xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานลุ้นผล ถกรื้อแท่นก๊าซฯ “เชฟรอน”เบรกยื่นอนุญาโตฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"กุลิศ" ลุ้นผลการเจรจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหากรณีการวางเงินหลักประกันรื้อถอนแท่นก๊าซเอราวัณ - บงกช เพื่อนำไปสู่ข้อยุติที่ดีไม่นำไปสู่กระบวนการยื่นอนุญาโตตุลาการ "เชฟรอน"ยันระงับยื่นฯชั่วคราวทั้งหมดต้องรอเจรจา

วานนี้ (3 ต.ค.) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการรื้อถอนแท่นกก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเจรจากับผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณและบงกชเพื่อเร่งสรุปแนวทางการดำเนินงานให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณเพื่อไม่ให้นำไปสู่กระบวนการยื่นอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามกฏหมายที่กำหนดเพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้ชนะประมูลรายใหม่ที่ทั้ง 2 แหล่งนี้จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566

“ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางเชฟรอนได้แจ้งระงับการยื่นอนุญาโตตุลาการเอาไว้เพื่อที่จะนำไปสู่การเจรากันซึ่งขณะนี้ทางกรมฯได้ตั้งทีมเจรจาแล้วเบื้องต้นทาง บริษัทเชฟรอนฯ โททาล กลุ่มโมเอโกะ ได้เสนอข้อมูลใหม่เกี่ยวกับแท่นขุดเจาะในด้านต่างๆเข้ามาซึ่งกรมฯจะต้องสรุปแนวทางดำเนินงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามที่สุดหากเจรจาไม่ได้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแต่เราคาดหวังว่าจะไม่เกิดขึ้น" นายกุลิศกล่าว

ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บ.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เปิดเผยว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการหารือเป็นหลักจึงยังไม่สามารถจะตอบได้ว่าที่สุดจะนำไปสู่กระบวนการยื่นอนุญาโตตุลาการหรือไม่แต่ขณะนี้ถือเป็นการระงับไว้ชั่วคราว ส่วนรายละเอียดต่างๆก็ต้องรอการเจรจา อย่างไรก็ตามจะไม่มีผลกระทบต่อการเข้าไปดำเนินการของผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตรายใหม่แต่อย่างใด

ขณะที่ นายราเชด อัล บลูชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมกับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) และชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ เชื่อมั่นว่า การดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากเจ้าของสัมปทานรายเดิมนั้นจะเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอใหม่ซึ่งบริษัทฯมีความสนใจที่จะเข้าประมูล

“การเปลี่ยนผ่านของผู้สำรวจและผลิตฯรายใหม่กรณีการเจรจารื้อถอนแท่นฯขณะนี้ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกับทั่วโลกที่มีปัญหาเช่นกัน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนผ่านไปได้ราบรื่น" นายราเชดกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ส่งหนังสือ ถึงผู้ถือหุ้น แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นวางหลักประกันการรื้อถอนภายใน 120 วัน หลังจากได้รับหนังสือ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ต.ค.62 โดยแหล่งเอราวัณมีค่าประมาณการใช้จ่ายรื้อถอน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 200 แท่น) และแหล่งบงกช 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 100 แท่น)รวมเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาท

โดยการประมาณการนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมประเมินมูลค่าที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ได้สัมปทานมีความเห็นเบื้องต้นว่าในแท่นขุดเจาะใดที่ไม่ต้องรื้อถอน ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่ารื้อถอน ในส่วนนี้ โดยการดำเนินการนี้เป็นไปตามข้อ 22 ของกฎกระทรวงพลังงาน เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการ ค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องให้เกิดความชัดเจนภายใน 2 ปีก่อนจะหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียม
กำลังโหลดความคิดเห็น