อนาคตของพรรคอนาคตใหม่แขวนอยู่บนเส้นด้าย จะดำรงอยู่ต่อไป หรือจะจบสิ้นลงเพราะถูกยุบพรรคเนื่องจากทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง อีกไม่กี่วันก็จะได้รู้กันแล้ว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่า สัปดาห์นี้ สำนักงานเลขาธิการ กกต.จะส่งเรื่องที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจำนวนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด ให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.พิจารณา
ตามกระบวนการ หากคณะกรรมการ กกต.เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ทำได้ ไม่ผิด เรื่องก็จบไป แต่ถ้าเห็นว่า ผิด ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ต่อไป
กรณีสืบเนื่องมาจากนายธนาธร ไปพูดในวงประชุมสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หลังการเลือกตั้งไม่นานว่า พรรคอนาคตใหม่เป็นหนี้ตนอยู่ 100 กว่าล้านบาท เป็นเงินที่กู้มาใช้จ่าย สำหรับหาเสียงเลือกตั้ง
นายศรีสุวรรณ จรรยา จึงนำเรื่องนี้ไปร้องต่อ กตต.ว่า เข้าข่ายทำผิด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ที่ระบุว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแห่งพรรคการเมือง มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทมิได้
เรื่องนี้ไม่มีปัญหาข้อเท็จจริงเหมือนกรณีนายธนาธร ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย ว่า โอนหุ้นเมื่อไรกันแน่ เพราะนายธนาธร ก็ยอมรับเองว่า ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจริง และการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา มีรายการให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 2 รายการรวม 191 ล้าน 2 แสนบาท เมื่อวันที่ 2 มกราคม และ 11 เมษายน 2562
มีแต่ประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาว่า เงินกู้ที่พรรคอนาคตใหม่กู้นายธนาธรมา เป็นรายได้หรือประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 60 พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่
นายธนาธร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากถือว่า เงินกู้เป็นรายได้ จะทำให้หลักบัญชีของบริษัทและองค์กรต่างๆ ผิดไปหมด ซึ่งเป็นการผิดหลักบัญชีอย่างมาก
พรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่บริษัท แต่เป็นพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง การอ้างหลักบัญชีของบริษัทที่ถือว่า เงินกู้ไม่ใช่รายได้ จึงเป็นคนละเรื่องกัน
พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นกฎหมายมหาชน หลักของกฎหมายมหาชนคือ เรื่องไหนที่กฎหมายไม่ได้บอกว่า ทำได้ ห้ามทำ ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ที่เรื่องไหนกฎหมายไม่ห้าม ทำได้ ไม่ผิด
เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ระบุว่า ให้พรรคการเมืองมีรายได้จากการกู้เงินได้ จึงหมายความว่า พรรคการเมืองจะกู้เงินมาใช้จ่ายในกิจการพรรคไม่ได้ และถ้าจะจัดให้เงินกู้เป็นประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 66 กฎหมายก็ห้ามพรรคการเมืองรับประโยชน์อื่นใดเกินปีละ 10 ล้านบาท
กฎหมายว่าด้วยรายได้ ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองถูกครอบงำจากนายทุน จึงจำกัดวงเงินที่พรรคการเมืองจะรับบริจาคจากผู้ให้บริจาคแต่ละรายไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี
การหลบเลี่ยงข้อกฎหมายทำได้ด้วยการไม่แจ้ง หรือใช้วิธีจัดงานระดมทุน ซึ่งไม่มีข้อจำกัดว่า จะบริจาคได้เกินเท่าไร แต่ถ้าเกิน 100,000 บาท พรรคการเมืองผู้รับบริจาคต้องประกาศรายชื่อผู้บริจาคนั้น
ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่กู้เงินนายทุนมาใช้จ่าย เพราะทุกพรรครู้ว่า กฎหมายห้ามทำ มีแต่พรรคอนาคตใหม่เพียงพรรคเดียว ที่กู้เงินหัวหน้าพรรค 191 ล้านบาท
นายธนาธร เป็นทั้งหัวหน้าพรรค และเป็นเจ้าหนี้ หรือเป็นนายทุนเงินกู้ของพรรคเพียงคนเดียว จะเข้าข่ายครอบงำพรรคด้วยอำนาจเงินหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ต่างกัน แม้จะอ้างว่า นายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้ให้ฟรีๆ พรรคอนาคตใหม่ต้องจ่ายหนี้คืน และต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่สัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน การปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจของเจ้าหนี้กับลูกหนี้
หากพรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถหาเงินมาคืนนายธนาธรได้ นายธนาธรจะฟ้องไหม? หรือไม่ทำอะไร เพราะถือว่า เป็นสิทธิของเจ้าหนี้
การให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจำนวนมากถึง 190 ล้านบาท จึงก้ำกึ่งกันระหว่าง การให้กู้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และคาดหวังว่า จะได้รับการชำระหนี้ และมีผลตอบแทนจากดอกเบี้ย หรือเป็นเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย เปลี่ยนรูปแบบการครอบงำพรรคจากนายทุนเป็นเจ้าหนี้
นายธนาธร รู้ดีว่า ความจริงเป็นอย่างไร