xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจคำพิพากษา ไม่ใช่การแทรกแซงการตัดสินคดี

เผยแพร่:   โดย: นายหิ่งห้อย


โดย...นายหิ่งห้อย

ศาลยุติธรรมใช้ระบบตรวจสอบร่างคำพิพากษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาตั้งแต่ดั้งเดิม โดยถือว่าเป็นการตรวจสอบภายในองค์กร เพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมแก่คู่ความ และเป็นการช่วยดูแลมาตรฐานของคำพิพากษาที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน

อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ จากผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ไปยังผู้พิพากษารุ่นต่อๆ มา แต่การตรวจร่างคำพิพากษายังคงให้อิสระแก่องค์คณะผู้พิพากษาที่จะยืนยันคำตัดสินของตน โดยไม่จำต้องปฏิบัติตามความเห็นที่มีลักษณะเป็นข้อทักท้วงของผู้พิพากษาผู้ใหญที่ต้องมีความรับผิดชอบในการทำความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถตรวจสอบได้

ครั้นมีการร่าง รธน.ปี 2540 มีแนวคิดให้องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีปราศจากการตรวจสอบโดยห้ามผู้พิพากษาที่เป็นผู้บริหารศาลตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง

หลังจากนั้น มีสถิติซึ่งรวบรวมไว้ ปรากฏชัดแจ้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับและแก้ไขโดยศาลสูงมากขึ้นเป็นลำดับๆ จนน่าตกใจ (ตามรายงานการศึกษาของคณะทำงานเพื่อพิจารณาผลกระทบจากการปรับโครงสร้างศาลตาม รธน.2540)

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงตกแก่ประชาชน เพราะมีความผิดพลาดเกิดมากขึ้น แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกแก้ไขโดยศาลสูงให้ถูกต้องสมบูรณ์ก็ตาม

ครั้นเมื่อมี รธน.ปี 2550 จึงมีการแก้ไขกฎหมายกลับมาใช้ระบบตรวจคำพิพากษาแบบเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ซึ่งมิได้ถือว่าเป็นการแทรกแซงการตัดสินคดี

แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้อง และให้เกิดความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ โดยผู้เสนอความเห็นมิได้ศึกษาข้อมูล และความเป็นมาของระบบการตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษาที่ใช้อยู่ภายในองค์กรศาลยุติธรรม และปัญหาที่เกิดขึ้นจากการห้ามตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟังทุกกรณีให้ถ่องแท้เสียก่อน อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการพิจารณาพิพากษคดี ความเสียหายย่อมตกแก่ประชาชนในที่สุด ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น