คิหิสุข หรือความสุขของคฤหัสถ์หรือกามโภคีสุขหมายถึง ความสุขที่ปกติชนคนทั่วไปเราๆ ท่านๆ ต้องการมีอยู่ 4 ประการคือ
1. อัตถิสุข คือ ความสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ ซึ่งทำให้คนเกิดความภูมิใจว่าตนมีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
2. โภคสุข คือ สุขอันเกิดจากการใช้ทรัพย์ ซึ่งทำให้คนภูมิใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรมนั้น เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมไปถึงการใช้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมโดยรวม
3. อนณสุข คือ สุขอันเกิดจากการไม่มีหนี้ ซึ่งทำให้คนภูมิใจว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้ติดค้างใคร
4. อนวัชชสุข คือ สุขอันเกิดจากการเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติดี ซึ่งทำให้คนภูมิใจว่าตนไม่มีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหายใครๆ ก็ติเตียนไม่ได้
ถ้านำธรรม 4 ประการนี้มาเป็นตัวชี้วัดความสุขของคนไทยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีความสุขลดลง และมีความทุกข์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจ และทางสังคมดังต่อไปนี้
1. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนระดับกลาง และล่างของสังคมมีเงินออมน้อยลง และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรและในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน
2. อาชญากรรมประเภทลักเล็กขโมยน้อย อันมีสาเหตุมาจากความยากจน การตกเป็นทาสยาเสพติด และการพนันเพิ่มมากขึ้น
3. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมของรัฐบาลล้มเหลว ทั้งนี้อนุมานได้จากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
3.1 ช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันมากขึ้น จะเห็นได้ชัดเจนในขณะที่คนรวยใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย คนจนไม่มีแม้กระทั่งซื้อข้าวกิน มีหนี้สินล้นตัว และส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบที่กู้มากินมาใช้ และลงทุนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยเสียดอกเบี้ยรายวัน มีรายได้ไม่พอจ่ายดอก ถูกเจ้าหนี้ตามทวงขู่เข็ญ บังคับ บางรายถึงกับฆ่าตัวตายเพื่อหนีหนี้ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าว
3.2 นโยบายภายใต้ยี่ห้อประชารัฐ ประชานิยมที่มุ่งเน้นการลด แลก แจก แถม ในทำนองเดียวกับการส่งเสริมการขายสินค้าตัวใหม่ ไม่ได้ช่วยให้ความจนลดลงและหมดไป ดังที่รัฐมนตรีบางท่านเคยคุยโวไว้ และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุว่า เจตนาที่แท้จริงในการทำนโยบายในทำนองนี้มาใช้ ก็เพื่อมุ่งแสวงหาความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่จะมุ่งแก้ปัญหาความยากจน อันเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ ถ้ารัฐบาลต้องการจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมโดยมุ่งเน้นให้คนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น และความทุกข์ลดลง จะต้องแก้ให้ตรงประเด็น โดยการขจัดเหตุแห่งปัญหา เริ่มจากการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนมีรายได้จากการทำงาน และประกอบอาชีพเพียงพอต่อการดำรงชีพตามอัตภาพของแต่ละคน โดยไม่ต้องก่อหนี้และจะต้องส่งเสริมการออม โดยยึดหลักโภควิภาค 4 ตามแนวทางของพุทธ คือ แบ่งรายได้ทุกครั้งที่หามาได้โดยชอบธรรมออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน หรือเท่ากับส่วนละ 25% แล้วนำ 1 ส่วนหรือ 25% มาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงตนเอง และครอบครัว รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมเท่าที่จำเป็น นำ 50% มาเป็นทุนในการประกอบกิจการเพื่อให้เกิดรายได้ และนำ 25% สุดท้ายเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น เช่น จ่ายค่ารักษาในยามเจ็บป่วย เป็นต้น และเก็บไว้เป็นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้หรือต้องพึ่งก็ให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการคุ้มทุนโดยเร็ว
แต่การที่จะให้ประชาชนดำเนินชีวิตในทำนองนี้ได้ รัฐบาลเองต้องเป็นแบบอย่างในการใช้งบประมาณ โดยการบริหารรายได้อันเกิดจากการเก็บภาษีให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ทั้งนี้จะต้องป้องกันมิให้เกิดการทุจริต อันเป็นเหตุให้งบประมาณรั่วไหล โดยที่คนไทยโดยรวมไม่ได้ประโยชน์ แต่ต้องแบกรับภาระในการจ่ายภาษี