ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
รัฐธรรมนูญของไทยไม่ว่าจะปฏิวัติรัฐประหาร ฉีกทิ้งมากี่ฉบับก็ตามแต่ สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือมาตรา1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ เผด็จการทหาร เผด็จการรัฐสภา ต่างก็ไม่มีใครแก้ไขหรือแม้แต่คิดเสนอแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรานี้
จนกระทั่งมีอาจารย์ในกลุ่มนิติราษฎร์หรือนิติเร้ดหรือนิติสีส้มล้มเจ้าแบ่งแยกแผ่นดินหรืออะไรก็ช่าง ไปพูดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ อันดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน และเข้าข่ายการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก เป็นการทำหินแตก แยกแผ่นดิน
แต่ดั้งเดิมเมื่อราวร้อยกว่าปีก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชอาณาจักรไทย ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว มิได้แบ่งแยกมิได้ แต่เป็นหัวเมืองเล็กน้อย เมืองประเทศราชและปกครองกันโดยมีเจ้าเมืองหรือเจ้านายของแต่ละเมืองและอยู่รวมกันแบบหลวม ๆ เป็นสยาม หาได้เป็นไทยทั้งหมดไม่ มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษามากกว่านี้ การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองมายังบางกอก เป็นการแสดงความจงรักภักดีและได้รับการคุ้มครองจากสยาม แต่ละเมืองก็มีเจ้านายราชวงศ์ของตนเอง ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล ณ แล้วตามด้วยชื่อเมือง เช่น ณ นคร, ณ เชียงใหม่, ณ สกลนคร เป็นต้น
พระขัตติยมานะในพระพุทธเจ้าหลวงในการที่จะทรงรักษาแผ่นดินของบรรพชนและพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ให้ได้นั้นหนักแน่นในพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง วิกฤติรัตนโกสินทร์ศก 112 เมื่อฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย และขอดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นการแลกเปลี่ยนกับจังหวัดตราดและจังหวัดจันทบุรี พร้อมกับต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามอีกมากมหาศาล ทำให้ประชวร ตรอมพระทัยหนักถึงขนาดไม่อยากจะทรงมีพระชนม์ชีพอีกต่อไป ถึงพระราชนิพนธ์บทกวีลงมาลาตายว่า
เกลือกจะเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤาว่างวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดแลเลยสูญ
แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชกุศโลบายในการรักษาเอกราชอธิปไตยของสยามประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนอกจากจะทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายเป็นรัฐกันชน (Buffer state) ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส การเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปถึงสองครั้ง ดังปรากฎในการเสด็จครั้งที่สองเป็นพระราชนิพนธ์ใกลบ้าน การที่ทรงสนิทสนมกับราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียก็เป็นการถ่วงดุลอำนาจและต้องทรงลำบากพระวรกายและพระทัยตลอดรัชสมัยเพื่อรักษาเอกราชของชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น
ในอีกด้านทรงดำเนินนโยบายในการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง (Centralization) และการสร้างรัฐชาติให้เป็นปึกแผ่น ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ต้องการทรงรักษาพระราชอำนาจไว้กับพระองค์แต่องค์เดียว แต่เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติบ้านเมืองอันอยู่ในท่ามกลางปากเหยี่ยวปากกาแห่งลัทธิล่าอาณานิคม (Colonization) ซึ่งหากประเทศชาติบ้านเมืองขาดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและไม่เป็นรัฐชาติที่เข้มแข็งแล้ว ย่อมตกไปเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมไปได้โดยง่าย หรือง่ายต่อการสูญเสียดินแดนของไทยซึ่งบรรพบุรุษของไทยได้เอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าแลกไว้
การดำเนินกุศโลบายในการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางและการสร้างรัฐชาติอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ของพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยพระราชกุศโลบายอันละมุมละม่อม
ทั้งในเชิงวัฒนธรรมอ่อน (Soft culture) เช่น การโปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองทั่วไทยมาประดิษฐานที่ระเบียงแก้วรอบโบสถ์วัดเบญจมบพิตร ตลอดจนการอัญเชิญพระฝางมาประดิษฐานที่มุขเด็จ พระวิหารสมเด็จ ส.ผ. วัดเบญจมบพิตร ในที่ซึ่งค่อนข้างมิอาจจะเห็นได้ง่าย มีนัยทางประวัติศาสตร์มาก ว่าเป็นการรวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระฝางจากเมืองฝางซึ่งเคยมีเหตุการณ์กบฎเจ้าพระฝางในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระพุทธเจ้าหลวงทรงผูกสัมพันธ์กับประเทศราชและหัวเมืองต่าง ๆ ทรงมีพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อผูกมัดใจ และค่อย ๆ ควบรวมเป็นรัฐชาติแห่งราชอาณาจักรสยาม เช่น กรณีของล้านนา ทรงหมั้นเจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าจอมมารดา และภายหลังสถาปนาเป็นพระภรรยาเจ้า พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และภายหลังล้านนากับสยามก็ผนึกรวมเป็นรัฐชาติเดียวกันในท้ายที่สุดอย่างละมุนละม่อม
ทรงดำเนินการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเปลี่ยนจากจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ให้มาเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตามพระราโชบายในพระพุทธเจ้าหลวง เพื่อสร้างความเป็นรัฐชาติ (Nation State) อันเป็นปึกแผ่น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลสำหรับการปกครองส่วนภูมิภาค และให้พระราชวงศ์ที่เป็นพระราชอนุชาหรือพระราชโอรสไปทรงเป็นสมุหเทศาภิบาลและอุปราชมณฑล อันได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มณฑลลาวกาวและมณฑลนครราชสีมา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร มณฑลอุบล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม มณฑลอุดร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา มณฑลพายัพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ มณฑลปราจีน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ มณฑลนครศรีธรรมราช เป็นต้น
ตลอดรัชสมัยพระปิยมหาราชได้ทรงใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ การที่ทรงพยายามสถาปนารัฐชาติ ให้เป็นราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้นั้น เป็นความพยายามที่จะรักษาประเทศไทยอันสืบทอดมาแต่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า และพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ให้คงความเป็นไท มีอิสระเสรีภาพ ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใดๆ หาใช่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนพระองค์ก็หาไม่
ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 แห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ จึงมีที่มาจากองค์พระปิยมหาราชเจ้าที่คนไทยทั้งปวงรักและเคารพศรัทธาเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเป็นอย่างยิ่ง เป็นพระราชมรดกแห่งแผ่นดินที่ได้ทรงทิ้งไว้ให้อนุชนชาวไทยรุ่นหลังได้ร่วมกันรักษาไว้ให้ยั่งยืนสืบชั่วกัลปาวสาน
กองทัพไทยและทหาร ตลอดจนผู้ที่เคยผ่านการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าย่อมต้องมีหน้าที่ในการรักษาความเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวแห่งราชอาณาจักรไทยอันมิอาจจะแบ่งแยกใดๆ ได้โดยเด็ดขาด ให้สมกับที่เคยกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเสียงอันดังชัดเจนว่า
"ข้าพระพุทธเจ้า จักรักษามรดกของพระองค์ท่าน ไว้ด้วยชีวิต"