xs
xsm
sm
md
lg

ประกันราคาปาล์ม ดีกว่าเผาน้ำมันปาล์มทำไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

การประกันราคาสินค้าเกษตรคือ รัฐบาลกำหนดราคาสินค้าเกษตรขั้นต่ำ ที่เกษตรกรควรจะได้รับ เมื่อถึงเวลาที่ต้องการขาย หากราคาตลาด ต่ำกว่าราคาประกัน รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างให้ ถ้าราคาตลาดสูงกว่าราคาประกัน รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่าย

การประกันราคาสินค้าเกษตรจึงดีกว่า การจำนำ หรือการอุดหนุน ราคาที่จ่ายในจำนวนแน่นอน เพราะใช้เงินน้อยกว่า และรัฐไม่ต้องมีภาระในการเก็บสินค้าเกษตร เป็นการทำสัญญารับประกันโดยตรงระหว่างรัฐกับเกษตรกร ป้องกันการทุจริต จากระบบคนกลาง นายหน้าค้าโควตา เพราะเกษตรต้องมาขึ้นทะเบียน แจ้งจำนวนผลผลิต นอกจากนี้ ยังไม่เป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งทำให้เกิดการบิดเบือนราคา

นโยบายประกันราคาถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ ปี 2552 โดยประกันราคาข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง น่าเสียดายว่า ทำได้เพียง 2ปี ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลพรรคเพื่อไทย งัดนโยบายจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนมาแทน ซึ่งทำให้เกิดขบวนการทุจริตอย่างมโหฬาร สร้างความเสียหายเป็นเงินหลายแสนล้านบาท อย่างที่ทราบกัน

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ชูนโยบายประกันราคาพืชผลเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร และเมื่อได้ร่วมรัฐบาล ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญต่อ ชีวิตความเป็นอยุ่ ของประชาชนทั่วไป และเกษตรกร ก็ได้ผลักกดันนโยบายนี้ทันที

การประชุม คณะรัฐมนตรี วันอังคารที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาได้อนุมัติแผนการประกันราคาข้าว และปาล์มน้ำมัน เป็นมาตรการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในวงเงิน 34,873 ล้านบาท แบ่งเป็นประกันราคาข้าว 21,495 ล้านบาท และประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 21,495 ล้านบาท

นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกันราคาปาล์ม ซึ่งราคาตกต่ำมานาน โดยครั้งนี้ รับประกันในราคากิโลกรัมละ 4 บาท สำหรับผลปาล์มทะลาย คุณภาพน้ำมัน 18 % ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ถ้าราคาปาล์มที่โรงงานรับซื้อ สูงกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท รัฐบาลก็ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่าย แต่ถ้าราคาไม่ถึง 4 บาท ก็จ่ายแค่ส่วนต่าง

การประกันราคาปาล์มน้ำมัน เป็นมาตรการระยะสั้น มีอายุ 1 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตกรรายย่อย ก่อนหน้านี้ รัฐบาล คสช. ใช้วิธีเอาน้ำมันปาล์มดิบไปเผา ทำไฟฟ้า และไปผสมทำน้ำมันไบโอดีเซล บี 10 และ บี 20 เพื่อลดสต็อคน้ำมันปาล์ม โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานรับผิดชอบ

การนำน้ำมันปาล์มดิบ ไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ในอดีต พิสูจน์แล้วว่า ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะทมีต้นทุนที่แพง มีค่าใช้จ่ายในการปรับกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทั้งยังไม่ได้ทำให้ราคาปาลม์ทะลายเพิ่มขึ้นเลย การเผาน้ำมันปาล์มในยุคนี้ ที่กำหนดเป้าหมายไว้ 2 แสนตัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องขนน้ำมันปาล์มดิบจากภาคใต้ มาเผาที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี ทำให้ต้นทุนค่าขนส่ง เผาไปแล้ว 60,000 กว่าตัน ราคาผลปาล์มไม่เคยขึ้นไปเกินกิโลกรัมละ 3 บาทเลย เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า น้ำมันปาล์มดิบ ที่โรงงานสกัดนำมาขายให้ นั้น มาจากไหน รับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรหรือไม่ และซื้อในราคาเท่าไร

มาถึงกระทรวงพลังงานในยุคที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ยังต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบซึ่งสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย มาเผาเพื่อทำไฟฟ้า จนกว่าจะครบ 2 แสนตัน ควบคู่ไปกับการให้ ปตท รับซื้อ น้ำมันปาล์มดิบ 1 แสนลิตร ไปผสมทำ ไบโอดีเซล บี 20 โดยกดราคาขายให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลถึงลิตรละ 5 บาท ส่วนต่างราคานี้ ก็ต้องดึงเอาเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน

นโยบายประกันราคาปาล์ม แม้จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็เป็นนโยบายที่ดีกว่า การเอาน้ำมันปาล์มดิบไปเผาทำไฟฟ้า เพราะเกษตรกรได้ประโยชน์ เงินถึงมือโดยตรง ในขณะที่ การนำน้ำมันปาล์มดิบไปเผาทำไฟฟ้า และทำไบโอดีเซล คนที่ได้ประโยชน์คือ โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ที่ได้กำไร ในขณะที่ กฟผ. และกองทุนน้ำมันต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

นี่คือ ความแตกต่างอย่างชัดเจน ในเชิงนโยบาย ของทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์กับทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นชุดเดียวกับทีมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.


กำลังโหลดความคิดเห็น