อนาคตของฮ่องกงและชาวฮ่องกงยังเป็นเรื่องที่ไม่มีใครทายทักได้ว่าจะเป็นอย่างไร แม้กระทั่งโหร หมอดู ซินแส และนักเฝ้ามองสถานการณ์การเมืองก็ยังคงมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร เป็นผลดีสำหรับใคร
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์และการเมืองทำได้เพียงตั้งข้อสมมติฐานพร้อมกับเงื่อนไขถึงความเป็นไปได้เป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนฮ่องกงที่ร่วมประท้วงก็ไม่รู้ว่าจะชนะหรือแพ้ คนฮ่องกงที่วางตัวเฉยไม่เข้าร่วมด้วย ก็ไม่ทราบเช่นเดียวกัน เพียงแต่หวังว่าจะให้จบโดยไม่มีเหตุรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่
มีมองตรงกันอย่างหนึ่งก็คือสภาวะของฮ่องกงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ กำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมลง ธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีสัญญาณให้เห็นถึงความเสื่อมทรุด คนขาดความเชื่อมั่น เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ยืดเยื้อนานกว่า 3 เดือน และมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าเดิม
ผู้ประกอบการค้านักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งที่เป็นผู้อยู่ในฮ่องกงหรือต่างชาติก็ยังไม่มั่นใจว่าวิกฤตยืดเยื้อนานอย่างนี้ จะจบอย่างไร
ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจเริ่มมองถึงความเป็นไปได้ที่จำเป็นต้องโยกย้ายฐานออกจากฮ่องกงเพื่อความมั่นคงในระยะยาว เพราะถึงอย่างไรฮ่องกงก็จะต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของรัฐบาลจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ความหวังหรือความฝันว่าฮ่องกงจะได้เป็นอิสระหรือเป็นรัฐใหม่ก็คงเป็นเรื่องที่เพ้อฝัน เพราะอย่างไรจีนก็คงจะไม่ปล่อยให้เป็นรัฐเอกเทศ แต่ถ้าสถานการณ์ยังยื้ออยู่อย่างนี้ ก็อาจจะถึงจุดที่ว่าจีนจะปล่อยให้เกาะฮ่องกง อยู่ในสภาพเดี้ยงหรือตายซากข ณะที่มุ่งไปพัฒนาดินแดนภาคใต้ติดกับเซินเจิ้น รวมทั้งพื้นที่ฝั่งเกาลูนตอนเหนือ
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงซึ่งยังมีจำนวนหลายแสนคน เริ่มถูกมองว่ากำลังก้าวเข้าสู่เขตอันตราย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าสถานกงสุลสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือให้ฮ่องกงได้รับการปลดปล่อยและมีบรรยากาศประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ในอเมริกา
การเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ เข้ามาบีบทบาทในฮ่องกงทำให้รัฐบาลจีนได้ตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ากลุ่มประเทศตะวันตกมีส่วนในการยุยงปลุกปั่นช่วยเหลือในการชุมนุมประท้วง แม้จะมีคำปฏิเสธจากสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ก็ตาม
. ที่มองแล้วดูบาดตาบาดใจและเหมือนเป็นหนามทิ่มแทงหัวอก ก็คือการที่ผู้ชุมนุมประท้วงโดยถือธงชาติอเมริกัน ร้องเพลงชาติอเมริกันในข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซง
นี่จึงเป็นเหมือนคำกล่าวที่ว่า “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” นั่นเอง
ก็น่าเห็นใจสำหรับคนฮ่องกงที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนานถึง 99 ปีสิ้นสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมปี 1997 ถือว่าเป็นช่วงเวลาสามชั่วอายุคนโดยประมาณ ไม่คุ้นกับบรรยากาศในประเทศจีน ซึ่งผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
ตอนนั้นคนฮ่องกงจึงคุ้นกับบรรยากาศการบริหารแบบอังกฤษ หรือประชาธิปไตยแบบตะวันตก คนฮ่องกงบางระดับไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนจีนแต่เป็นชาวฮ่องกง แม้จะมีเชื้อชาติเป็นคนจีนดังเช่นคนจีนในสิงคโปร์ และบนเกาะไต้หวันซึ่งก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวสิงคโปร์และชาวไต้หวัน แม้จะพูดภาษาแมนดารินหรือภาษาจีนกลางก็ตาม
สภาพที่เคยยอมรับได้ภายใต้ 1 ประเทศ 2 ระบบและฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษตั้งแต่อังกฤษไม่สามารถต่อสัญญาได้ยังไม่ทำให้คนฮ่องกงรุ่นใหม่ซึ่งเป็นแกนหลักของกลุ่มประท้วงทำใจยอมรับสภาพว่าวันหนึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองหนึ่งระบบเหมือนคนจีนบนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นจึงเกิดการชุมนุมประท้วง
จากแรงผลักดันไม่ให้ผู้บริหารผ่านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปขึ้นศาลที่จีน ก็เป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้ผู้บริหารฮ่องกงคือนางแคร์รี่ แลม ต้องลาออก และเรียกร้องให้ผู้บริหารฮ่องกงเป็นอิสระจากการสั่งการโดยปักกิ่ง
หลังจากการชุมนุมประท้วงมีเหตุรุนแรงปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ รวมถึงการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและกลุ่มที่ต่อต้าน ทำให้สถานการณ์ยืดเยื้ออยู่ในขั้นที่ต่างฝ่ายก็ถอยไม่ได้ บาดเจ็บถูกจับกุมคุมขัง
และในที่สุดผู้บริหารฮ่องกงก็ยอมถอนและยกเลิกกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน หลังจากที่แขวนไว้ แต่ข้อเรียกร้องที่ขยายออกไปอีก 4 ข้อนั้นยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริหารฮ่องกง
นั่นก็คือให้ตั้งกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง ให้เปลี่ยนข้อหาจากการก่อการจลาจลเป็นเพียงการชุมนุมประท้วง ให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกลุ่มคุมขังให้หมด และข้อสุดท้ายขอให้คนฮ่องกงมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกผู้บริหารฮ่องกงโดยปราศจากการควบคุมสั่งการโดยรัฐบาลปักกิ่ง
ทั้ง 4 ข้อยังคงเป็นเงื่อนไขหลักและยังไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาลฮ่องกง แต่ดูแล้วเงื่อนไขก็ดูจะไม่ยากเย็นเท่าไร ถ้ารัฐบาลจีนมองว่าไม่เป็นการเสียหน้าจนเกินไป แต่อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งโดยยอมทีละข้อ ขณะเดียวกันก็ทำใจให้ฮ่องกงยังมีปัญหายืดเยื้อต่อไปจนคนในฮ่องกงเองรับสภาพเสื่อมโทรมต่อไปไม่ได้
เมื่อย้อนไปดูข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงโอกาสที่ผู้นำทำเนียบขาวจะทำอย่างนั้นคงไม่เกิดขึ้นนอกจากออกคำเตือนให้คนอเมริกันระวังหรืองดเว้นการแวะเยือนฮ่องกงเท่านั้น แม้นักการเมืองอเมริกันอยากจะให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วงก็ตาม
ถ้าผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ กล้าจะทำอะไรเกินเลยเช่นการเข้าแทรกแซงก็จะถูกตอบโต้โดยรัฐบาลปักกิ่งแน่นอน ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาในภาคการค้าและการตั้งกำแพงภาษีซึ่งทำให้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศเริ่มมีปัญหา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมและยากต่อการฟื้นฟูเพราะต้องใช้เวลานานนั่นเอง
ดังนั้นโอกาสที่กลุ่มผู้ประท้วงจะชนะได้ทุกอย่างตามข้อเรียกร้องนั้นยังดูยากเย็นและคนฮ่องกงส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปคนฮ่องกงทั้งหมดนั่นแหละจะลำบาก ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ ความฝืดเคือง เพราะธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้าปลีกเริ่มเลิกจ้างพนักงาน หรือให้พักงานยาวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง
ดังนั้นประเด็นสำคัญก็คือฝ่ายใดจะอดทนได้นานกว่ากัน และคำตอบได้ไม่ยากนั่นคือรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วคงจะปล่อยให้คนฮ่องกงจัดการกันเองหรือรอให้ทางออกปรากฏขึ้นมาเองเช่นความเหนื่อยล้าของผู้ประท้วง หรือถ้าเกิดเหตุรุนแรง เจ้าหน้าที่ควบคุมไม่ได้ ต้องให้รัฐบาลจีนส่งกำลังมาเสริมเพื่อจัดการให้เด็ดขาด
เมื่อถึงจุดนั้น ยิ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเลวร้ายกว่าเดิมอย่างไร