xs
xsm
sm
md
lg

เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ จีนถวายเครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตรภรณ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

ในวาระเฉลิมฉลอง การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี มอบ/ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งชาติ เครื่องอิสริยาภรณ์รัฐมิตรภรณ์ และการเชิดชูเกียรติระดับชาติ ให้แก่บุคคลสำคัญทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ รวม 42 คน ที่มีคุณูปการสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและเผยแพร่จิตวิญญาณแห่งชนชาติจีน

โดย ประธานาธิบดีจีน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ 'รัฐมิตราภรณ์' สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ทรงเป็นบุคคลสำคัญคนเดียวในโลก ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนมากที่สุด จนถึงปัจจุบัน 43 ครั้ง ในระยะเวลา 38 ปีนับัต้งแต่เสด็จครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2524 ครั้งล่าสุดคือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทรงเสด็จเยือนครบทุกมณฑลของจีน อันกว้างใหญ่ไพศาล

เมื่อปี 2547 สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์ประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญานาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากพระราชกรณียกิจ ในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน ทั้งโดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนมากกว่า 20 ครั้ง ในขณะนั้น และความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาจีน

ปี 2552 ชาวจีน 2 ล้านคน ลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ต ให้พระองค์ เป็น มิตรที่ดีที่สุดในโลกอันดับที่สองของชาวจีน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือที่คนจีนกล่าวขานพระนามพระองค์ว่า “สิรินธร” ยังทรงให้ความสำคัญกับภาษาและวัฒนธรรมของจีนอย่างมาก ทรงเรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี 2523 ทั้งยังทรงเคยเสด็จฯ ไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนเพิ่มเติมถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อปี 2544

พระองค์ทรงเคยเล่าให้อาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งฟังว่า ตอนแรกไม่ได้คิดอยากเรียนภาษาจีน เพราะคิดว่าป็นภาษาที่ยากมาก แต่มาคิดว่าตัวเองเป็นคนเอเชีย ในเอเชียมีประเทศใหญ่อยู่ 2 ประเทศ คือ อินเดียและจีน การเรียนภาษาอินเดียและจีนจึงสำคัญมาก

ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้รับสั่งว่า “เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน” พระองค์จึงทรงปรึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงเห็นด้วย ในที่สุดจึงขอให้ทางสถานทูตจีนช่วยจัดอาจารย์มาถวายการสอน

พระองค์เคยตรัสว่า “ภาษาจีนนั้นสามารถนำคนเข้าสู่อาณาจักรแห่งความรู้อันอุดมไพศาลแหล่งหนึ่งของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งตระหนักในขอบเขตอันกว้างขวางลุ่มลึกนั้น”

หลังจากช่วงเวลา 1 เดือนแห่งการร่ำเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สิ้นสุดลง ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2544 ในฐานะที่ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความเจริญของประเทศไทย ส่งเสริมความก้าวหน้าและสันติภาพของมนุษยชาติ ทั้งยังทรงมีบทบาทโดดเด่นในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทย ยังความภาคภูมิใจแด่พระองค์เป็นอันมาก โดยทรงตรัสว่า

“แต่นี้ไปภายหน้าจะไม่เพียงพยายามทำงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนให้มากขึ้นเท่านั้น จะพยายามมีส่วนในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่วัฒนธรรมของโลกและมนุษยชาติให้มากยิ่งขึ้นด้วย”

นอกจากภาษา-วัฒนธรรม และดนตรีจีนแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังได้ทรงเรียนการเขียนอักษรจีนด้วยพู่กัน หรือ ลายสือศิลป์จีน การวาดภาพแบบจีน และฝึกรำมวยไทเก๊ก ซึ่งพระองค์ทรงรู้สึกสำราญพระทัยในการเรียนทุกวิชา และทรงรู้สึกว่า ลายสือศิลป์จีน รำมวยจีน และดนตรีจีน สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ทำให้เกิดสมาธิ ยามใดที่ทรงรู้สึกหงุดหงิดอารมณ์ร้อน เมื่อได้คัดลายสือศิลป์จีนแล้วจะทำให้กลับมาอารมณ์ดีได้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่เพียงแต่ทรงเชี่ยวชาญด้านภาษา-วัฒนธรรม และวรรณคดี หากยังสนพระทัยในด้านประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งทรงมีจุดยืนที่ชัดเจนเที่ยงธรรมด้วย ทรงเคยตรัสกับนักศึกษาชาวจีนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เปรียบเทียบนโยบายชาวจีนโพ้นทะเลของประเทศไทยและอินโดนีเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า “คนจีนในประเทศไทยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติ พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ นายกรัฐมนตรีไทยหลายคนก็เป็นลูกหลานจีน พวกเขามีเชื้อสายจีน แต่ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งปิดโรงเรียนจีน ไม่ยอมให้เรียนภาษาจีน คนจีนก็เลยต้องแอบเรียน นโยบายอย่างนี้ไม่ถูกต้อง”

การเสด็จฯ เยือนจีนหลายครั้ง พระองค์จะทรงถ่ายทอดประสบการณ์เป็นหนังสือให้คนไทยได้อ่านด้วย ตั้งแต่การเสด็จครั้งแรก เมื่อ ปี 2524 ซึ่งทรงเขียนหนังสือ “ย่ำแดนมังกร” เผยแพร่ให้ประชาชนได้อ่าน และอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา เช่น “มุ่งไกลในรอยทราย”, “เกล็ดหิมะในสายหมอก” , “ใต้เมฆที่เมฆใต้”, “เย็นสบายชายน้ำ”, “คืนถิ่นจีนใหญ่” และ “เจียงหนานแสนงาม” เป็นต้น พระราชนิพนธ์ทุกเล่มของพระองค์ มีส่วนช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจในประเทศจีน-คนจีน และวัฒนธรรมจีนมากขึ้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็น 1 ใน 6 บุคคลสำคัญต่างชาติที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ รัฐมิตราภรณ์ ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 1 ตุลาคม 2562 ในการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ดังกล่าว และทรงร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น