ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วันก่อนนายกรัฐมนตรีของไทยบ่นออกสื่อว่าคนไทยไม่ยอมใช้ Google เพื่อเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต โดยแสดงปาฐกถาที่ ณ Asia Society นครนิวยอร์ก ในวันที่ 25 กันยายน ความว่า
“อินเทอร์เน็ตเป็นประโยชน์ ถ้าเอามาใช้เรื่องออนไลน์ ขายของ ให้ความรู้ ตนโอเคหมด วันนี้อยากรู้อะไร ก็เปิดดูจากเว็บไซต์ Google อยากรู้เรื่องอะไร ก็กดชื่อท่านเข้าไป และมันก็ออกมา ใช่ม่ะ รู้จัก แดเนียล รอฟเฟล กดแดเนียล รอฟเฟล มันก็ออกมา ประวัติมีหมดแหละ ทุกเรื่อง อยากจะรู้เรื่องปลูกพืช เปิดหมด พวกเรานักบริหารจะเปิด Google เป็นส่วนใหญ่ ประชาชนจะไม่ค่อยเปิด นั่นแหละทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น เพราะเขาไม่เรียนรู้ไง เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง”
ผมว่าที่นายกรัฐมนตรีพูดก็ไม่ได้ผิดไปจากความจริงมากนัก แต่มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประการที่หนึ่ง ผมเชื่อว่าคนไทยใช้ Google กันมากในการหาข้อมูลครับ สถิติน่าสนใจครับในบทความนี้ www.matichon.co.th/politics/news_1688365 แต่ที่น่าสนใจกว่าคือเราไม่ได้มี search engine เป็นภาษาไทยของเราเอง Google มาทำ search engine ภาษาไทยได้ดีกว่าคนไทยครับ ลองหันไปดูที่จีนบ้าง ภาษาจีนนั้นมีลักษณะเฉพาะมาก แต่ Baidu ก็เป็น search engine ที่พัฒนาโดยคนจีน สำหรับภาษาจีน โดยบริษัทจีน และใช้โดยคนจีน ส่วนไทยเราได้แค่ยืมจมูก Google หายใจ และ Google ก็มีข้อมูลพฤติกรรมการค้นหาและการใช้อินเตอร์เน็ทของคนไทยมากกว่ากระทรวง DE และมากกว่า กสทช. เสียอีก
ประการที่สอง You are what you search คุณคือสิ่งที่ตัวคุณค้นหา Google เองเขาก็เก็บสถิติว่าคนไทยค้นหาอะไรด้วย Keyword อะไรบ้าง โปรดดูได้จาก https://thestandard.co/google-thailand-top10-searched-keywords-2018/ น่าผิดหวังมากที่คนไทยค้นหาคำที่เป็นแค่ชื่อดารา ชื่อหนัง ชื่อละคร กีฬา หวย เกมส์โชว์ ดังคำค้นหาประจำปี 2018 จำนวน 10 อันดับแรกดังนี้ 1. บุพเพสันนิวาส 2. บอลโลก 2018 3. เมีย 2018 4. เลือดข้นคนจาง 5. สัมปทานหัวใจ 6. เกมเสน่หา 7. หวย 30 ล้าน 8. โอ วรุฒ 9. ลิขิตรัก และ 10. เด็กใหม่ อันแสดงให้เห็นว่าคนไทยสอดรู้สอดเห็นสนใจเรื่องของชาวบ้าน สนใจเฉพาะเรื่องบันเทิงเป็นหลัก ตามกระแส และไม่ได้ใช้ google ในการหาข้อมูลเลย แปลว่าไม่ได้ใช้ Google search เพี่อพัฒนาตนเองหรือพัฒนาความรู้ค้นคว้าหาความรู้เลย เน้นบันเทิงเริงใจเป็นหลัก หาใช่สังคมอุดมปัญญาไม่ เป็นสังคมไทยไฝ่บันเทิงเริงรมณ์ มากกว่า
ประการที่สาม คนไทยใช้ Google Search ไม่ได้เต็มที่ การ search นั้นมี advance search ที่สามารถระบุคำและใส่เงื่อนไขและลูกเล่นในการ search ได้มากมาย ทั้ง Boolean search แบบ and/or เป็นอาทิ และ google เองก็มี search engine แยกย่อยไปตามเนื้อหาอีกมาก เช่น
จะค้นหาบทความทางวิชาการก็มี Google scholar
จะค้นหาว่าคำค้นหาหรือ Keyword คำไหนถูกค้นหาใน Google มากที่สุดก็มีการเก็บสถิติเอาไว้และค้นหาย้อนหลังได้ด้วย เราใช้ Google Trend ที่ว่านี้ค้นหาว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดที่ได้รับความสนใจก็ย่อมได้
จะค้นหาว่ารูปนี้มาจากแหล่งไหนหรือวีดีโอก็สามารถค้นหาได้จาก Google Image
จะค้นหาว่าเสียงนี้มาจากแหล่งไหน ก็สามารถใช้ Google Voice Search ได้
นอกจากนี้ยังไม่รู้จักว่าควรใช้ keyword ใดในการ search ผมลองยกตัวอย่างให้ฟังว่ามีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพต้องการทราบความลึกของอ่าวไทยในแต่ละพื้นที่ ผมก็วานนักศึกษาสามคนช่วยกันหา สองคนจบปริญญาตรีทางภูมิศาสตร์ อีกหนึ่งคนจบปริญญาตรีทางภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งสามคนหาเท่าไหร่ก็หาไม่ได้ โทรไป ปตท. สผ. เขาก็ไม่ให้ โทรไป GISTDA เขาบอก GISTDA มีแต่ภาพถ่ายดาวเทียมบนพื้นดิน ไม่มีภาพถ่ายจากโซน่าร์ในทะเล โทรไปกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต่างก็บอกว่าเป็นความลับของทางราชการ
ผมถามนักศึกษาว่าค้นคำว่าอะไรใน Google น่าจะเจอ นักศึกษาสามคนที่มีความรู้ทางภูมิศาสตร์มากกว่าผมก็ไม่ได้ให้คำตอบที่พอใจ ผมเลยลองค้นด้วยคำว่า depth contour plot gulf of Siam ก็ได้เอกสารเป็น pdf มามีรายละเอียดแทบทุกอย่างที่มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียมาสำรวจอ่าวไทยไว้เสียจนพรุนเมื่อหลายสิบปีก่อนแน่นอนว่าต้องมีแผนที่ความลึกอ่าวไทยด้วย ดังนั้นการมีความรู้และรู้จัก keyword ที่ควรใช้ค้นหาจะช่วยให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการอย่างแท้จริง หาใช่แค่เปิดและกด google เป็นก็หาไม่เจอ ใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง
ประการที่สี่ ค้นหา Google มาได้ก็ต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ต้องรู้ทันสื่อ มี media literacy แยกให้ได้ว่าเอกสารหรือเว็บต่างๆ เหล่านั้นจัดอยู่ในประเภท Fake news หรือไม่ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ต้องมีความคิดวิจารณญาณ หรือ critical thinking ไม่เชื่อไปทุกอย่าง สิ่งที่อยู่บน Google ปราศจากการตรวจสอบกลั่นกรอง มีทั้งของที่จริงและไม่จริง ต้องแยกแยะให้ได้
ประการที่ห้า เนื้อหาที่ค้นหาเจอบน Google มีทั้งสอนในสิ่งที่ดีและควรเรียนรู้ และสอนเรื่องเลวๆ เช่น วิธีทำระเบิด วิธีการก่อการร้าย วิธีการฆ่าคน วิธีการทำอาวุธ หรือเรื่อง dark มากๆ อื่นๆ อีกมาก ดังนั้นผู้ใช้ต้องเลือกค้นหาสิ่งที่ดีงามมากกว่าสิ่งที่เลวทราม ซึ่งหากเป็นเยาวชนของชาติยังไม่ยับยั้งชั่งใจให้ดีก็จะเป็นปัญหาได้
ประการที่หก สามารถค้นหาแหล่งอบายมุขหรือสิ่งมอมเมาต่างๆ บน google เช่น บ่อนพนันออนไลน์ ของผิดกฏหมาย ของหนีภาษี เนื้อหาที่โจ่งแจ้งทางเพศและอื่นๆ อีกมากที่อาจจะไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนของชาติ และ block ได้ไม่หมด และยังไงก็ไม่มีทางหมด
ประการที่เจ็ด เว็บข้อมูลล้มเจ้า ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ มีให้เกลื่อนบนโลกออนไลน์ และ google ครั้งเดียวก็เข้าถึงได้แล้ว ยิ่งอินเตอร์เน็ทประชารัฐเข้าถึงตามหมู่บ้านห่างไกลมากเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้อุดมการณ์ล้มเจ้าทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าถึงรากหญ้าและประชาชนระดับล่างได้ง่าย โครงการอินเตอร์เน็ทประชารัฐเข้าถึงหมู่บ้านจึงเป็นดาบสองคมที่อันตรายอย่างยิ่ง
ประการที่แปด โลกออนไลน์ โดยเฉพาะ Google ทำให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาสามารถตรวจสอบความถูกต้องหรือค้นหาเนื้อหาวิชาการที่อาจารย์พร่ำสอนกันมาผิดๆ ได้โดยง่าย การมี Google มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับการเรียนการสอน ข้อแรกทำให้นักศึกษาร่นระยะเวลาในการสืบค้นข้อมูล แต่ต้องให้นักศึกษากลั่นกรองข้อมูลเองได้ด้วย ข้อสอง ทำให้นักศึกษาที่ขยันและใฝ่รู้สามารถขวนขวายเสาะหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองได้ แต่ข้อเสียก็อาจจะมี เช่น ใช้ Google เพื่อหาเฉลยของการบ้านและข้อสอบหรือใช้เสาะหาข้อสอบรั่ว หรือในเวลาเรียนก็อาจจะไม่สนใจที่จะเรียนในห้องเพราะคิดว่าไปหาอ่านเอาเองใน Google ต่อไปได้ ครูผู้สอนต้องปรับบทบาทมาเป็น learning facilitator เป็น coach และเป็น mentor มากกว่าการเป็นผู้สอนหรือผู้บรรยายแต่อย่างเดียวซึ่งจะน่าเบื่อมากสำหรับนักศึกษาที่ใช้ Google ค้นหาคอร์สออนไลน์หรือแหล่งความรู้ออนไลน์เพื่อเรียนเองจาก Google ได้ง่ายมาก