เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญมีอยู่ 5 ประการคือ
1. ศรัทธาหมายถึง ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักการที่ตนเองยึดถือ และความดีที่ตนเองกระทำ
2. ศีลหมายถึง มีความประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดระเบียบวินัย ไม่ผิดศีลผิดธรรม
3. พาหุสัจจะหมายถึง เป็นผู้คงแก่เรียนได้แก่ เรียนมาก และรู้มาก
4. วิริยารัมภะหมายถึง มีความเพียรพยายามในการทำงาน
5. ปัญญาหมายถึง ความรอบรู้ เข้าใจในเหตุและผล ดี ชั่ว ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น
ธรรมทั้ง 5 ประการข้างต้น เป็นพุทธพจน์ซึ่งมีที่มาปรากฏในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ 22
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น สามารถนำเป็นเครื่องชี้วัดพฤติกรรมของบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญมากน้อยเพียงใด
ในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังตกเป็นจำเลยทางการเมืองในสายตาฝ่ายค้านจำเลยทางสังคม ในกรณีที่ไม่เข้าประชุมสภาฯ เพื่อตอบกระทู้ของฝ่ายค้านในหัวข้อกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเข้าข่ายขาดความกล้าหาญตามนัยแห่งเวสารัชชกรณธรรมข้อที่ 1 คือ ความเชื่อและความมั่นใจในหลักที่ยึดถือ และความดีที่ทำ กล่าวคือ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นว่าสิ่งที่ตนเองได้กระทำไม่ถูกต้อง และดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลัวต่อข้อซักถามของฝ่ายค้าน แต่การที่ไม่ไปตอบกระทู้จะอนุมานเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากไม่มั่นใจในสิ่งที่ทำ
ส่วนอีก 4 ข้อที่เหลือจะขาดหรือไม่ขาดคงจะต้องดูจากคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันอภิปรายนายกรัฐมนตรี โดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 กันยายน
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงให้เห็นถึงความดี 4 ข้อที่เหลือ ก็อนุมานได้ว่ามีความกล้าหาญทางคุณธรรม และควรที่จะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำต่อไป
ถ้าคำชี้แจงในวันที่ 18 กันยายน พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีเวสารัชชกรณธรรม 4 ข้อที่เหลือ ก็อนุมานได้ว่าขาดความกล้าหาญ ซึ่งผู้นำควรมีและจะเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ศรัทธาในความเป็นผู้นำ ซึ่งจะเป็นเหตุให้รัฐบาลพบกับวิกฤตศรัทธาแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้