xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ข่าวปนคน คนปนข่าว

**จากดราม่า “#SaveUbon” ถึง “#ประยุทธ์อยู่ไหน” “ชื่นชมบิณฑ์ -ด่าลุงตู่” ต่างกรรมต่างวาระ ต่างวิธีการ แต่เป้าหมายเดียวกัน "บทเรียน" รัฐบาลที่ควรเร่งบูรณาการ ที่สำคัญต้องไม่ลืมเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานสุดตัว "ปิดทองหลังพระ" ด้วย

โลกโซเซียลฯ จับประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมาเปรียบเทียบการทำงานระหว่างพระเอกดัง “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” กับ ” รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนกลายเป็นดรามาท่วมออนไลน์ …
ยอดบริจาคผ่านบิณฑ์ เพื่อไปช่วยเหลือพี่น้องชาวอุบลราชธานี สร้างปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นธารน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน ในช่วงเวลาที่วิกฤติสังคมไทยแสดงออกถึงความเอื้ออาทรต่อกัน เป็นพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ แม้แต่พระเอกนักสังคมสังเคราะห์ยังหลั่งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม...
แฮชแท็ก #SaveUbon จนมาถึง #บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ติดอันดับในโซเชียลฯ ต่างชื่นชมการเสียสละตนเองและเป็นผู้นำช่วยเหลือชาวอุบลฯ ของบิณฑ์ ... จากความตั้งใจเดิมของบิณฑ์ ที่จะหาเงินช่วยเหลือครอบครัวละพันบาท จากยอดบริจาคที่ล้นหลามกว่า 231 ล้าน ทำให้มีเงินที่จะช่วยเหลือได้ 5พันบาท ต่อครอบครัว
ขณะเดียวกันฟากของการช่วยเหลือภาครัฐ กลับถูกมองว่า เชื่องช้า จนมาถึงติดแฮชแท็ก # ประยุทธ์อยู่ไหน ประชดประชัน “ลุงตู่” แซงขึ้นมาแรงเป็นที่หนึ่งของทวิตเตอร์ประจำวัน ...ถามหานายกรัฐมนตรีทำอะไรอยู่
ภาพระหว่างบิณฑ์และรัฐบาล จึงตัดกันเหลือเกินในความรู้สึกของชาวเน็ต ยิ่งเมื่อทราบว่า รัฐบาลเปิดรับบริจาคในชื่อ รายการ “ร่วมใจ พี่น้องไทย ช่วยภัยน้ำท่วม” ถ่ายทอดสดผ่าน ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 พล.อ.ประยุทธ์ รับสายเอง ยิ่งถูกนำไปเปรียบเทียบ
ชื่นชมบิณฑ์ แล้วด่าลุงตู่ สิ้นหวังกับรัฐบาล...
มองด้วยใจเป็นธรรม รัฐบาลก็มีส่วนถูกตำหนิ การบริหารจัดการวิกฤต ระบบราชการมีขั้นตอนต่างๆ ต้องบูรณาการกันมากกว่าจะปล่อยให้เป็นเหมือนเหตุการณ์ปกติ ...หากเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนการช่วยเหลือเร่งด่วน ยิ่งจำเป็นต้องทำทันที
แต่”ลุงตู่” ก็ว่า การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น มันมีขั้นตอนการดำเนินการ มี 3 ขั้นตอน คือ ก่อนเกิดอุทกภัย ระหว่างเกิด และการฟื้นฟู ...รัฐบาลมีวงเงินที่สามารถใช้จ่ายได้ ในส่วนของงบกลางในการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งจะนำมาใช้ในการฟื้นฟูเป็นหลัก ... สำหรับการช่วยเหลือในวันนี้ มีงบประมาณ 50 ล้านบาท ในทุกจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เมื่อไม่พอก็ขอมาที่รัฐบาล โดยจะให้ไปเป็นก้อนๆ ก็ขอให้เข้าใจว่า “การใช้งบมีขั้นตอนอยู่”
ในส่วนของกระทรวงการคลังก็มีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการเยียวยาพืชผลทางการเกษตร ไร่นาเสียหาย ปศุสัตว์ ประมง ยังมีมาตรการบรรเทาหนี้ และดอกเบี้ย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนนี้มีการสำรวจอยู่ในการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ …
หลังจากนั้น จะไปดูว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องอะไรอีก หลังช่วงน้ำลด ก็ต้องหามาตรการเสริม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผลน้ำน้อย เมล็ดพันธุ์พืช การจัดหาแหล่งน้ำ ซ่อมถนนหนทาง สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งหมด ซึ่งเป็นวงเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายได้ในเรื่องของการเยียวยา ไม่ใช่นำเงินทั้งก้อนมาใช้หมดในตอนนี้ วันข้างหน้าก็จะไม่มี...
นี่คือการใช้จ่ายงบประมาณเร่งด่วนในยอดที่มีอยู่ ที่ “ลุงตู่” ขอชี้แจงหลังประชุมครม. เมื่อวาน (17ก.ย.) ขณะที่ในส่วนที่สามารถใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย แต่บางอย่างมันใช้ไม่ได้ ใช้เงินบริจาคมาเสริมให้ หลักกฎหมายและขั้นตอนของรัฐบาลเป็นอย่างนี้ คล้ายๆ จะตอบโต้กับดรามาที่ว่า “เงินภาษีกูอยู่ไหน” ทำไมรัฐบาลต้องเปิดบริจาคอีก ?
เรื่องการบริจาค พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ขอบคุณ “บิณฑ์” ที่เข้าไปช่วยกันทำงาน ทำให้มีความสุข ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมทำงานกับรัฐบาล ไม่ว่า รัฐบาล หรือ บิณฑ์ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างวิธีการ แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ช่วยเหลือ
ผู้ประสบอุทกภัย
สิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าดรามา คือ ช่วยชีวิต ช่วยเหลือประชาชน
ต้องไม่ลืมว่า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ก็ทำกันสุดกำลังในโซเชียลฯ ก็เห็นกันอยู่ พวกปากบอนแบบนี้ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่หลายคนที่ "ปิดทองหลังพระ" เสียกำลังใจ…
เรื่องนี้ก็เป็นอีก "บทเรียน" ของรัฐบาล ที่ต้องเร่งสปีดในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกิดขึ้น ให้เร็วกว่านี้ .

** ลุ้นวันนี้ !! "3 สารพิษ" เคมีเกษตร จะถูก"แบน" หรือไม่ หลัง "ลุงตู่" ส่งสัญญาณไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า...ต้องทำแบบเปิดเผย
ปัญหาสารพิษ 3 ชนิด "พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส" สำหรับใช้ในภาคการเกษตร ที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม และอีกหลายๆภาคส่วน ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้มีการ "แบน" แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถจัดการให้เลิกการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายได้ และดูเหมือนสังคมกำลังจะสิ้นหวัง ที่จะแบนสารพิษเหล่านี้...
กระทั่งมาถึงรัฐบาลนี้ ที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า สนับสนุนให้มีการยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในฐานะผู้บริโภค ที่ต้องเผชิญพิษร้ายจากสารพิษดังกล่าว ...รวมไปถึง "มนัญญา ไทยเศรษฐ์" รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่สังกัดพรรคภูมิใจไทย ได้เข้ามากำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษโดยตรง ก็ประกาศแล้วว่า จะยกเลิกให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ มี "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ว่า ส่วนตัวก็อยากให้ยกเลิก 3 สารพิษนี้ แต่ขอให้เข้าใจว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงาน ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย และหากมีมติออกมาให้ยกเลิก ก็สามารถผลักดันเรื่องนี้ให้มีผลได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 63 ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้ให้นโยบายไปกับปลัดกระทรวงฯไปแล้วว่า ... อยากให้ยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว
เป็นอันว่า ขณะนี้ 3 กระทรวงหลักใน "รัฐบาลุงตู่" ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่า ต้อง "แบน" 3 สารพิษ ที่ว่า...ซึ่งที่ผ่านมานั้น การจะตัดสินใจยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ จะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า มีผลกระทบในทางบวกและทางลบอย่างไร ... ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาถึงข้อดี ข้อเสีย โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็คือ 3 กระทรวงหลักที่ว่ามา ซึ่งความเห็นมักจะไปกันคนละทิศละทาง ... เมื่อนำเข้าที่ประชุม"คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ก็ถูกตีตก คือ "ยังไม่แบน"... และเป็นที่รับรู้กันว่า ที่ผลออกมาเช่นนั้นเพราะ คณะกรรมการฯ ถูกลอบบี้ จากภาคธุรกิจที่นำเข้า ให้มีมติไปในทิศทางที่เขาต้องการ ...
เมื่อ "รมช.มนัญญา" เข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้ และได้ประกาศไปแล้วว่าจะต้องจัดการเรื่องนี้ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ จึงได้พยายามรวบรวมข้อมูล จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้รับข้อมูลบ้าง ไม่่ได้บ้าง ล่าช้าบ้าง จนเมื่อวันก่อน "รมช.มนัญญา" ต้องบุกไปถึง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อทวงเอกสารเกี่ยวกับสต๊อกสารเคมีพิษในภาคการเกษตร ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขอไปนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับ ... เพื่อรวบรวมเอกสารทั้งหมดนำเสนอ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ชี้ขาดว่าจะ"แบน" หรือ "ไม่แบน"...โดยจะมีการประชุมกันในวันนี้ (18 ก.ย.)
คราวนี้มาดูผลการประชุมล่าสุดของ "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการ"ประชุมลับ" ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครลงมติอย่างไร ผลคือ กรรมการเสียงข้างมาก 16 เสียง จาก 29 เสียง ยืนตามมติเดิม คือ "ไม่แบน" ...
มาดูกันว่า "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" เป็นใครกันบ้าง ... คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยตัวแทนจาก 29 หน่วยงาน ดังนี้ 1. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 2. อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3. เลขาธิการ สนง.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 4. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 5. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 6. เลขาธิการสนง.ปรมาณูเพื่อสันติ 7. ผู้แทนกระทรวงคมนาคม 8. อธิบดีกรมขนส่งทางบก 9. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน 10. อธิบดีกรมการค้าภายใน
11. อธิบดีกรมประมง 12. อธิบดีกรมปศุสัตว์ 13. อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 14. ผู้แทนสนง.มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 15. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชากฏหมาย 16. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเคมี 17. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ 18. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 19. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิทยาศาสตร์ 20.ผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน
21. ผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายท้องถิ่น 22. ผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม 23. ผู้แทนองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค (คนที่ 1) 24.ผู้แทนองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค ( คนที่ 2) 25. อธิบดีกรมการแพทย์ 26. อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 27. เลขาธิการคณะกก.อาหารและยา 28. อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
การประชุม "คณะกรรมการวัตถุอันตราย" ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (18ก.ย.) ที่บอกว่า "น่าลุ้น" ก็เพราะว่า "มีสัญญาณ" จาก "นายกฯลุงตู่" ว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เปิดเผย" ...ก็น่าจะตีความได้ว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการลงมติแบบเปิดเผย ไม่เหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา ที่ใช้วิธี "ลงมติลับ"มาโดยตลอด ... จะได้รู้กันไปเลยว่า ผลจะออกมาอย่างไร... ใครอยู่ข้าง ”ปลดแอกสารพิษ” เพื่อสร้างบุญ สร้างกุศล ให้กับคนในชาติ ... และใครที่ยอมเป็นทาสนายทุน .

-------------------
รูป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา – บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์
-มนัญญา ไทยเศรษฐ์ –อนุทิน ชาญวีรกูล – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ




กำลังโหลดความคิดเห็น