xs
xsm
sm
md
lg

อุทกภัย : ทุกข์ซ้ำเติมคนจน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง




ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด จะเห็นว่า ข่าวน้ำท่วมภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้ชิงพื้นที่ข่าวไปเกือบหมด ทั้งนี้เนื่องจากว่าในปีนี้น้ำท่วมรุนแรงมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น ประชาชนซึ่งเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว จึงเดือดร้อนยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าท่านลงไปในพื้นที่ซึ่งถูกน้ำท่วม และถามชาวบ้านว่าต้องการอะไร คงจะได้คำตอบตรงกันว่าต้องการให้น้ำที่ท่วมอยู่ในขณะนี้แห้งเร็วที่สุด เป็นประการแรก และตามมาด้วยคำตอบที่ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าคือ ของกินของใช้ และคำตอบสุดท้ายคงหนีไม่พ้นขอให้รัฐช่วยเหลือในการทำมาหากิน เช่น ปัจจัยในการประกอบอาชีพ

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและตามมาด้วยการให้ความช่วยเหลือในระยะยาว ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ และภาครัฐควรจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และทั่วถึงทุกพื้นที่ เนื่องจากมีทั้งงบประมาณและกำลังคนรวมไปถึงอุปกรณ์

แต่เท่าที่ปรากฏตามข่าว ดูเหมือนว่าการให้ความช่วยเหลือจากภาคเอกชนจะรวดเร็ว และทั่วถึงมากกว่าจากภาครัฐ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งนำโดยพระเอกบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นตัวอย่างเพียง 2-3 วันที่เปิดรับบริจาคได้เงินเกือบ 400 ล้านบาท และได้นำเงินจำนวนนี้มอบให้แก่ผู้เดือดร้อนครอบครัวละ 5,000 บาทอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง แม้จะมีปัญหาบ้างก็เล็กน้อย ในขณะที่รัฐบาลเพิ่งจะเปิดรับบริจาค และยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนจึงจะนำเงินจำนวนนี้ไปมอบให้ผู้เดือดร้อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงทำให้ล่าช้า เมื่อเทียบกับภาคเอกชน

ดังนั้น จากนี้ไปถ้าเกิดปัญหาความเดือดร้อนเกิดขึ้นแก่ประชาชนในทำนองนี้อีก รัฐบาลน่าจะได้กำหนดแนวทางให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเสียใหม่ โดยการร่วมมือกับภาคเอกชนโดยแบ่งการให้ความช่วยเหลือออกเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้

1. การบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้เอกชนออกหน้าในการรับบริจาค และหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนในค่าเครื่องมือ และอุปกรณ์ก็จะช่วยให้การช่วยเหลือกระทำได้กว้างขวางขึ้น

2. ในระยะยาว รัฐจะต้องดำเนินการเองโดยเริ่มจากการจัดหาเงินทุน และอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้กับผู้เดือดร้อน พร้อมกับให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนมีรายได้ และเลี้ยงครอบครัวได้ด้วยตนเอง โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปอุ้มจนทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นภาระทางด้านการเงินของรัฐ เฉกเช่นที่เกิดขึ้นกับมาตรการช่วยคนจนโดยการแจกเงิน และถ้าให้ประชาชนนั่งรอ และงอมืองอเท้า ไม่พึ่งตนเอง และต้องมาบ่นว่าประชาชนขอแต่เงินในภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น