ทอท.ชง คมนาคม แผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 4 หมื่นล้าน ลุ้น ครม.เคาะ ลุยออกแบบ-ทุบซากตึกเก่าปีหน้า เตรียมเชื่อมรถไฟฟ้า 2 สาย เพิ่มความสะดวก และทางเลือกให้ผู้โดยสาร ปลายปี 63 จัด Airport Bus วิ่งรับ เปิดสีเขียว“สะพานใหม่”ประเมินผลก่อน ทุ่ม 3 พันล้าน สร้าง"โมโนเรล" ปี 64 ผุด Sky Walkเชื่อมสายสีแดง
เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ ) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่าขณะนี้ ทอท.ได้เสนอแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงินประมาณ 3.8-4 หมื่นล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอครม. เพื่อขออนุมัติ ซึ่งตามแผนงานหลังครม.เห็นชอบในปี 2563 จะเป็นขั้นตอนในการประมูลออกแบบรายละเอียด (Detail&Design)เฟส 3 ทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในขณะเดียวกันจะทำการรื้อถอน อาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเก่า และอาคารจอดรถ 3 ชั้น โดยประมูลขายซากอาคาร เพื่อเตรียมพื้นที่ สำหรับก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 (เทอร์มินอล ระหว่างประเทศ) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 64
โดยเฟส 3 มีทั้งหมด 6 กลุ่มงาน อยู่ระหว่างทำแบบร่าง และเสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทสไทย (กพท.)พิจารณา ว่าจะต้องทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)เพิ่มเติมหรือไม่ โดย EIA เดิมได้ศึกษาการรองรับผู้โดยสารที่ 40 ล้านคนต่อปี ไว้แล้ว
นอกจากนี้ ทอท.จะมีงานที่ให้มีการดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ JUNCTION BUILDING,งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ผู้โดยสาร งานก่อสร้างอาคารจอดรถระยะยาวด้านทิศใต้ และ งานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM)เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการ และลดความแออัด
สำหรับเฟส 3 ในส่วนของอาคารหลังที่ 3 คาดว่าจะเปิดให้บริการ ในปี2566 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถ การรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน มี ผู้โดยสารจริงในปี 2562 เกือบ 40 ล้านคนต่อปีแล้ว และจากอัตราเติบโต เฉลี่ยที่ 1-2% อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2566 ผู้โดยสารจะอยู่ที่ 45 ล้านคน ซึ่ง ทอท.จะนำระบบเทคโนโลยีมาใช้กับระบบเช็กอิน เพื่อลดพื้นที่เคาน์เตอร์ และปรับพื้นที่ไปให้บริการผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นแทน ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดที่ 50-55 ล้านคนต่อปี
"ปัจจุบันดอนเมืองมีปัญหาแออัด ในอาคารผู้โดยสาร แต่เมื่อเฟส 3 เสร็จ คอขวดจะไปอยู่พื้นที่เขตการบิน(Airside)โดยเฉพาะที่ทางวิ่ง (รันเวย์ ) ที่มี 2 รันเวย์ รองรับได้ รวม 52 เที่ยวบินต่อชม. ซึ่งกายภาพไม่สามารถขยายได้ ซึ่งจะต้องหารือกับสายการบินเพื่อให้พิจารณาในการปรับเปลี่ยนขนาดเครื่องบินให้ใหญ่ขึ้น จากเครื่องบิน Code C (A 320 / B737)ขนาด 180-200 ที่นั้่ง เป็น เครื่องบินแบบ Code Dขนาด 300 ที่นั่ง ต่อไป"
เชื่อมสนามบินกับรถไฟฟ้า"แดง-เขียว"
ทอท. มีแผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่สนามบินดอนเมืองกับรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะเปิดให้บริการ ช่วงเดือนธ.ค.63 ซึ่งเบื้องต้นจะหารือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขสมก. ให้จัดรถโดยสารประจำทาง(Airport Bus)เชื่อมจากสถานีสะพานใหม่ และสถานีแยก คปอ. -สนามบินดอนเมือง
ในระยะต่อไป มีแนวคิด ที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดียว (Monorail)โดยใช้เวลาศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า ประมาณ 6 เดือน โดยจะเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเดินทาง และจำนวนผู้โดยสารในช่วงแรกที่ให้บริการรูปแบบ. Airport Bus ก่อนระยะหนึ่ง
จากรถไฟฟ้าสายสีเขียว บนถนนพหลโยธิน ถึงสนามบินดอนเมือง มีระยะทางประมาณ 3 กม. คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท (ระบบโมโนเรล ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อกม.) โดยเส้นทางมี 2 ทางเลือก คือ 1. ตัดผ่านพื้นที่กองทัพอากาศ(ทอ.) หรือ 2. ใช้แนวถนนตัดใหม่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จาก บิ๊กซี สะพานใหม่-ถนนวิภาวดี
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต กำหนดเปิดให้บริการ เดือน ม.ค.64 จะมีการก่อสร้งทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk)เชื่อมจากสถานีดอนเมือง เข้าสู่อาคารสนามบิน