xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันออกกลางกับสงครามและสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน
เปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องขออนุญาตไปหยิบเอาเรื่อง “สงครามกับสันติภาพ” ในแนวรบตะวันออกกลาง มาพูดจา ว่ากล่าวกันอีกสักรอบ แม้ออกจะเป็นเรื่องซ้ำๆ ซากๆ แต่ภายใต้การพลิกไป-พลิกมาระหว่างสิ่งซึ่งถือเป็นด้านตรงข้ามแบบชนิด “ขาวกับดำ” เช่นนี้ ก็พอจะมีกระบวนการคลี่คลาย พัฒนา และยกระดับที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยากจะให้โลกใบนี้ มีโอกาสดำเนินไปตามครรลองคลองธรรม ให้มากขึ้นไปกว่าเท่าที่เคยเป็นมาในอดีต หรือบรรดา “ผู้ใฝ่ธรรม” ทั้งหลาย...

คือถ้าว่ากันไปถึงแนวโน้มความเป็นไปได้...ของการพลิกไปสู่ “สงคราม” โดยเฉพาะสงครามระหว่างอเมริกากับศัตรูคู่กัดอย่างอิหร่าน ที่ง้างกันไปง้างกันมา ทั้ง “ล็อกเป้าหมาย” ทั้ง “บรรจุกระสุน” ไปแล้ว ไม่รู้จะกี่ครั้ง กี่หน แต่เมื่อมาถึง ณ บัดนาว ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า โอกาสที่จะเปิดผ้าม่านกั้ง เกิด “การเปิดกล่องแพนโดรา” หรือ “การเปิดประตูไปสู่ไฟนรกสุดขอบฟ้า” นั้น น่าจะลดระดับลงมาเหลือแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แม้ว่าบรรดาผู้ “กระหายสงคราม” หรือพวก “เหยี่ยว” ในอเมริกา จะยังคงเกาะคอน เกาะแข้ง เกาะขา “อีแร้ง” อย่าง “ทรัมป์บ้า” กันในลักษณะไหนก็ตาม...

สังเกตได้จากการที่ผู้นำอเมริกา...ได้ใช้โอกาสในช่วงวันปีใหม่ของชาวยิว หรือวัน “Rosh Hashanah” เมื่อช่วงวันศุกร์ (27 ก.ย.) ที่ผ่านมา ไปพูดจาปราศรัยกับบรรดาชุมชนชาวยิวในอเมริกา อันถือเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจอิทธิพลต่อรัฐบาลอเมริกันในแทบทุกยุค ทุกสมัย ด้วยการป่าวประกาศเอาไว้ชัดเจนประมาณว่า แม้รัฐบาลของตัวเองจะเพียรพยายามสร้างคุณูปการให้กับประเทศอิสราเอล อย่างชนิดแทบไม่มีรัฐบาลใดในประวัติศาสตร์อเมริกันเคยกระทำมาก่อน แต่สำหรับกรณีการจัดการกับศัตรูคู่กัดของสหรัฐฯ และอิสราเอล อย่างอิหร่านนั้น... “ผมไม่ต้องการสงคราม ไม่ต้องการความขัดแย้งทางทหาร ผมต้องการเจรจา และเราได้เสนอที่จะเจรจาด้วยความอดกลั้นอย่างเต็มที่ และด้วยความหวังที่ว่าอิหร่านเองก็คงจะเลือกหนทางแห่งสันติภาพ...” อันนี้อาจเรียกได้ว่า ถือเป็นการ “ประกาศจุดยืน” อย่างชัดเจนพอสมควร ของ “อีแร้ง” รายนี้...

หรือแม้แต่การเติมกำลังทหารเข้าไปในซาอุฯ หลังกรณีคลังน้ำมัน 2 แห่งถูกถล่มไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยสรุปรวมความแล้ว...ก็มีแค่เจ้าหน้าที่ทางทหารอเมริกันประมาณ 200 คน กับเรดาร์อีก 4 ตัว และระบบป้องกันภัยทางอากาศบนพิกัดตำแหน่งสูง หรือ “THAAD” พูดง่ายๆ ก็คือ...เป็นไปเพื่อการป้องกัน ป้องปราม และการปลอบประโลมใจพันธมิตรอย่างซาอุฯ ไปในตัว ไม่ได้แสดงออกถึงความกระเหี้ยนกระหือรือ ที่คิดจะโจมตี เปิดศึก เปิดสงครามกับอิหร่านอย่างเป็นเรื่อง เป็นราว แบบที่เคยลือๆ กันว่าอาจต้องใช้กำลังทหารระดับนับเป็นแสนๆ ราย ถึงพอจะเล่นงานประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารอันดับ 14 ของโลก อย่างอิหร่าน ได้อย่างเป็นน้ำ เป็นเนื้อ...

แต่ก็นั่นแหละ...การหันไปเลือกหนทาง “สันติภาพ” หรือการคิดตั้งโต๊ะเจรจากับอิหร่านโดยรัฐบาลอเมริกันนั้น ก็ใช่ว่าจะส่งผลให้บรรยากาศแนวรบในตะวันออกกลาง ออกไปทางสดใสซาบซ่าน หรือแฮปปี้เอ็นดิ้ง ได้ง่ายๆ ตรงกันข้าม...กลับน่าจะก่อให้เกิดความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ หรือเป็นหนทางสันติภาพที่เต็มไปด้วยความขรุๆ ขระๆ ต้องนั่งบิดไป-บิดมา ต้องหอบกันตัวโยน ชนิดอาจเป็น “ไส้เลื่อน” ไปโดยตลอดนั่นแหละ ไม่ว่าอิหร่านเป็นฝ่ายเรียกร้องอยากจะเจรจา หรืออเมริกาเป็นฝ่ายเรียกร้องอยากจะเจรจา อย่างที่ต่างฝ่ายต่างพยายามออกข่าวสร้างเครดิตให้กับตัวเองกันไปในลักษณะไหนก็แล้วแต่...

เพราะสิ่งซึ่งอาจเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึง “สัญญาณ” แห่งความซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เพื่อนทรยศ ในลักษณะที่ว่า ก็ได้เริ่มปรากฏออกมาให้เห็นอยู่บ้างแล้ว นั่นก็คือ...กรณีที่ 3 ประเทศอียู อันได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ต่างก็มีพันธะผูกพันอยู่กับ “ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน” หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “JCPOA” (Joint Comprehensive Plan of Action) ต่างได้แสดงลักษณะอาการออกไปทาง “อีย้วย” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ด้วยการออก “แถลงการณ์ร่วม” ประณาม ตำหนิ อิหร่าน ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีคลังน้ำมันซาอุฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ปราศจากหลักฐานและข้อพิสูจน์อย่างเป็นทางการใดๆ เอาเลยแม้แต่นิด หรือทั้งๆ ที่ผู้นำ และรัฐมนตรีต่างประเทศอียูบางประเทศ เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การกล่าวหาอิหร่านในกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่หลักฐานและข้อพิสูจน์ไปแล้วก็ตาม...

การหันมา “พลิกลิ้น” ของ 3 ประเทศอียูคราวนี้...ไม่ว่าเพื่อเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับอิหร่าน ในกรณีการยกเว้นข้อตกลงบางส่วนของ “JCPOA” ด้วยการเพิ่มสมรรถนะนิวเคลียร์ขึ้นไปในแต่ละระดับ จนกว่าประเทศอียูจะหันมารักษาข้อตกลงที่มีต่ออิหร่านได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ หรือจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที แต่ก็ส่งผลให้ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อย่าง “อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี” (Ali Khamenei) อดไม่ได้ที่จะต้องสรุปว่า... “ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ หรืออียู 3 ประเทศ ล้วนเป็นผู้ที่ไม่มีค่าสำหรับความไว้เนื้อเชื่อใจใดๆ แม้แต่น้อย” หรือแม้จะต้องพบปะเจรจากับกลุ่มคนเหล่านี้ในอนาคตข้างหน้าอย่างมิอาจปฏิเสธได้ แต่ “อย่าไปตั้งความหวัง” หรือ “อย่าไปเชื่อใจ ไว้วางใจ” โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะ “อียูที่ชอบพูดมาโดยตลอด สัญญาแล้ว สัญญาเล่า มาโดยตลอด แต่ไม่เคยทำอะไรให้ได้ผลตามที่พูด ที่เคยสัญญาไว้เลยแม้แต่น้อย...”

ดังนั้น...หนทางสันติภาพ หรือหนทางการเจรจา ไม่ว่าระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ หรืออิหร่านกับอียู ที่จะเข้ามาแทนที่สงครามหรือการเผชิญหน้า จึงไม่ได้ราบเรียบ แบบชนิด “สมูท แอส ซิลค์” แต่อย่างใด ตรงกันข้าม...อาจขรุขระ ขูดขีด ซะยิ่งกว่ากระดาษทรายเบอร์ 5 หรือกระดาษทรายขัดเหล็กเอาเลยถึงขั้นนั้น โดยเฉพาะถ้าหากบรรดาประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันเอง ยังไม่สามารถหันมาสร้างเอกภาพ ความสามัคคี ความไว้เนื้อ-เชื่อใจ ระหว่างกันและกัน จนต้องเปิดโอกาสให้ประเทศนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป เข้ามาเป็นตัวกลางและเป็นตัว “แทรกแซง” เสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาคตัวเองอยู่ร่ำไป...

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม...ถ้าหากแนวโน้มความเป็นไปของโลก มันเป็นไปอย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ผู้ได้ชื่อว่ามีวิสัยทัศน์ที่ลุ่มลึกและเฉียบขาดในการมองโลก อย่าง “นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ” ได้สรุปไว้ ณ ที่ประชุมสหประชาชาติครั้งล่าสุด ประมาณว่า “ศตวรรษแห่งการครอบงำของโลกตะวันตก...กำลังเสื่อมสลายไปในอีกไม่นาน-ไม่ช้า” มันมีโอกาสเป็นจริง-เป็นจังขึ้นมาตามนั้น หรือแนวโน้มที่บรรดาประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและอ่าวเปอร์เซีย ที่ “เริ่มหวนกลับมาคิดถึงความร่วมมือซึ่งกันและกันในการลดระดับความตึงเครียดภายในภูมิภาคของตัวเอง” กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นๆ ไปตามลำดับ จนถึงขั้นนำไปสู่การเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพในซีเรียได้บ้างแล้ว และอาจนำไปสู่ความหวังที่จะเกิดสันติภาพในประเทศเยเมนอีกไม่นาน-ไม่ช้า มันมีโอกาสเป็นไปได้ในระยะยาว ไม่ว่าหนทางแห่งสันติภาพจะขรุๆ ขระๆ ถึงเพียงไหน และไม่ว่าต้องอดทน อดกลั้นอีกนานเพียงใด แต่ถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า คุ้มราคา พอที่จะอดทน รอคอยกันต่อไปนั่นแล...


กำลังโหลดความคิดเห็น