วัชชีอปริหานิยธรรม หรือธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม 7 ประการคือ
1. หมั่นประชุมกันเป็นมิตร
2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
3. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (ซึ่งขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม
4. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านเหล่านั้นเป็นสิ่งควรรับฟัง
5. บรรดากุลสตรี กุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยไม่ถูกข่มขืน หรือฉุดคร่าขืนใจ
6. เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถาน ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่างๆ) ของชาววัชชีทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้ธรรมิกพลีที่เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมไป
7. ให้ความคุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป โดยตั้งใจว่า ขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก
อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เจ้าวัชชีทั้งหลาย ผู้ปกครองรัฐโดยระบอบสามัคคีธรรม และรัฐคู่อริยอมรับว่า เมื่อชาววัชชียังปฏิบัติตามหลักธรรมนี้ จะเอาชนะด้วยการรบไม่ได้ นอกจากจะใช้การเกลี้ยกล่อม หรือยุยงให้แตกความสามัคคี
ธรรมทั้ง 7 ประการข้างต้นที่มีมาปรากฏในที่ทีฆนิกาย มหาวรรคพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 และในอังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่มที่ 23
โดยนัยแห่งธรรม 7 ประการนี้ จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้เน้นหลักการปกครองประเทศ ด้วยระบบสามัคคีธรรม โดยทรงอธิบายขยายความถึงองค์ประกอบของระบอบนี้ เริ่มตั้งแต่มีความพร้อมเพรียงกันประชุมและเลิกประชุม พร้อมกับทำงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต้องทำร่วมกัน รวมไปถึงกติกาในการอยู่ร่วมกันทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวของผู้คนในสังคมไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกแง่ทุกมุม
ดังนั้น ธรรมทั้ง 7 ประการนี้ สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดความมั่นคง และความไม่มั่นคงในทางการเมือง การปกครองของรัฐบาลผู้บริหารประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม 20 พรรค แต่ในขณะนี้เหลือเพียง 19 พรรค เนื่องจากพรรคไทยศรีวิไลย์ได้ถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ และ 19 พรรคที่ยังคงเหลือก็ใช่ว่าจะมีความสามัคคีกลมเกลียวกันนัก ทั้งนี้จะเห็นได้จากความขัดแย้งที่ปรากฏออกมาเป็นระยะๆ
จากการที่พรรคเล็กถอนตัว และข่าวความขัดแย้งที่ปรากฏออกมา บ่งชี้ชัดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม และที่ยิ่งกว่านี้ ผู้นำรัฐบาลเองได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองขัดต่อหลักอปริหานิยธรรมหลายประการ ซึ่งอนุมานจากข่าวที่ปรากฏดังต่อไปนี้
1. ไม่ยอมเข้าประชุมสภา เพื่อตอบกระทู้ของฝ่ายค้าน โดยอ้างติดภารกิจซึ่งขัดต่อหลักอปริหานิยธรรมข้อที่ 2 ที่ว่า พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
2. ในการแถลงนโยบายไม่มีการระบุถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ และในการถวายสัตย์ฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งขัดต่ออปริหานิยธรรมข้อที่ 3 ที่ว่า ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม และไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติไว้ตามหลักการเดิม)
แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศชัดเจนว่า จะรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เอง จึงเท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยอมรับโดยปริยายว่า เกิดความบกพร่อง และผิดพลาดขึ้นจริง
ส่วนว่าเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไรนั้น ถ้าจะให้อนุมานแนวทางแก้ไขโดยอาศัยตรรกะก็อนุมานได้ดังนี้
1. กราบบังคมทูลขออภัยโทษ และขอเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ ใหม่
2. กราบบังคมทูลขออภัยโทษ และขอลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสภาคัดเลือกนายกฯ ใหม่ โดยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับการเสนอชื่อและได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
3. กราบบังคมทูลขออภัยโทษ และขอลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อผู้ที่ควรจะได้รับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาขอถอนตัวพร้อมกับขอโทษประชาชนเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น
4. ไม่ต้องแก้ไขใดๆ ปล่อยให้กาลเวลาผ่านไป พร้อมกระบวนการทางการเมืองแล้วแต่ฝ่ายค้านจะดำเนินไป โดยเชื่อว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็จะชนะทางการเมืองตามกระบวนการทางสภา
ทั้ง 4 ประการนี้ ความน่าจะเป็นอยู่ที่ข้อ 3 เพราะเป็นทางเดียวที่ประชาชนยอมรับได้ และเป็นผลดีแก่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งในทางการเมือง และทางสังคม