เมื่อไม่กี่วันก่อน เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเพจของปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคนสำคัญของพรรคอนาคตใหม่ได้โพสต์ข้อความที่น่าสนใจว่า
(Lawfare - คืออะไร?)
Lawfare คือ การนำกระบวนการยุติธรรมและศาลมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมือง
โดยคำคำนี้ดัดแปลงล้อมาจากคำว่า “Warfare”
การใช้ศาลเป็นเครื่องมือกำจัดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักกิจกรรม ปัญญาชน กำลังกลายเป็นแฟชั่นแพร่หลายไปในหลากหลายประเทศ
การกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยอาวุธปืนและกำลังทางทหารไม่สามารถสร้างการยอมรับได้เหมือนในอดีต
พวกเขาจึงหันมาเลือกใช้ “กฎหมาย” “คดีความ” “กระบวนการยุติธรรม” “องค์กรอิสระ” และ “ศาล” เข้าจัดการห้ำหั่นแทน
เมื่อ Rule of Law และ Liberal Democracy เรียกร้องระบบการตรวจสอบ เรียกร้องการปกครองโดยกฎหมาย การจัดการปราบปรามศัตรูทางการเมืองด้วยวิธีนี้แทนอาวุธจึงชอบธรรมและได้การยอมรับกว่า
ใครประท้วง ใครวิจารณ์ ก็อ้างได้ว่า “เป็นไปตามกฎหมาย” หรือ “ศาลตัดสินแล้วต้องเคารพ”
Lawfare แพร่หลายไปทั่วโลก ตั้งแต่ละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา และยุโรป
เมื่อวานนี้ จึงมีนักการเมือง ปัญญาชน นักกิจกรรม จากทั่วโลกกว่า 200 คน ร่วมลงนามในคำประกาศร่วมกันเรียกร้องให้ทุกประเทศและนานาชาติร่วมมือกันหยุด Lawfare ความยุติธรรมต้องไม่ถูกทำให้กลายเป็นอาวุธในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม
ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปิยบุตรอ้างถึง Lawfare นั้นมีขอบเขตที่จำกัดแค่ไหนจึงจะเข้าความหมายของการใช้กระบวนการยุติธรรมมาห้ำหั่นปฏิปักษ์ทางการเมือง และข้อกล่าวหาของปิยบุตรนั้นรวมถึงกระบวนการยุติธรรมหรือศาลไทยด้วยหรือไม่
และไม่ทราบว่าปิยบุตรหมายถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญเชิญอาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ หลังจากที่ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้วิพากษ์วิจารณ์ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่คดีคำร้อง 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม
หรือกรณีที่ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งได้ฟ้องน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล หลังเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2562 หน้า 9 คอลัมน์ประชาชน 2.0 เรื่อง “อันตรายภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.”
แต่เราทราบกันโดยทั่วไปว่าสังคมจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นบรรทัดฐานเพื่อทำให้มีระเบียบ วินัย และสงบเรียบร้อย หากไม่มีกฎหมายมนุษย์ก็จะสามารถทำอะไรตามใจตนเองก็ได้ ถ้าต่างคนต่างทำตามใจและการกระทำนั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ก็จะเกิดปัญหา ความขัดแย้ง จึงต้องมีกฎหมายเพื่อรักษากฎพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันและเพื่อระงับข้อพิพาทของสมาชิกที่อยู่ร่วมกันในสังคม เพราะไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการให้ความเป็นธรรม ในที่สุดสังคมนั้นประเทศนั้นก็จะล่มสลายไม่สามารถดำรงอยู่ได้
ส่วนการที่ต้องมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลก็เพื่อจะคุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดี ให้การดำเนินคดีของศาลไม่ถูกรบกวน มีความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนให้ความเคารพและปฏิบัติตาม คุ้มครองการทำหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ทั้งเจ้าหน้าที่ศาล ฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย รวมถึงพยาน ให้รู้สึกปลอดภัย คุ้มครองไม่ให้ผู้พิพากษาต้องถูกว่าร้าย หรือข่มขู่ หรือทำร้าย จนกระทบกับการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ
ส่วนการวิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่รับรู้กันว่าศาลมักวิจารณ์ได้ด้วยหลักการเหตุผล แต่ไม่ใช่การดูหมิ่นผู้พิพากษา แม้ผมเองเมื่อไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็เคยโต้แย้งด้วยเหตุผลหลักการทางกฎหมายและจิตใต้สำนึกในหลายครั้ง แต่คำพิพากษาก็ต้องเป็นที่สุดและต้องให้ความเคารพไม่นั้นบ้านเมืองก็จะอยู่กันโดยไม่มีกติกาหรือกลไกที่จะมาควบคุมได้ก็จะเกิดความวุ่นวายไม่สิ้นสุด
ถ้าเจตนาที่ปิยบุตรหยิบเรื่อง Lawfare มาเพราะเหตุสองเรื่องที่กล่าวมาถึงก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก เพราะจะกลายเป็นว่า ถ้าศาลป้องกันตัวเองจากการถูกละเมิดหรือดูหมิ่นก็จะกลายเป็นการใช้ “กฎหมาย” “คดีความ” “กระบวนการยุติธรรม” “องค์กรอิสระ” และ “ศาล” เข้าจัดการห้ำหั่นเช่นนั้นหรือ
ถ้าไม่ใช่สองเรื่องนี้ปิยบุตรกำลังทำให้สังคมเข้าใจเช่นนั้นหรือไม่ว่า คดีความต่างๆที่พรรคอนาคตใหม่และแกนนำของพรรคถูกดำเนินคดีนั้นเป็น Lawfare ทั้งเรื่องที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกดำเนินคดีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นฯ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา
หลังจากตำรวจได้สืบสวนทราบว่า กลุ่มคนร้ายได้นำรถตู้สีขาวพากลุ่มผู้ต้องหาหลบหนีจากการตรวจสอบทะเบียนรถทราบว่า เป็นรถของบริษัทที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร เป็นกรรมการ และจากการตรวจสอบทราบว่า ในวันดังกล่าวนายธนาธร ได้มาอยู่ที่ สน.ปทุมวัน พร้อมกับนายรังสิมันต์
หรือกรณีที่ปิยบุตรถูกฝ่ายกฎหมาย คสช.ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดอาญา 2 ฐาน ได้แก่ 1. ดูหมิ่นศาล และ 2. นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากกรณีอ่านคำแถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ต่อกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ
รวมถึงกรณีความต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีของธนาธรเรื่องถือหุ้นสื่อซึ่งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และการที่ธนาธรให้พรรคยืมเงินเพื่อดำเนินกิจการของพรรคซึ่งไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายให้สามารถทำได้และอยู่ในกระบวนการพิจารณาสอบสวน หรือคดีที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ถูกร้องว่าใช้เสรีภาพล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หรือถ้าหากการที่พรรคอนาคตใหม่และแกนนำของพรรคถูกดำเนินคดีไม่ใช่ความหมายของ Lawfare อย่างที่ปิยบุตรพยายามจะสื่อสารให้สังคมเข้าใจ ก็รบกวนปิยบุตรในฐานะนักกฎหมายดุษฎีบัณฑิตปริญญาเอกเกียรตินิยมดีมาก จากมหาวิทยาลัยตูลูส (Toulouse) ประเทศฝรั่งเศสช่วยอรรถาธิบายให้ชัดหน่อยว่า มีการใช้ Lawfare ในนิยามที่ปิยบุตรอธิบายนั้นเกิดขึ้นในสังคมไทยในคดีไหนบ้าง เพื่อให้คนที่มีความรู้ทางกฎหมายน้อยอย่างผมและคนในสังคมเข้าใจ
เพื่อจะทำให้สังคมเห็นว่า บ้านเมืองของเรามีการใช้ “กฎหมาย” “คดีความ” “กระบวนการยุติธรรม” “องค์กรอิสระ” และ “ศาล” เข้าจัดการห้ำหั่นกันทางการเมืองหรือไม่ จะได้ช่วยกันหาหนทางนำบ้านเมืองให้พ้นจากสิ่งที่ปิยบุตรเรียกว่า Lawfare
เพราะในสังคมไทยตั้งแต่การเริ่มขับไล่ระบอบทักษิณที่เริ่มจากปรากฏการณ์สนธิ จนเกิดเป็นสงครามสีเสื้อทางการเมืองนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างถูกดำเนินคดีกันในหลายข้อหา ทั้งคดีที่มีการพิพากษาจบแล้วติดคุกติดตารางไปแล้วทั้งสองฝ่าย และยังมีคดีที่รอการพิจารณาอีกหลายคดีมีตรงไหนบ้างที่เข้าข่ายเป็น Lawfare และผมก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกดำเนินคดี และหลายคนที่เป็นฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณก็ถูกทักษิณดำเนินคดีใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่ยังมีอำนาจ
ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมทางศาลของไทยก็น่าจะอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า สิ่งที่ปิยบุตรพูดเรื่อง Lawfare ได้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางศาลของไทยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นทางการเมืองกันหรือไม่
ไม่เช่นนั้นสถานะในการเป็นนักกฎหมายของปิยบุตรก็อาจจะชักจูงให้สังคมเข้าใจผิดได้ว่ามีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทยเช่นกัน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan