แม้ว่าความเป็นสีเสื้อยังเจือจางลงบ้าง แต่ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายสังคมไทยก็ยังคงอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเองก็สะท้อนผ่านคำพูดหลายครั้งถึงฝักฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยน้ำเสียงที่เป็นปรปักษ์กัน
จริงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยความเห็นต่างทางการเมืองจะเป็นเรื่องปกติฝ่ายหนึ่งเป็นอนุรักษนิยม ฝ่ายหนึ่งเป็นสังคมนิยม ฝ่ายหนึ่งเป็นเสรีนิยม ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งของสังคมไทยมันจะเกินเลยความแตกต่างทางการเมืองในแง่ของอุดมการณ์ แต่เป็นความขัดแย้งที่ชิงชังกล่าวหาสาดโคลนกันว่าต่างฝ่ายต่างเป็นพวกหลงผิด
คำถามว่าประเทศไทยมันจะเดินไปอย่างนั้นได้หรือ มันจะนำพาประเทศไปต่อสู้กับการแข่งขันทางเศรษฐกิจทางการค้าของโลกที่รุนแรงได้ไหม มันจะพาประชาชนออกจากความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงได้ไหม มันเจือจานความเท่าเทียมในสังคมได้ไหม จะแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจายได้ไหม
แน่นอนแม้ว่า เมื่อรัฐบาลออกนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น บัตรคนจน ก็ไม่ได้แบ่งสีแบ่งฝ่าย หรือแจกเงินชิมช้อปใช้เที่ยวก็ไม่ได้แบ่งสีแบ่งฝ่าย แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ตอบสนองในการลบความขัดแย้งหรือสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในสังคม ซ้ำยังมีคำถามว่า
การกระทำแบบนั้นมันเป็นทางเลือกที่ถูกต้องจริงๆ หรือ แล้วที่เราเคยบอกว่าวิถีประชานิยมแบบทักษิณเป็นวิถีที่ผิด วันนี้มันกลายเป็นวิถีที่ถูกไปได้อย่างไร
การเอาชนะใจประชาชนนั้นจะหาทางออกด้วยการแจกเงินหรือหาทางรอดที่ยั่งยืน
มันเป็นปัญหาสำคัญที่จะตั้งคำถามไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สร้างเส้นทางในการครองอำนาจเอาไว้ให้ยาวนาน ถ้าไม่ท้อเสียเองหรือไม่มีใครไล่เสียก่อน มันมีโอกาสมากทีเดียวที่จะครองอำนาจนานถึง 13 ปี แต่ผมไม่คิดหรอกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเอาตัวมาเป็นเป้านานขนาดนั้น ไม่นานก็ต้องบ่นว่า “พอแล้ว” แบบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษผู้ล่วงลับนั่นเอง
แต่คำถามอยู่ที่ว่า สถานะหลังจากพ้นตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์จะให้คนเขาจดจำในฐานะอะไร
พล.อ.เปรมเรียนรู้การเอาชนะสงครามประชาชนที่เข้าป่าจับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐว่า เกิดจากความเหลื่อมล้ำ การถูกกดขี่จากอำนาจรัฐ และความยากจน ถ้าจะแย่งชิงมวลชนต้องขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป โดยใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร
แม้ความแตกแยกจะเป็นผลดีของผู้ปกครอง เพราะสอดคล้องกับแนวคิดของผู้ปกครองเรื่องการแบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อให้มวลชนกลุ่มหนึ่งเป็นแรงหนุนที่จะต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม แต่มันไม่ส่งผลดีต่อประเทศแน่ ถ้าประชาชนในชาติขาดความสามัคคีกัน
เพราะผมไม่คิดว่า มันจะใช้ได้กับความแตกแยกที่คนทั้งประเทศแบ่งออกเป็น 2 ขั้วที่มีกำลังก้ำกึ่งกันมันจะยิ่งพาไปสู่ความขัดแย้งที่สูงขึ้น นอกจากนั้นมันไม่ได้ขัดแย้งแค่เรื่องจุดยืนทางการเมือง แต่ผลการเลือกตั้งมันยังสะท้อนให้เห็นว่า เป็นความขัดแย้งของช่วงวัยด้วย คนรุ่นใหม่เขาต้องการทางออกแบบเขาในการกำหนดอนาคต เราจะคัดง้างกับเขาหรือหาทางออกที่จะรักษาชาติแล้วเดินไปได้ด้วยกันในวันที่เรากำลังแก่ชรา
สิบกว่าปีของความแตกแยกทางการเมืองนั้น มาจากการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่ว่าเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยต่างฝ่ายต่างมองว่าไม่ได้รับความยุติธรรม มีการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ มีการฉ้อฉลจากการใช้อำนาจ จนมาเป็นการต่อสู้บนท้องถนน แน่นอนไม่ว่าการชุมนุมมวลชนจำนวนมากที่ไหนในโลกก็มักจะเกิดสูญเสียทั้งทางด้านวัตถุและชีวิต การบุกยึดอาคารสถานที่ เหมือนภาพการชุมนุมที่ฮ่องกงตอนนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในบ้านเรา 14 ตุลา 2516 ที่ประชาชนต่อสู้กับอำนาจเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร เรียกร้องประชาธิปไตยหรือพฤษภาคม 2535 ที่เรียกร้องให้ทหารคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนก็เผาอาคารสถานที่ การชุมนุมสองสีเสื้อในบ้านเราก็ทั้งต่างกันและไม่ต่างกัน
การใช้คดีความมาแก้ไขปัญหานั้นเป็นคำถามว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่ แน่นอนว่า บ้านเมืองจะต้องอยู่ด้วยกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรทัดฐานและความสงบให้เกิดขึ้นในสังคม ตอนนี้ต่างฝ่ายที่ออกมาชุมนุมล้วนแต่ติดคุกติดตารางไปแล้วมากบ้างน้อยบ้าง แต่คนเหล่านี้ออกมาสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือความไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองหรือ ผมคิดว่าไม่นะ ผมเชื่อว่าทั้งสองสีต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองมีเป้าหมายเพื่อบ้านเมืองกันทั้งสิ้น
แต่ผมไม่ได้หมายถึงทุกคนนะครับ ความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ เพื่อให้ไทยเป็นสาธารณรัฐนั้นเป็นอีกความคิดหนึ่งที่ผิดและยอมรับไม่ได้แน่ๆ สำหรับคนเกือบทั้งประเทศ และรัฐก็ต้องพิทักษ์และปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเอาไว้ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบจึงเป็นปฏิปักษ์กับรัฐ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราหวนกลับไปมองอดีตความเป็นรัฐบุรุษของพล.อ.เปรมผู้ล่วงลับ แม้ปฏิปักษ์ของรัฐไทยขณะนั้นจะมีจุดหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการจับอาวุธประหัตประหารกัน เผาทำลายสถานที่ราชการ แต่ต่างฝ่ายต่างเป็นคนไทยด้วยกัน และเมื่อพล.อ.เปรมเรียนรู้ว่า ปัญหามาจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การถูกกดขี่จากอำนาจรัฐ นโยบาย 66/2553 จึงเกิดขึ้นมาเป็นเอาชนะทางการเมือง และเปิดโอกาสให้พี่น้องคนไทยที่เข้าป่าจับปืนคืนสู่เมือง
ต้องยอมรับนะครับว่า การเปิดโอกาสด้วยการนิรโทษกรรมทำให้วันนี้คนเหล่านั้นกลายเป็นกำลังหลักเป็นเทคโนแครต เป็นอาจารย์ที่เป็นพื้นฐานการสร้างชาติไทยให้เติบโตขึ้นในช่วงหลายสิบปีมานี้
อันนำมาสู่คำถามว่า วันนี้เราควรจะออกจากความขัดแย้งอย่างไร เราจะใช้คดีความในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ เราจะปล่อยให้ความยุติธรรมสองมาตรฐานให้ดำรงอยู่ พวกใครพวกมัน การทำงานขององค์กรอิสระที่เต็มไปด้วยคำถามตลอดเวลา เราเกื้อหนุนทุนใหญ่เพื่อหวังว่าจะมีน้ำใต้ศอกของกลุ่มทุนหยดลงมาสู่คนระดับล่าง แต่มันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น เราจะปกครองด้วยการแบ่งแยกแล้วปกครองต่อไป
แน่นอนว่าคนกลุ่มหนึ่งเขาอาจไม่เชื่อมั่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเขาไม่ยอมรับวิถีทางที่เข้ามา แต่ผลลัพธ์ที่พล.อ.ประยุทธ์จะลงมือทำต่างหากเล่าที่จะบอกว่า สิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าที่จะจดจารหรือไม่
ผมคิดว่าประเทศไทยเดินไปแบบนี้ไม่ได้แน่ พล.อ.ประยุทธ์มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ถามว่า เขาจะเลือกเส้นทางแบบพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจรเท่านั้นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan