xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแบบขยายBTSตากสิน ทุ่ม1.4พันล.แก้คอขวดเชื่อมฝั่งธนฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ก.ทางหลวงชนบท”อนุมัติ แบบขยายสะพานสาทร เพิ่มรางรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีตากสิน แก้คอขวดข้ามฝั่งธนฯ คาดใช้เวลาก่อสร้าง 40 เดือน ย้ำต้องไม่กระทบจราจร รอ EIA อนุมัติ พร้อมลงมือปลายปี 62 ด้าน BTS คาดใช้เงิน1,400 ล้านบาท จ่อหารือปิดใช้สถานีชั่วคราว

วานนี้ (19 ก.ย.) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการดำเนินงานบูรณาการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บริเวณสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ที่ประชุมซึ่งมีผู้แทน กรมทางหลวงชนบท, กรมเจ้าท่า, กรุงเทพมหานคร, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS), และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปแผนการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน (S6) ที่จะต้องมีการขยายสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน(สะพานสาทร) โดยกรมทางหลวงชนบทได้เห็นชอบแบบแล้ว ทั้งในส่วนของการขยายสะพานสาทรและการขยายสถานีสะพานตากสิน เพื่อแก้ปัญหาคอขวดแล้ว

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ได้มีการตรวจสอบแบบ ทั้งทางวิศวกรรมและความปลอดภัย รวมถึงในระหว่างการก่อสร้าง ที่จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรบนสะพานและรถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงให้บริการตามปกติ ซึ่ง ทางกทม.จะต้องทำการก่อสร้างขยายตัวสะพานสาทรให้เสร็จก่อน เพื่อให้มีขนาด 3 ช่องจราจรไปกลับ ที่จะขยายตัวสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงต้องบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการของท่าเรือสาทร ที่อยู่ด้านล่างอีกด้วย

“เรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2560 การออกแบบมีความยุ่งยากเพราะมีทั้งสะพานและสถานีรถไฟฟ้า ข้างล่างก็มีท่าเรือ ทช.ได้เข้าไปช่วยดูการออกแบบ จนเสร็จ ซึ่งกทม.ได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอไปยัง คชก.แล้ว คาดว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติภายในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2562” นายชัยวัฒน์ ระบุ

นายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ (ด้านบำรุงรักษาทางและสะพาน) กรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีตากสิน เป็นทางวิ่งเดียว รถไฟฟ้าต้องรอหลีก การบริการไม่สะดวกเป็นคอขวด กทม.และบีทีเอสจะ ขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง ทำให้จะต้องใช้พื้นที่ของสะพานสาทร ด้านในที่ติดกับสถานี กว้างฝั่งละประมาณ 1.80 เมตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรบนสะพาน ต้องขยายปีกสะพานสาทรด้านนอกทั้งขาเข้าและขาออก กว้างฝั่งละ 230 เมตร ยาว 300 เมตร ให้เสร็จก่อน ใช้เวลาประมาณ 30 เดือนตัวสะพานสาทรจะเบี่ยงออกนิดหน่อย โดยมีเสาเหล็กปักบนทางเท้ารองรับฝั่งละ 8 ต้น และเมื่อขยายสะพานแล้วเสร็จ จึงจะขยายตัวสถานีตากสินและวางรางเพิ่มอีก 1 ราง

“ทางกทม. เพิ่งส่งแบบสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เมื่อได้ข้อสรุปตรงกัน ในสัปดาห์หน้า ทช.จะออกใบอนุญาตกทม.ให้ทำการใดๆ ในเขตพื้นที่ทางหลวง ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างเมื่อ EIA ผ่าน” นายวิศว์ ระบุ

ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS กล่าวว่า คาดว่าจะใช้เงินในการปรับสถานีตากสินประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯต้องหารือกับ กทม.ในเรื่องสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อไป ส่วนในระหว่างก่อสร้างเพื่อวางรางรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 คู่นั้น อาจต้องปิดสถานีตากสิน (รถวิ่งผ่านไม่จอด) เพื่อให้การก่อสร้างได้รวดเร็ว และเสร็จภายใน 40 เดือน โดยจะหารือกับคณะกรรมการดำเนินงานฯก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานีตากสินเพิ่มเป็นทางคู่แล้ว รถไฟฟ้าสามารถวิ่งสวนกันได้ จะทำให้เพิ่มความถี่ในการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีลม จากปัจจุบัน 4 นาทีต่อขบวนเป็น 2 นาทีเท่าสายสุขุมวิท
กำลังโหลดความคิดเห็น