xs
xsm
sm
md
lg

บี้รฟม.เร่งตั๋วร่วม"แมงมุม4.0"สุดอืด-ชงบอร์ดเคาะจ้าง“กรุงไทย”13ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"คมนาคม" บี้รฟม. หาข้อสรุป พัฒนาระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ ตั๋วร่วม"แมงมุม 4.0" เร่งชงบอร์ด 13 ก.ย.เคาะMOU จ้างตรง กรุงไทย ส่วนขสมก.ให้อัพเกรด ซอฟต์แวร์เครื่อง EDC รูดบัตรคนจน-แมงมุม

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ว่า ที่ประชุมมีมติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งรัดการดำเนินงานบัตรแมงมุมภายใต้มาตรฐานของ รฟม. ให้มีความชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งรฟม.รายงานว่าจะเสนอร่างความร่วมมือ (MOU) ในการให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)พัฒนาตั๋วร่วม เป็นระบบ 4.0 (ระบบเปิด) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ในวันที่ 13 ก.ย. เพื่อเร่งลงนามMOU ต่อไป

โดย รฟม.แจ้งแผนงานว่า จะใช้เวลาในการจัดจ้างธนาคารกรุงไทย 2 เดือน ,พัฒนาระบบ 9 เดือน ,ทดสอบระบบ 3 เดือน คาดว่าจะเสร็จไม่เกินปลายปี 2563 นอกจากนี้ ยังพบว่าการพัฒนาตั๋วร่วมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาทางเทคนิค ซึ่งผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ซึ่งทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะต้องไปดำเนินการปรับตามสัญญาจ้างด้วย

นอกจากนี้ ได้เร่งรัดให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประสานกับธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนา เครื่อง EDC (Electronic Data Capture) ซึ่งกรุงไทยมอบให้ ขสมก.ใช้ในการอ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้สามารถอ่านบัตรแมงมุมได้ด้วยในเครื่องเดียวกัน เพื่อความสะดวก

“คณะกรรมการตั๋วร่วมฯ จะประชุมติดตามความคืบหน้าทุกเดือนเพื่อให้สามารถเปิดใช้ระบบตั๋วร่วม บัตรแมงมุมในรถ ขสมก. และแอร์พอร์ตลิงก์ในปลายปีนี้ ส่วนรฟม.จะต้องพัฒนาระบบ เคลียริ่งเฮ้าส์ให้เสร็จในปลายปี63"

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กรณีที่ รฟม.จะให้ธนาคารกรุงไทย พัฒนา ระบบตั๋วร่วม EMV นั้นมีประเด็น เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบเช่น การทำสัญญาจ้างระหว่าง รฟม. และกรุงไทย ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่เปิดประมูลได้หรือไม่ หรือไม่ผ่านกระบวนการ จัดซื้อจัดจ้างได้หรือไม่ และเข้าข่ายร่วมทุนPPP หรือไม่ ซึ่งบอร์ด รฟม.ได้ให้หารือไปยังกรมบัญชี ซึ่งเบื้องต้น ระบุว่า รฟม.สามารถทำMOU กับกรุงไทยให้ดำเนินการได้ ในรูปแบบหน่วยงานรัฐด้วยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น