาตรา ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.งบปี 2563 เอกสารสรุป และเอกสารรายละเอียดงบประมาณรายกระทรวง เพื่อให้สมาชิกได้นำไปศึกษา ก่อนที่จะมีการประชุมพิจารณา ในวันที่ 17 ต.ค.นี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ได้ชี้แจงในที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 7ต.ค.ที่ผ่านมาว่ารัฐมนตรีที่เป็นส.ส. สามารถลงมติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ว่า มีการสงสัยกันในเรื่องดังกล่าว เพราะ รธน.แต่ละฉบับเขียนไว้ไม่เหมือนกัน แต่เราได้ทำความเข้าใจแล้วว่า รธน.ฉบับปัจจุบัน สามารถลงมติได้ รธน.ปี 40 ระบุว่า เมื่อส.ส.มาเป็นรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากส.ส. ภายใน 30 วัน ฉะนั้นจะเหลือแต่ความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งไม่สามารถไปโหวตอะไรในสภาฯได้ ต่อมารธน.ปี 50 เขียนอีกแบบหนึ่งว่า ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องลาออก แต่รัฐมนตรีจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ จึงทำให้รัฐมนตรีหลายคนที่เป็น ส.ส.ไม่กล้าโหวตในเรื่องงบประมาณ และไม่กล้าโหวตในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง แต่เมื่อมาถึงรธน.ปี 60 คือฉบับปัจจุบัน ส.ส.เป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันได้ และไม่ได้ระบุเหมือนแต่ก่อน ว่าจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกตัดออกไปแล้ว ซึ่งก็แปลว่า สามารถลงมติได้ แต่โดยมารยาทแล้วในการลงมติไม่ไว้วางใจตัวเอง ไม่ควรจะลงมติ แต่ในเรื่องการเสนอกฎหมาย จะเป็นเรื่องงบประมาณ หรือกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีส่วนได้เสียส่วนตัว แต่เป็นส่วนได้เสียส่วนรวม ฉะนั้นรธน. ไม่ได้ห้าม และโดยสรุปก็มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. มีความสงสัยอยู่ 19 คน สามารถลงมติในเรื่องงบประมาณ เช่นเดียวกับลงมติในเรื่องอื่นๆ ได้
เมื่อถามว่า ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯไม่ผ่านสภาฯ จะมีผลอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ตามหลักแล้ว ถ้าสภาฯเสียงข้างมาก ไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงจะอยู่ต่อไป ซึ่งการไม่ไว้วางใจนั้น แสดงออกได้ 2 อย่าง คือ 1.ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย ตรงนี้ทำโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ 2. ไม่ไว้วางใจโดยปริยาย จะแสดงออกจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ แล้วสภาฯลงมติให้ไม่ผ่าน ซึ่งก็แปลว่าสภาฯ ไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรจะต้องอยู่ แต่วิธีที่จะไม่อยู่นั้น สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ 1. ทำโดยรัฐบาลลาออก หรือ 2. ทำโดยออกด้วยกันทั้งคู่ เพราะการที่สภาฯ ไม่เห็นชอบนั้น ไม่รู้ว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร จึงยุบสภาแล้วไปเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจใหม่ ดังนั้น ทางออกสามารถทำได้ 2 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไป และเราก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา โดยในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ลาออก เพราะสภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมาย แต่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ลาออก แม้สภาฯ ลงมติไม่ผ่านกฎหมายเช่นกัน เพราะถือว่าไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่สำหรับกฎหมายงบประมาณนั้น เป็นกฎหมายสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น