xs
xsm
sm
md
lg

"หมอเลี้ยบ"ย้อนความหลัง 6ตุลา19 ผ่าน 6บทเรียน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (6ต.ค.) ที่ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาคม 2519 ต่างความคิด ผิดถึงตาย โดยช่วงเช้า มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19 รูป จากนั้น รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิด พิธีรำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ โดยสรุปว่า ความพยายามสร้างพื้นที่ประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นที่ม.ธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในภารกิจของเรา ธรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการยอมรับความจริงของประวัติศาสตร์ บาดแผลหน้านี้นำไปสู่การสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยสภา ม.ธรรมศาสตร์ ได้อนุมัติจัดสร้างชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2541 ก่อนสร้างเสร็จปี 2543 เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถาน ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่สะท้อนความทรงจำ 6 ตุลา ซึ่งแทรกอยู่ในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของ ม.ธรรมศาสตร์
ต่อมา เป็นพิธีวางพวงมาลา โดยองค์กร พรรคการเมือง พร้อมตัวแทนกลุ่มต่างๆ
จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีต รองนายกรัฐมนตรี และ อดีตนักศึกษา ที่ร่วมสมัยอยู่ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 กล่าวปาฐกถา ว่า ชีวิตคนหนุ่มสาวเปลี่ยนไปมากมายเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 19 ตนก็เช่นกัน ยามสายของวันนั้น ได้ยืนอยู่นอกกำแพงรั้ว ม.ธรรมศาสตร์ นิ่งงัน และงุนงง ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามบังคับไม่ให้น้ำตาไหล เพราะกลัวจะเป็นเป้าสายตา เช้าตรู่วันนั้น ตนตกใจตื่นขึ้นจากเตียงในหอพักแพทย์รามาธิบดี เพราะพี่ๆ ที่หอพัก ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่ มธ.
คืนวันที่ 5 ต.ค. ได้ออกจากลานสนามหญ้าในธรรมศาสตร์ เพราะติดภารกิจบางอย่าง ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ไม่สังหรณ์ใจว่าจะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่าอาจเป็นความรุนแรงระดับเดียวกันกับที่เกิดขึ้นตลอดปี 19 แม้น้ำเสียงในวิทยุยานเกราะ จะแข็งกร้าว และหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ จึงคิดไม่ถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมง ข้างหน้า
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รีบนั่งรถเมล์มาสนามหลวง เห็นคนจำนวนนับร้อยมุงกันริมสนามหลวง ตรงข้ามม.ธรรมศาสตร์ มีกลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ต้องเบือนหน้าหนี เพราะมีร่าง 2-3 คน อยู่ที่กองรถยนต์นั้น มองไปไกลอีกหน่อยพบ ร่าง คนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งมุงดูไม่ห่าง ก่อนตนจะรีบถอยออกมา เวลา 15 นาที ในสนามหลวงวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่เด็กหนุ่มอายุ 19 จำได้ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้ เด็กอายุ 19 กับภาพที่จำฝังลึกจนสุดใจ ทำให้เปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล
ผ่านมาถึงวันนี้ หลังการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี ได้สรุปบทเรียนไว้บอกกับตัวเองได้ 6 ประการ คือ 1. ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตาย เพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ใฝ่ฝัน 2. จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน 3. ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามฝันเรื่อยๆ ไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่
4. คำถามว่าโลกพระศรีอาริย์ หรือยูโทเปีย เป็นอย่างไร เป็นไปได้จริงหรือ ไม่มีผลต่อความฝันของผม นักวิชาการเคยบอกว่าประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เรามีสังคมอุดมคติแล้ว มาวันนี้ นักวิชาการบางคนบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางอำนาจนิยม วิกฤตการณ์ต่างๆ ทั่วโลกกำลังท้าทายภูมิปัญญาที่คุ้นเคย เรากำลังต้องการทฤษฎีแบบใหม่ แต่สำหรับผม ไม่ว่าความพลิกผันจะมากเพียงใด แต่ฝันของผมยังง่ายเหมือนเดิม คือ ขอให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี เลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวเอง จึงเปิดใจกว้าง รับความรู้และทฤษฎีใหม่ๆ
5. สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง และ 6. พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรมาถึงก่อน วันนี้เราจึงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่ราวกับว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า เวลา 43 ปี อาจยาวนานสำหรับบางคน แต่สำหรับพวกเรา รู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง เราเสียใจที่วีรชน 6 ตุลา เพื่อนของเราต้องจากไปก่อนเวลาอันควร ขอคารวะในความกล้าหาญ และความเสียสละขอการจากไป ขอเพื่อนโปรดรับรู้ว่า จะยังอยู่ในใจของเรา และที่ผ่านมายังเป็นพลังให้ก้าวเดินมาถึงวันนี้
จากนั้นเป็นการมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย”แก่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว อดีตนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมให้ผู้ร่วมงานวางดอกไม้รำลึกวีรชน 6 ตุลา
กำลังโหลดความคิดเห็น