xs
xsm
sm
md
lg

ตีตกถวายสัตย์ฯ-มติศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัย-ไต่สวนหุ้นธนาธร18ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360- ศาลรธน. มีมติเอกฉันท์ ตีตกคำร้อง "ประยุทธ์" ถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน ขัดรธน. ชี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ฝ่ายบริหารกับสถาบันฯ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ขณะที่ "ดีเจสาวเสื้อแดง" ปธ.องค์กรธำรงหลักนิติธรรม ยื่นค้าน 7 ตุลาการศาล รธน.พิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับ "บิ๊กตู่" ทุกคดี อ้างสังคมจะเคลือบแคลง เหตุเพราะได้รับการต่ออายุ-คัดเลือกในยุค คสช. พร้อมกันนี้ศาลรธน.นัดไต่สวนพยานศาล 10 ปากคดีธนาธร ถือหุ้นสื่อ 18 ต.ค.นี้

วานนี้ ( 11 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของ นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการกระทำที่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิ และเสรีภาพของผู้ร้องเรียนไว้พิจารณาวินิจฉัย

เนื่องจากเห็นว่าแม้นายภานุพงศ์ จะอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) บัญญัติว่า "การใช้สิทธิ ยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ อันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล" และ มาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า "... ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา" ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง(Political Issue)ของคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล(Act of Government)ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47(1) ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสามได้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน และ ต่อมา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ค้าน7ตุลาการฯพิจารณาคดี"บิ๊กตู่"

วันเดียวกันนี้ น.ส.อุบลกาญจน์ อมรสิน อดีตดีเจสาวเสื้อแดง อดีต ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ และ แกนนำแดงรากหญ้าเมืองอุบลฯ ในฐานะ ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรธน. คัดค้านไม่ให้ตุลาการศาลรธน. 7 คน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งได้รับการต่ออายุโดย คำสั่งคสช. และอีก 2 ตุลาการ คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน ที่เคยทำงานให้กับแม่น้ำ 5 สาย ในยุคคสช. และได้รับคัดเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในยุค คสช. วินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทุกคดี เนื่องจากเกรงว่า ตุลาการฯ ดังกล่าวอาจทำให้การพิจารณา หรือวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ เสียความยุติธรรมไป และอาจทำให้เข้าใจได้ว่าตุลาการฯ ดังกล่าว มีส่วนได้เสีย หรือกระทำการอันเป็นเหตุให้เกิดการสมประโยชน์ระหว่างกันและกัน เพราะผู้ตัดสินเป็นผู้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต่ออายุ และผู้ถูกฟ้องคดี ก็คือพล.อ.ประยุทธ์ สังคมอาจจะเคลือบแคลงสงสัยในการพิจารณา วินิจฉัยคดีสำคัญๆ

"เฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น คดีเกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามความเป็นนายกรัฐมนตรี คดีเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คดีเกี่ยวกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล และคดีเกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 231 ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือ หน่วยงานและองค์กรอิสระอื่นๆ หรือยื่นด้วยตนเองโดยตรงต่อศาลฯ และเบื้องต้นก็ขอให้ระงับยับยั้งไม่ให้ทั้ง 7 คน วินิจฉัยคดี การเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ไว้ก่อน ให้รอจนกว่าการสรรหาตุลาการศาลรธน. ชุดใหม่ ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนต.ค.นี้ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่" น.ส.อุบลกาญจน์ กล่าว

ไต่สวนพยานคดี "ธนาธร" ถือหุ้นสื่อ 18 ต.ค.นี้

พร้อมกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาต่อ ในคดีที่ กกต. ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรธน. มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรธน. มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากกรณีการถือครองหุ้น ในธุรกิจสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยศาลฯได้กำหนดวันนัดไต่สวนพยานบุคคลของศาลฯ จำนวน 10 ปาก ในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. เวลา 09.00 น. ณ.ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ

"บิ๊กตู่"บอก"โธ่เอ๊ย"หลังถูกถาม18 ก.ย.ไปสภาฯหรือไม่

วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ตอบคำถามผู้สื่้อข่าวที่ถามว่า ช่วงเช้าวันที่ 18 ก.ย. ก่อนที่จะเดินทางไปชี้แจงต่อสภา ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตาม มาตรา 152 นายกฯ มีภารกิจก่อนใช่ หรือไม่ โดยนายกฯ กล่าวว่า "โธ่เอ๊ย"

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 ก.ย. เวลา 08.00 น. นายกฯมีกำหนดการไปเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2562 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยในกำหนดการนายกฯ จะเสร็จสิ้นพิธี เวลา 09.15 น. ขณะที่การประชุมสภา จะเริ่มในเวลา 09.30 น.

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวถึง การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ในเรื่องการถวายสัตย์ฯ ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ว่า การอภิปรายตาม มาตรา 152 เป็นเรื่องการอภิปรายร่วมกับครม.ทั้งคณะ ดังนั้น ครม.จึงต้องไปร่วมรับฟัง ว่ามีอะไรพาดพิงหน่วยงาน และกระทรวงที่รัฐมนตรีท่านใดรับผิดชอบหรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็จะมีการยื่นญัตติในเรื่องงบประมาณด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แต่รัฐมนตรีทุกคน ต้องเตรียมตัว หากมีการพาดพิงรัฐมนตรีท่านใด เจ้าตัวก็ต้องชี้แจง โดยจะมีหน่วยงานสนับสนุนข้อมูล เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา และ สำนักงานเลขาครม. โดยหน่วยงานเหล่านี้ เป็นหน่วยงานหลักในการไปร่วมให้ข้อมูล ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ก็อยู่ที่กระทรวง และคอยให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกฯจะไปตอบการอภิปรายหรือไม่ว่า ต้องถามนายกฯ เพราะตนไม่ทราบ กลัวว่าตอบไปแล้วเกิดไม่ไปขึ้นมา ส่วนที่มีข่าวว่าจะอภิปรายตนด้วย ก็ไม่เป็นไร เมื่อส่งผู้ช่วยรัฐมนตรีไปนั่งแทนไม่ได้ ตนก็ต้องไปเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น