xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้นซีพีเซ็นไฮสปีด15ต.ค. ยื้อยึด2พันล้าน-ขึ้นแบล็กลิสต์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"อนุทิน-ศักดิ์สยาม"ขีดเส้นตาย15 ต.ค.62 เซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังเรียกคณะกรรมการคัดเลือกชี้แจง ยันเจรจาและดำเนินการตามเงื่อนไข RFP ครบถ้วนแล้ว ลั่นการส่งมอบพื้นที่ ไม่ใช่ข้ออ้าง ขู่ยึดหลักประกันซอง 2 พันล้านและแบล็คลิสต์ พร้อมเรียกกลุ่ม BSR เจรจา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้ให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา" ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ว่า วานนี้ (23 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เชิญนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาร่วมประชุม และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน ได้เข้าชี้แจงอธิบายรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาการประมูล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) อย่างครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมจึงมีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จัดประชุมในวันที่ 27 ก.ย.2562 เวลา 16.00 น. และทำหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอ คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.2562 หากกลุ่ม CPH มาลงนามตามกำหนด จะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเงื่อนไข RFP โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ส่วนกรณีที่การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมีปัญหา สามารถใช้เป็นเหตุผลในการขยายเวลาก่อสร้างเฉพาะพื้นที่ๆ มีปัญหา ซึ่งเป็นไปตาม RFP และเหมือนกับการก่อสร้างโครงการอื่นๆ

ทั้งนี้ หากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนามสัญญาตามกำหนด จะถูกริบหลักประกันซอง 2,000 ล้านบาท และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งเป็นไปตาม RFP และเป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 คือ กลุ่ม กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR) ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ , บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น , บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มาเจรจาต่อไป โดยกรณีนี้ มีเงื่อนเวลาในการยืนราคาประมูลของผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 7 พ.ย.2562 ดังนั้น จะต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะครบกำหนดวันยืนราคา แม้ว่า ใน RFP จะให้ผู้เสนอราคาขยายเวลาได้ เพราะหากเอกชนไม่ขยาย คณะกรรมการฯ จะต้องรับผิดชอบ เป็นการตัดสินใจภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศ

"รองนายกฯ อนุทิน เห็นว่า โครงการนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน จึงหวังว่าวันที่ 15 ต.ค.2562 จะมีการลงนามสัญญาโครงการนี้ เพราะเรามีเงื่อนไขเวลาในการยืนราคาถึงวันที่ 7 พ.ย. หากไม่ดำเนินการ รัฐจะต้องรับผิดชอบ ส่วนอะไรที่อยู่ในระเบียบ ข้อกฎหมาย และ RFP ที่รัฐต้องดำเนินการ รัฐจะดำเนินการให้ ไม่ต้องกังวลว่ารัฐจะเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งเอกชน หรือมีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งเงื่อนไข RFPได้ให้เอกชนได้ศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจยื่นประมูลแล้ว”นายศักดิ์สยามกล่าว

สำหรับวงเงินที่กลุ่ม CPH ต้องการอุดหนุนจากรัฐ 117,227 ล้านบาท ดังนั้น กรณีที่เรียกรายที่ 2 คือ กลุ่ม BSR มาเจรจา ซึ่งเสนอวงเงินอุดหนุนจากรัฐที่ 169,934 ล้านบาท หากผลการเจรจาที่ยุติ และมีวงเงินที่ขออุดหนุนสูงกว่ากลุ่ม CPH ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้น รายที่ 1 จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะรัฐคงจะไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2562 กลุ่ม CPH ได้มีหนังสือถึง รฟท. ขอเวลาในการพิจารณา 3 สัปดาห์ ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นกำหนดที่จะลงนามหรือไม่ โดย 3 สัปดาห์จะครบในวันที่ 1 ต.ค. แต่เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะประชุมวันที่ 27 ก.ย. ดังนั้น จึงเห็นว่าให้เวลาที่ทางกลุ่ม CPH จะมีเวลาในการหารือกับกลุ่มพันธมิตร จึงกำหนดลงนามในวันที่ 15 ต.ค.

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการประมูลมี RFP กำหนดรายละเอียดอย่างครบถ้วน โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ซองที่ 1 เป็นคุณสมบัติทั่วไป ซองที่ 2 เป็นข้อเสนอด้านเทคนิค เรื่องโครงสร้างองค์กร ผู้ร่วมทุน แผนงานก่อสร้าง การจัดการต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดแนวทางการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธาอย่างไร และมีหัวข้อย่อยว่าให้เสนอแนวทางและวิธีการเตรียมงานก่อนเริ่มการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ รฟท. และกรอบข้อกำหนดรายละเอียดเทคนิค โดยต้องมีข้อกำหนดดังนี้ คือ การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง การประสานงานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง , แนวทางและการเตรียมการประสานงานก่อสร้าง , การเตรียมเอกสาร วิธีการทดสอบการก่อสร้าง เป็นต้น และยังมีเรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคด้วย ซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ส่วนซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการรถไฟ โดยทั้งหมดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาสมบูรณ์แล้ว

ดังนั้น หากยังไม่ดำเนินการ ซึ่ง RFP ข้อ 56.5 กำหนดว่า หลักประกันซองจะถูกริบ คือ 1.ผู้ยื่นข้อเสนอขอถอนเอกสารข้อเสนอในช่วงเวลาที่เอกสารยังไม่หมดอายุ หรือ 2.ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยอมรับการแก้ไขข้อมูลที่เสนอไปตามที่ระบุไว้ 3.กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แต่ไม่ดำเนินการ ดังนี้ ข้อ ก. ลงนามสัญญาในสัญญาร่วมลงทุน หรือ ข. ยื่นหลักประกันสัญญา วงเงิน 4,500 ล้านบาท ในวันลงนามสัญญา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ก.ย.2562จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรายงานความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบินต่อที่ประชุมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น