xs
xsm
sm
md
lg

ข้ออ้างเรื่อง “นิติประเพณี” ทางวิบากของนาฬิกายืมเพื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ก่อนหน้านี้กรณีนาฬิกายืมเพื่อน 21 เรือนที่ตรวจพบมูลค่าเกือบสามลิบล้านบาทนั้น ป.ป.ช.มีมติ 5-3ให้คำร้องตกไปเพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่านาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งของนาฬิการาคาแพงที่นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ได้สะสมไว้ แม้ไม่ปรากฏเอกสารการซื้อขายว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน จึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าวว่านายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือน และได้ให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว ประกอบกับนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ได้ให้เพื่อนคนอื่นยืมใช้นาฬิการาคาแพงด้วย จึงรับฟังว่าเป็นการกระทำโดยปกติของนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ที่ช่วยดูแล กลุ่มเพื่อนเก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่สนิทสนมกัน รวมถึงเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย

ครั้งนั้นผมเคยเขียนบทความว่า เป็นคำวินิจฉัยที่แปลกมากนะครับ แน่นอนนายปัฐวาทนั้นตายไปแล้วจะไปสอบสวนปากคำหรือขอคำให้การที่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว แต่การอ้างมาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน ผมคิดว่าเป็นการอ้างที่กลับตาลปัตรนะครับ

เพราะจริงๆ แล้วผู้ยึดครองนาฬิกาที่ถูกร้องคือ พล.อ.ประวิตรนะครับ นาฬิกาไปอยู่ที่บ้านนายปัฐวาทตอนไหนครับ ตอนที่ พล.อ.ประวิตรแจ้งว่าส่งคืนหลังจากมีข่าวฉาวออกมานะครับ นั่นคือ หลังนายปัฐวาทตายไปแล้ว และการพิสูจน์เรื่องนี้คือ การพิสูจน์การถือครองนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรตอนที่มีคนพบว่าสวมใส่นาฬิกาแพงหลายเรือนนะครับ ดังนั้น ผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตนตามมาตรา 1369 ย่อมจะเป็น พล.อ.ประวิตร ณ เวลาที่ตรวจพบและต้องสงสัยว่าอาจจะเข้าข่ายกระทำผิด

ครั้งนั้นก็ว่ากันไปแบบถูลู่ถูกัง ครั้งนี้มาใหม่เมื่อมีผู้ร้องว่าทรัพย์สินที่พล.อ.ประวิตรอ้างว่ายืมเพื่อนมานั้นมีมูลค่าเกิน 3,000 บาท เมื่อไม่กี่วันก่อน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ และมีมติออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอยืนยันมติ และจะให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงต่อสังคม รวมถึงเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการลงมติกรณีนี้ ตัวเองขอถอนตัว ไม่ได้ร่วมลงมติด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องจากกรณีเดิม

รายงานข่าวแจ้งว่า คำวินิจฉัยคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก ให้ยกคำร้องกล่าวหาพล.อ.ประวิตร รับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทที่สืบเนื่องจากคดียืมนาฬิกาเพื่อน 21 เรือน โดย พล.ต.อ.วัชรพล และ สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ขอถอนตัว ไม่ร่วมลงมติในคดีดังกล่าวนั้น

ขณะที่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอธิบายถึงการพิจารณาเรื่องการยืมทรัพย์สิน ว่า มีการยืม 2 ลักษณะ คือ ยืมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นหนี้สิน และ ยืมในเชิงนิติประเพณี โดยในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ไม่มีการกำหนดให้แสดงรายการทรัพย์สินที่ยืมในเชิงนิติประเพณีดังกล่าวไว้ และเรื่องการยืมที่ถือเป็นนิติประเพณีนั้น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อน เคยวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเคยมีกรณีการยืมทรัพย์สินประเภทรถยนต์จำนวนมาก อาทิ กรณีนักการเมืองรายหนึ่งขับรถยี่ห้อเบนท์ลี่ย์ สีชมพู เข้าทำเนียบรัฐบาล จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่ามีการแจ้งทรัพย์สินดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ จนมีการตรวจสอบ แต่นักการเมืองรายดังกล่าว ก็ได้ชี้แจงว่ายืมมาจากเพื่อนที่อยู่ประเทศสิงคโปร์ และได้คืนไปแล้ว จึงไม่ถือว่าทรัพย์สินที่ต้องยื่นแสดงต่อ ป.ป.ช. ดังนั้นการวินิจฉัยเรื่องการยืมทรัพย์สินจึงยึดแนวคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ชุดก่อน

ผมก็สงสัยนะครับว่ามีประเทศไหนบ้างที่ถือการยืมทรัพย์สินมูลค่ารวมกันหลายสิบล้านบาทเป็น “นิติประเพณี”


นิติ เป็นคำนาม แปลว่า กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, อุบายอันดี, นีติ.


ประเพณี ก็เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งที่เชื่อถือ และยึดเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคมหนึ่ง ๆ จนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี

การยืมเงินเพื่อนฝูงคนรู้จักกันเล็กน้อยโดยไม่ทำสัญญาอาจเป็นนิติประเพณีอย่างที่อ้างครับ แต่การยืมโดยผู้ที่มีอำนาจรัฐให้คุณให้โทษกับบุคคลทั่วไปได้ในมูลค่าหลายสิบล้านบาทนั้นเป็น “นิติประเพณี”ได้อย่างไร

การที่นายสุรศักดิ์อ้างว่านักการเมืองยืมรถเพื่อนซึ่งหมายถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มาเปรียบเปรยนั้น ผมจำไม่ได้ว่าเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของป.ป.ช.ไหม ถ้าไม่เข้าสู่กระบวนการก็อย่างเอามาอ้างครับ กรณีที่ควรนำมาอ้างคือกรณีที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกสอบสวนว่าร่ำรวยผิดปกติ ภรรยาของปลัดสุพจน์มีรถใช้อยู่คันหนึ่ง แล้วพยายามต่อสู้ว่า เป็นรถของคนอื่นที่ให้ยืมมา แถมมีเอกสารทางราชการด้วยว่ารถเป็นชื่อของนายที่อ้างจริง แต่กรณีนั้น ป.ป.ช.ไม่เชื่อและศาลก็ไม่เชื่อ

แล้วจริงๆ ความเป็นไปได้ในการยืมรถหรือให้รถใช้นั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าการให้ยืมนาฬิกาใส่กันซึ่งแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมคิดว่าคงมีนักการเมืองจำนวนมากที่เพื่อนให้ยืมรถมาใช้ให้สมกับฐานะตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนผู้ให้ยืมอาจจะมีทั้งเพื่อนที่รักกันจริง และให้ยืมเพื่อหวังการอุปถัมภ์จากเพื่อนที่มีอำนาจ

ที่สำคัญคือ หลักเรื่อง “ประโยชน์อื่นใด” ของมาตรา 103 แห่งกฎหมาย ป.ป.ช.

มาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กําหนด

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่องการรับทรัพย์สินอื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 103 อธิบายว่า “ประโยชน์อื่นใด” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

เมื่อคู่มือแนวทางการทำงานของ ป.ป.ช.เขียนไว้ว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน การเอานาฬิกาหรูมาครอบครองมาใช้นั้นจะพ้นจากนิยามนี้ได้อย่างไร จะต่างกับรถที่คนอื่นถือทะเบียนแล้วภรรยาปลัดสุพจน์ยืมมาใช้อย่างไร

ถ้าจะชี้มูลว่าพล.อ.ประวิตรไม่มีความผิด เพราะ ป.ป.ช.หาหลักฐานมาไม่ได้ ป.ป.ช.ช่วยอธิบายด้วยนะครับว่า ไม่ขัดกับมาตรา 103 นี้อย่างไร

อย่าลืมว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการอุปถัมภ์จากสภา สนช.ที่ คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง มีกฎหมายลูกของ ป.ป.ช.ที่ร่างโดยสนช.เขียนบทเฉพาะกาลไว้ให้ดำรงต่อ เมื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่บอกว่าไม่ขัด

แต่เราต้องคิดนะครับว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ เขียนหลักไว้แล้ว ต่อมาไปร่างกฎหมายลูก กลับกำหนดคุณสมบัติที่ขัดกับกฎหมายแม่ได้ ก็คงต้องสอนนักเรียนกันใหม่

เพราะจำได้ว่าตอนที่ผมเรียนชั้นประถมปีที่ 3-4 เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ครูสอนว่า กฎหมายและบทบัญญัติใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ตอนนี้กลับเขียนกฎหมายลูกเพื่อยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเราก็คงต้องยอมรับ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ก็คิดว่ายังโชคดีนะครับว่า ที่เขาไม่อ้างว่า เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ตอบคำถามในสภาโดยมีนัยว่า ตัวเองไม่ได้เป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ที่อยู่เหนือทุกอำนาจในการตอบโต้กับฝ่ายค้าน

“ผมอธิบายไม่รู้กี่รอบแล้ว ข้าราชการการเมืองยกเว้น แต่การบริหารอำนาจ คสช. เหนือทุก 3 อำนาจอ่านกฎหมายเข้าใจไหม”พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในสภาวันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

แม้ว่าในทางรัฐศาสตร์ คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ (Sovereignty) หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ แต่อย่าลืมว่าผู้ใช้อำนาจสูงสุดนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้ “รัฐ”คนใช้อำนาจก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ไม่ใช่ล่องลอยมาจากอวกาศ

และไม่ได้หมายความว่า ผู้มีอำนาจสูงสุดจะไม่มีทางกระทำผิดกฎหมายนี่ครับ เพราะในประเทศไทยทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น ต้องถูกตรวจสอบได้ หน้าที่ที่มีอยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ก็เป็นเรื่องหนึ่งความรับผิดทางกฎหมายก็เป็นเรื่องหนึ่ง

อยากจะประชดว่าถ้าการเป็นรัฏฐาธิปัตย์แปลว่าอยู่เหนือทุกกฎเกณฑ์ของรัฐ แทนที่จะอ้างนิติประเพณีหรืออ้างกฎหมายแพ่งแบบกลับตาลปัตรก็อ้างเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดว่า พล.อ.ประวิตรเป็นรัฏฐาธิปัตย์เพราะร่วมกันยึดอำนาจมา

มีอำนาจรัฐก็ใช้ไปครับ แต่ไปถามประชาชนสิว่าเขาเชื่อเรื่องนาฬิกายืมเพื่อนอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น